เปิดพอร์ต “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กูรูอีคอมเมิร์ซ ถอดสูตรลงทุนสไตล์ครูไหวใจร้าย

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอีคอมเมิร์ซบ้านเรามาตั้งแต่ยุคบุกเบิก เป็น “สตาร์ตอัพ” รุ่นแรกก็น่าจะได้ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ “ตลาดดอตคอม” เว็บไซต์ขายของออนไลน์เว็บแรก ๆ ของไทย แม้ปัจจุบันจะขยับขยายการลงทุนไปมากมาย แต่ก็ยังคงเกาะเกี่ยวอยู่ในแวดวงไอทีเทคโนโลยี

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” หลากหลายแง่มุมทั้งที่เกี่ยวกับวงการอีคอมเมิร์ซ, การปลุกปั้นสตาร์ตอัพ รวมถึงธุรกิจใหม่ Creden.co ที่มีบริการสืบค้นข้อมูลธุรกิจเป็นจุดขายจุดแข็ง ซึ่งเขาตั้งนิกเนมแสบ ๆ คัน ๆ ตามสไตล์ว่า “แอปเสือก”

การปั้นธุรกิจสไตล์ “ภาวุธ”

“ภาวุธ” พูดถึงสไตล์การลงทุนของตนเองว่ามักเริ่มจากความชอบ และความถนัด ทั้งจะต้องเป็น “first mover” เพื่อครองความได้เปรียบในฐานะ “ผู้มาก่อน” ทำให้พอร์ตโฟลิโออัดแน่นไปด้วยธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ที่เชื่อมกันเป็นอีโคซิสเต็ม

“ผมจะลงทุนในธุรกิจที่เราเห็นแล้วอยากทำ หรือผู้ก่อตั้งเป็นคนที่มีพลัง มีไฟ พยายามลงทุนในธุรกิจที่ไม่เหมือนชาวบ้าน ผมเองถนัดเรื่องดิจิทัลจึงลงทุนด้านนี้ และพยายามสร้างระบบนิเวศ เช่น ให้บริษัทนี้ใช้บริการของบริษัทนั้น มองว่าถ้ามีการเชื่อมโยงกันจะมีมูลค่ามากกว่า สมมุติผมลงทุนบริษัท HR ก็ต้องต่อกับระบบบัญชี ก็เอา 2 บริษัทที่ทำเรื่องนี้มาทำงานร่วมกัน เป็นเหมือนการจูงมือให้ทุกคนโตไปพร้อมกัน”

“ภาวุธ” ยอมรับว่า แค่ความชอบหรือความถนัด ไม่ใช่ key success ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งในฐานะ “นักลงทุน” ที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพมากกว่า 44 แห่งบอกว่าสำหรับเขาการจะปั้นธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ต้องเข้าไปลงแรงลงมือทำด้วย เป็นสไตล์การลงทุนในแบบที่เขาเรียกว่า “ครูไหวใจร้าย” คือถือไม้เรียวเข้าไปกวดขันให้บริษัทนั้น ๆ โต และอยู่รอดในโลกธุรกิจได้

“10 กว่าปีที่ผมลงทุนในสตาร์ตอัพกว่า 44 บริษัท มี 2-3 บริษัทที่ไปต่อไม่ได้ หลายคนมองว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่ต้องบอกว่าผมเป็นคนประเภทที่ไม่ได้ลงเงินอย่างเดียว บางคนลงเงินเสร็จก็ปล่อยให้ไปทำกันเอง แต่ผมจะเข้าไปโค้ชให้เกิดด้วย คนทำสตาร์ตอัพจะเก่งเรื่องทำโปรดักต์ หรือบางคนเป็นโปรแกรมเมอร์จะเก่งเรื่องการวางระบบ แต่พอเป็นเรื่องการขาย หรือ branding กลับทำไม่เป็น เรื่องธุรกิจมีองค์ประกอบหลายอย่าง ผมทำมาเยอะเลยเข้าไปแนะนำ เข้าไปโค้ช มีเป้าหมายให้ เช่น ขอโตสัก 200% ได้ไหม ถ้าให้เงินอย่างเดียว เขาจะทำกันแบบเรื่อย ๆ แต่ถ้าไปช่วยกวดขัน จะโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

สถานการณ์สตาร์ตอัพ

ในฐานะนักปั้นมือทอง “ภาวุธ” มองสถานการณ์ธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศไทยว่ามีความบอบช้ำจากตลาดทุน และการสนับสนุนจากภาครัฐที่น้อยลง ส่งผลให้จำนวนสตาร์ตอัพลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมกับการเปลี่ยนแปลงของเมกะเทรนด์อย่าง “เว็บ 3.0” มาสู่เทคโนโลยี “AI” ทำให้แนวคิดของการก่อตั้งสตาร์ตอัพต่างจากในอดีตมาก

“ถ้ามองตามกลไกการสนับสนุนของภาครัฐก็ต้องบอกว่า มีการผลักดันและสนับสนุนน้อยลง แต่จริง ๆ ยังมีหน่วยงานอย่าง NIA หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และดีป้าหรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลยังคงให้เงินสนับสนุนและถ้ามองตาม agenda ระดับประเทศ มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เมื่อก่อนเว็บ 3.0 มาแรงมาก คนแห่ไปทำคริปโตกันหมด พอคริปโตเริ่มตกคนก็หันมาทำ AI ซึ่งมองในเชิงการนำไปใช้งานมากกว่า หรือถ้าเป็นเทรนด์สตาร์ตอัพที่มาแรง ตอนนี้เป็นเรื่อง ESG เพราะบริษัทเริ่มมีกำลังซื้อ และต้องการพัฒนาโซลูชั่นด้านความยั่งยืน เพื่อขยายขีดความสามารถในการส่งออกไปยังต่างประเทศ”

