สินค้าจีนไหลบ่าทะลักเข้าไทย เผยอีคอมเมิร์ซอาวุธจีนส่งออกสินค้า ยึดทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ น้องใหม่ Temu งัดโมเดลส่งตรงจากโรงงานจีนถึงลูกค้าคนไทย “ภาวุธ” ชี้เงินไหลออก 100% ส่งผลเสียเศรษฐกิจไทย สรรพากรร่อนหนังสือถึง Temu ให้มาจด VAT รมช.พาณิชย์สั่งเกาะติดปัญหาก่อนออกมาตรการ “ไปรษณีย์ไทย” ชำแหละเส้นทางสินค้าจีนต่อท่อเข้าไทย ดอดตั้งโกดังรอบกรุงเทพฯ พร้อมจัดส่งสินค้าแบบด่วน “เอสเอ็มอี” หนุนใช้กฎหมายดูแล
“สินค้าจีน” ทะลักสะเทือนไทย
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ และผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง TARAD.com กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีหลัง ๆ มานี้เห็นสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ทั้งที่คุณภาพดีและที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีคนมาทำหน้าร้านออฟไลน์ ทำโกดัง และขนส่งให้แบบครบวงจร
ขณะที่รัฐบาลจีนก็สนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตเพื่อการส่งออก มีการผลิตสินค้าออกมาจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำโดยมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นอาวุธสำคัญในช่องทางการขายสินค้า
“ปัญหาคือที่ผ่านมา การปกป้องผู้ประกอบการไทยไม่มีเลย แถมปล่อยปละให้สินค้าไม่ดีทะลักเข้ามาในประเทศ สินค้าที่มีปัญหาจริง ๆ คือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น อุปกรณ์การแพทย์ บางอย่างเคยราคาเป็นล้าน แต่ขายบนแพลตฟอร์มแค่สามหมื่น พวกนี้ต้องมีใบอนุญาต อย. หากไปดูการร้องเรียนระหว่าง อย. หรือ มอก. กับแพลตฟอร์ม จะพบว่ามีเป็นร้อยเคส แต่ทำอะไรไม่ได้”
ส่งตรงโรงงานจีน-เงินไหลออก
นายภาวุธกล่าวว่า เมื่อสินค้าจีนทะลัก สุดท้ายผู้ผลิตสินค้าไทยก็แข่งขันราคาไม่ได้ ก็ต้องปิดโรงงาน แล้วหันมาซื้อของจีนราคาถูกมาขายต่อง่ายกว่า จึงส่งผลกับการผลิตของประเทศ
โดยเฉพาะเมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Temu เข้ามาในประเทศไทย ได้สร้างความน่ากังวลหลายอย่าง อย่างแรก สินค้าที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มเป็นสินค้าจีนเกือบทั้งหมด และเป็นโมเดลขายตรงจากโรงงานในจีนสู่ผู้บริโภค (Manufacturer to Consumer) เวลาคนไทยซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม เงินไหลออกนอกประเทศ 100% ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
อีกทั้งแพลตฟอร์มยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บังคับใช้กฎหมายในไทย ทำให้ไม่สามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศผ่านการจัดเก็บภาษีได้เลย อย่างที่สอง Temu มีการแชร์ดาต้าของผู้ซื้อให้กับโรงงานผลิตสินค้าในจีน ทำให้ผู้ผลิตชาวจีนสามารถเข้าใจความชอบหรือพฤติกรรมของคนไทยมากขึ้น และผลิตสินค้ามาตีตลาดในไทยได้ง่าย ผู้ประกอบการไทยจะยิ่งแข่งขันลำบากขึ้น
“อย่าง Shopee และ Lazada ยังมีพื้นที่ให้ร้านค้าไทยได้ขายสินค้าของตนเอง แต่ Temu ไม่มีเลย หรือถ้าผู้ประกอบการไทยเอาสินค้าขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มได้จะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในจีนที่ขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่ามากได้หรือเปล่า”
ปณท ชำแหละเส้นทางสินค้าจีน
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ความท้าทายจากสินค้าจีนที่ล้นทะลักเข้ามาในประเทศ เกิดขึ้นเพราะการขนส่งทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ที่สนองต่อการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ หลายปีมานี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างชาติเริ่มเปิดระบบขนส่งโลจิสติกส์ภายในประเทศปลายทางเอง พร้อมตั้งจุดรับสินค้าในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณการสั่งซื้อและจัดส่งหนาแน่น
“ปัญหาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือมีตัวแทนจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวบรวมสินค้าลอตใหญ่จากจีน ส่งผ่านพิธีศุลกากรมาอยู่ในโกดังรอบ ๆ กทม. เราเรียกว่า Consolidator เมื่อมีการสั่งซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มจะวิ่งไปเอาสินค้าจากคลังใกล้ ๆ มากระจาย โดยใช้ขนส่งของตัวเองหรือพันธมิตร ซึ่งผู้ให้บริการจัดส่งตอนนี้ล้วนเป็นบริษัทสัญชาติจีน ตอนนี้เหลือแค่ ปณท เท่านั้นที่เป็นของไทย”
