TikTok Shop กับธุรกิจออนไลน์ในอินโดนีเซีย

tiktok shop
photo by BAY ISMOYO / AFP
คอลัมน์ : Pawoot.com 
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

การห้ามขายสินค้าผ่าน social media อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมราคาสินค้า และสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันสำหรับธุรกิจหน้าร้านค้า แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้ social media ในการโฆษณาและขายสินค้า ทั้งยังเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Joko Widodo แห่งประเทศอินโดนีเซียได้พูดถึงสินค้า online ที่กำลังจะทำลายสินค้า offline โดยเฉพาะในเรื่องของ “ราคา” เนื่องจากราคาสินค้า online มีราคาที่ถูกกว่าธุรกิจร้านค้าที่มีหน้าร้าน

ความทะเยอทะยานในการค้าปลีกบนแพลตฟอร์ม online อย่าง TikTok Shop ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในอินโดนีเซีย เนื่องจากรัฐบาลมองว่า “ผู้คนต่างคาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ แต่ไม่ควรมีการนำไปใช้ทำร้ายเศรษฐกิจแบบเดิม” ส่งผลให้ TikTok โดนแบนในประเทศอินโดนีเซีย และเพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ TikTok ประกาศว่าจะหยุดการค้าปลีก online ในประเทศอินโดนีเซีย

การปิด TikTok Shop อย่างกะทันหัน ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกี่ยวกับผลกระทบต่อธุรกิจ online และ e-Commerce ซึ่งมองแล้วก็อาจดูเป็นการลิดรอนจำกัดเสรีภาพของร้านค้าปลีก ในการมีส่วนร่วมในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การแบนการขายสินค้าบนช่องทาง TikTok ในประเทศอินโดนีเซีย ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย ถ้าหากเราหันกลับมามองดูในประเทศไทย ก็ต้องยอมรับว่ามีร้านค้าหลายร้านหันมาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันอย่างล้นหลาม เพราะนอกจากจะประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างได้มากกว่า แต่ถ้าหากมองในมุมของผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็มีโอกาสที่จะเปรียบเทียบในเรื่องของราคาและคุณภาพของสินค้าได้อย่างหลากหลาย แต่การจัดโปรโมชั่นที่ให้ลูกค้าเก็บโค้ดมาใช้เป็นส่วนลดได้ก็อาจทำให้ลูกค้าติดกับดักได้

คำถามคือ หากประเทศไทยมีการห้ามขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ บน social media บ้าง คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ และคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจออนไลน์ และ e-Commerce ในประเทศไทยอย่างไรกันบ้างครับ