ผนึกกรุงศรีฟินโนเวต

เทียบสถานการณ์สตาร์ตอัพไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน “ภาวุธ” บอกว่า อุปสรรคที่ทำให้การลงทุนในสตาร์ตอัพไทยไม่หวือหวาเท่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมองตลาดในประเทศเป็นหลัก

“ผมไปงานประชุมเกี่ยวกับ FinTech ที่สิงคโปร์ ไม่มีสตาร์ตอัพจากไทยไปร่วมเลย ความโชคร้ายของเรา คือการเป็นประเทศขนาดกลาง ๆ มีประชากร 67 ล้านคน แถมใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก เลยติดกับดักความเป็นกลาง คิดแค่ว่าทำธุรกิจในประเทศก็พอแล้ว พอมองไปสิงคโปร์ หรือมาเลเซียจะเห็นว่า เขาคิดแต่จะนำธุรกิจออกนอกประเทศผมพยายามผลักดันให้สตาร์ตอัพไทยออกไปทำตลาดนอกประเทศ แต่ก็ยังมีความท้าทายหลาย ๆ อย่าง เช่น ภาษา และไมนด์เซตของคนทำธุรกิจ”

ถึงจะอย่างนั้น “เขา”ก็ยังมีเป้าหมายในการเฟ้นหาสตาร์ตอัพไทยรายใหม่ ๆ และครั้งนี้ไม่ได้เลือกเองลงทุนเอง แต่จะจัดตั้งกองทุนร่วมกับ “กรุงศรี ฟินโนเวต”เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุน คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในไตรมาส 3/2566 นี้

“ปกติผมจะลงทุนในรอบ seed รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่กองทุนที่ร่วมกับกรุงศรีฯเป็นกองใหญ่ มูลค่าหลายพันล้าน เน้นลงทุนในรอบ series A หรือสตาร์ตอัพตัวใหญ่ ๆ ปัญหาคือกองเขาไม่มีสตาร์ตอัพตัวเล็ก ซึ่งผมเข้าไปปั้นให้เขาหลายตัวเหมือนกัน เลยเกิดการชักชวนมาร่วมมือกัน ซึ่งจะทำให้ลงทุนได้มากขึ้น เป็นการลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีโอกาส take off หรืออยู่รอดได้มากกว่าด้วย”

ธุรกิจสะท้อนตัวตน

นอกจากนี้ “ภาวุธ” ยังกำลังปลุกปั้นธุรกิจใหม่ในบทบาทของผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครีเดน เอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการระบบยืนยันตัวตน,ระบบเซ็นเอกสารออนไลน์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจไทย (Creden Data)

จุดเริ่มต้นของ Creden Data มาจากความต้องการสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของคนในประเทศ แต่ติดข้อจำกัดของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) จึงหันมาโฟกัสที่การสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลบริษัทในไทยแทน ข้อมูลเหล่านี้มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่แยกกันอยู่คนละที่

“เราจึงเป็นแพลตฟอร์มที่แก้ปัญหาการเป็นไซโลของข้อมูล ด้วยการเปิดระบบ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ส่วน Creden eSign เกิดจากปัญหาการเซ็นเอกสารจำนวนมาก ต้องเผชิญในฐานะผู้บริหาร จึงพัฒนาระบบเซ็นเอกสารออนไลน์ขึ้นมา”

Creden Data เป็นฐานข้อมูลของบริษัทในประเทศไทยที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์คู่ค้า คู่แข่ง รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัทต่าง ๆ ของบุคคล โดยผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบข้อมูลได้หลากหลายหมวดหมู่ เช่น ผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท งบการเงิน การประมูลงานภาครัฐ ผู้ตรวจสอบบัญชี ผลประกอบการ เป็นต้น

สำหรับเขา Creden Data เปรียบเป็นอาวุธข้างกายในการทำธุรกิจ ใช้ตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่จะทำธุรกิจร่วมกันได้ ช่วยให้เห็นว่ากำลังทำงานกับใคร บริษัทแบบไหน และช่วยวางทิศทางการเดินเกมธุรกิจของตน

“ผมเป็นนักลงทุนในสตาร์ตอัพด้วย จึงใช้เครื่องมือตัวนี้ในการสอดส่องธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน บางครั้งเห็นบริษัทบนโฆษณาออนไลน์แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ ก็จะไปหาต่อว่าใครเป็นเจ้าของ ผลประกอบการเป็นอย่างไร ทำกำไรบ้างหรือเปล่า จากนั้นก็จะติดต่อไปที่เจ้าของธุรกิจเพื่อพูดคุยรายละเอียดเพิ่มเติม”

สถานการณ์อีคอมเมิร์ซไทย

ในฐานะกูรูอีคอมเมิร์ซ “ภาวุธ” บอกว่าตลาดอีคอมเมิร์ซปัจจุบันต้องมองเป็น 2 ส่วน คือ ตลาดตามแนวราบ (horizontal market) เป็นแพลตฟอร์มที่ขายสินค้าทุกประเภท และตลาดตามแนวดิ่ง (vertical market) หรือแพลตฟอร์มที่ขายสินค้าเฉพาะ ซึ่ง horizontal จะขายทุกอย่าง คงไม่มีใครสู้ช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) ได้แล้ว หรือถ้าสู้ก็จะลำบากมาก ต้องใช้เงินเยอะ

แต่ส่วนที่เป็น vertical ขายสินค้าเฉพาะกลุ่มยังมีโอกาสไปต่อได้ เช่น NocNoc แพลตฟอร์มขายสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง ของตกแต่งบ้าน