ดร.ดนันท์กล่าวว่า ก็เห็นภาพว่า จีนครอบครองระบบการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แม้ตอนนี้ส่วนที่เป็นการจัดส่งภายในประเทศจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น TikTok, Shopee, Lazada นั้น ปณท จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในการกระจายสินค้าได้แล้ว แต่การมี Consolidator จำนวนมากที่อาจจะละเลยกฎระเบียบ ดึงเอาปริมาณสินค้าไปอยู่ในเส้นทางที่ตรวจสอบได้ยาก
หวั่นทะลักเส้นทางขนส่งสีเทา
ความท้าทายที่สอง คือ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้า ส่งผลโดยตรงกับปริมาณการจัดส่ง อย่างเช่น ประเทศในยุโรป มีการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีน ทำให้ปริมาณพัสดุลดลง โดยจะหนีความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ ไหลไปที่ Grey Route หรือเส้นทางขนส่งที่ไม่ถูกต้อง ก่อนมารวมที่ Consolidator อีกทีหนึ่ง
ดร.ดนันท์กล่าวว่า อย่างในประเทศไทย ก็ต้องจับตาปริมาณสินค้าที่จะไหลออกไป เพราะการปรับกฎหมายนำเข้าสินค้า เช่น ล่าสุดมีการจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ผู้จัดส่งอย่างไปรษณีย์ไทย ก็ต้องวางระบบการทำงานใหม่ให้สอดคล้อง
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ รับสินค้า จะจัดเก็บภาษีที่ขั้นตอนไหน ส่วนนี้ต้องร่วมกับกรมศุลกากร และสรรพากร รวมถึงต้องดีลกับพาร์ตเนอร์ผู้ประกอบการด้วย ระหว่างนี้จึงต้องคอยเก็บข้อมูลว่าจะมีสินค้าที่ต้องขนส่งระหว่างประเทศหลุดไปเกรย์ รูต มากน้อยแค่ไหน
“ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้สินค้าที่ส่งในเส้นทางที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ เรื่องนี้ท้าทายมาก”
สรรพากรร่อนหนังสือ Temu
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมสรรพากรได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัท Temu เพื่อให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VES) แล้ว
โดยการจัดเก็บภาษี VAT นั้น ทางแพลตฟอร์มจะเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ แล้วนำส่งให้กับกรมสรรพากร ซึ่งเก็บจากค่าบริการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่แพลตฟอร์มได้รับค่าคอมมิชชั่นจากร้านค้า ส่วนการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยหากไม่มีการประกอบการในประเทศ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนก็ได้
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รับทราบปัญหาการทะลักของสินค้าจีน ซึ่งอาจจะกระทบต่อธุรกิจ SMEs ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกาะติดสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและรายงานให้ทราบ ก่อนที่จะมีมาตรการออกมา
แกะรอยจุดแข็งของ Temu
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ บริษัทแม่คือ Pinduoduo ผู้ให้บริการออนไลน์รายใหญ่ในจีน จุดเด่นคือการรวมคำสั่งซื้อเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้สินค้าราคาถูกลงผ่านการดีลตรงกับโรงงาน
ทั้งนี้ Pinduoduo ส่ง Temu ไปบุกตลาดต่างประเทศด้วยสโลแกน “Shop Like a Billionaire” หรือช็อปปิ้งเหมือนเศรษฐี เพราะสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มมีราคาถูกมาก เช่น หูฟังไร้สายราคา 180 บาท สมาร์ทวอตช์ราคา 350 บาท โดยเริ่มให้บริการในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2565 ปัจจุบันให้บริการในเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก
ปี 2566 ที่ผ่านมา Temu เริ่มบุกตลาดในภูมิภาคอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เน้นทำการตลาดโดยใช้โปรโมชั่นที่น่าสนใจ และการจัดส่งที่รวดเร็ว เนื่องจากมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี ทำให้สามารถสร้างฐานผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ใช้บุกตลาดไทย โดยมีการนำเสนอส่วนลดสูงสุด 90% จัดส่งฟรี การันตีสินค้าถึงมือผู้ซื้อประมาณ 1 สัปดาห์ และคืนสินค้าได้ฟรีภายใน 90 วัน
จากรายงาน “Ecommerce in Southeast Asia 2024” ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2566 มูลค่าอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.76 แสนล้านบาท) เติบโตจากปีก่อน 34.1% ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย โดยในปี 2566 ช้อปปี้ (Shopee) ครองส่วนแบ่งตลาด 49% ลาซาด้า (Lazada) 30% และ TikTok Shop 21%
