
ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาคดี Zipmex-เอกลาภ ยิ้มวิไล ฐานฉ้อโกงประชาชน ยอดเสียหายกว่าพันล้านบาท สั่งปรับซิปเม็กซ์ 1 แสนบาท สั่ง “เอกลาภ” ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตกรรมการ ซีอีโอบริษัท จำคุก 5 ปี
นายกิจจา จงขวัญยืน ตัวแทนผู้เสียหายกลุ่ม ‘ร่วมสู้ Zipmex’ เปิดเผยว่า ได้ส่งทีมกฎหมายเข้าสังเกตการณ์ฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีที่มีผู้เสียหายรายหนึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 คือ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลยอดนิยม และจำเลยที่ 2 คือนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ซึ่งเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ
“ปัจจุบันมีผู้เสียหายรวมตัวกันแล้วกว่า 700 ราย มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และทางกลุ่มได้ร่วมมือกันยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม (Consumer Class Action) โดยฟ้องจำเลย 23 ราย ทั้งในไทยและนอกประเทศ เพื่อเรียกค่าเสียหายเพื่อการลงโทษรวมไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท”
ด้านนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมาย VLA ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตัวแทนกลุ่มร่วมสู้ Zipmex ที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่มเปิดเผยด้วยว่า คดีนี้มีประชาชนเสียหายเป็นหมื่นราย แต่เรื่องผ่านมาเกือบสามปีกลับต้องให้ประชาชนไปแบกภาระฟ้องคดีอาญาเองจนชนะคดีในที่สุด แต่ก็เป็นผลคดีเฉพาะราย
จึงขอให้ภาครัฐโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งดำเนินคดีอาญาแผ่นดินเอาผิดผู้เกี่ยวข้องซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่สองราย
“เรามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศร่วมมือกันหลอกลวงประชาชนให้หลงเข้าใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าซิปเม็กซ์ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย และไม่มีการนำไปใช้ในทางที่เสี่ยง แต่แท้จริงกลับนำสินทรัพย์ของผู้เสียหายไปใช้ในการกู้ยืมเงินในต่างประเทศโดยผิดกฎหมายเพื่อหวังกอบโกยประโยชน์ทางธุรกิจของพวกพ้อง จนลูกค้ากว่าหมื่นรายเสียหายร้ายแรง ผู้เกี่ยวข้องรายใดที่สำนึกผิด ขอให้รีบแสดงความจริงใจช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้เร็วที่สุด” นายวีรพัฒน์กล่าว
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พิพากษาลงโทษปรับบริษัท ซิปเม็กซ์ฯ เป็นเงิน 100,000 บาท
และลงโทษจำคุกนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นเวลา 5 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง โดยการอ่านคำพิพากษาคดีนี้ไม่ปรากฏการรอลงอาญาและจำเลยอาจอยู่ในช่วงการใช้สิทธิประกันตัว
มติชน รายงานว่า ภายหลัง นายเอกลาภ จำเลยที่ 2 ยื่นขอประกันตนเองในชั้นอุทธรณ์คดี โดยเสนอหลักประกันเดิมชั้นพิจารณา จำนวน 10,000,000 บาท และขอวางหลักประกันเพิ่มอีกในวันนี้ จำนวน 5,000,000 บาท รวมหลักประกันยื่นขอปล่อยชั่วคราวชั้นอุทธรณ์คดี จำนวน 15,000,000 บาท โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา
ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว นายเอกลาภ ยิ้มวิไล จำเลยไปคุมขังในเรือนจำระหว่างรอคำสั่งประกันของศาลอุทธรณ์ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 1-3 วัน