จีนปูพรมคลังสินค้า 2,500 แห่ง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า “อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ของจีน ท่ามกลางภาวะที่การบริโภคภายในประเทศของจีนอ่อนแอ เศรษฐกิจจีนจึงต้องหวังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนเติบโตขึ้นมากกว่า 10 เท่า
โดยสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 จีนมีบริษัทด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนมากกว่า 120,000 บริษัท มีนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกว่า 1,000 แห่ง และมีคลังสินค้าในต่างประเทศกว่า 2,500 แห่งทั่วโลก พื้นที่รวมกว่า 30 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ จีนมีเครื่องบินขนส่งสินค้า 255 ลำ ณ สิ้นปี 2566
“อีคอมเมิร์ซ” อาวุธสำคัญส่งออก
รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมภาคการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งความคาดหวังและความพยายามของทางการจีนกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนนั้นสะท้อนให้เห็นในการดำเนินการหลาย ๆ อย่าง เพื่อพัฒนาการค้าอีคอมเมิร์ซ โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จีนเผยแพร่ “สมุดปกฟ้า” หรือรายงานว่าด้วยการพัฒนาในต่างประเทศสำหรับบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ที่ระบุว่า การพัฒนาตลาดเกิดใหม่จะเป็นจุดเน้นของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน โดยภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา จะเป็นขั้วการเจริญเติบโตใหม่
อีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะขยายการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน คือ ส่งเสริมการสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศ โดย “เหอ ย่าตง” (He Yadong) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีน กล่าวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ว่า จีนเตรียมส่งเสริมการก่อสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศและขยายการส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของจีน
เอสเอ็มอีหนุนใช้ กม.กำกับดูแล
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานเอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า Temu เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ผลิตประเทศจีนส่งสินค้าตรงจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภค ทำให้การเข้าถึงสินค้าได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว มีราคาถูกจากการตัดห่วงโซ่ทางซัพพลายเชนในรูปแบบเดิมออก และปริมาณการผลิตที่มีจุดคุ้มทุนดีกว่า ถือเป็นการเข้ามาแข่งขันกับรายใหญ่ทั้ง Shopee และ Lazada เพื่อส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น
“ภาครัฐต้องปรับให้ความคุ้มครองผู้ประกอบการฐานรากไทย ด้วยการเจรจากับแพลตฟอร์มเพื่อขอให้เชื่อมโยงเอกชนไทย สามารถเข้าไปวางสินค้าในแพลตฟอร์มได้ เพราะจากข้อมูลพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาท สัดส่วนราว 61% (ปี 2564) ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี”
ขณะเดียวกันควรบังคับใช้กฎหมายและภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซกับแพลตฟอร์มต่างชาติ การขึ้นทะเบียนแพลตฟอร์ม ภาษีนิติบุคคล/บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างชาติ การเจรจาให้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานไทยเข้าไปมีสิทธิประโยชน์ในการเชื่อมการค้ากับแพลตฟอร์มต่างชาติร่วมด้วย
ผู้ประกอบการปรับตัว
ด้านนายธวัช มานะวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท สเต็ป ฟอร์เวิร์ด กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า แบรนด์สมาร์ทโฮม กล่าวว่า การเข้ามาของ Temu นั้น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคไทยให้น้ำหนักกับความปลอดภัย และบริการหลังการขาย ไปจนถึงเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการมองเพียงปัจจัยราคา
ขณะเดียวกันเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำหน่ายในไทยต้องผ่านมาตรฐาน มอก. และมาตรฐานปลั๊กไฟด้วย ทำให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ ของใช้ในบ้านและสินค้าสิ้นเปลือง น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านอีโคโนมีออฟสเกล ทำให้จีนสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ราคาขายจึงต่ำตามไปด้วย