
การสกัดกั้นมิจฉาชีพ สแกมเมอร์ตั้งแต่ต้นทางเป็นหมุดหมายสำคัญนับแต่วันแรกที่ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ด้วยการคัดกรองแยกหมายเลขโทรศัพท์ “เบอร์ดี” และ “เบอร์เลว” ออกจากกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากหลายภาคส่วนไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าสถาบันการเงิน ค่ายมือถือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดจนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ในที่สุดฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ก็ได้รับการคัดแยก และเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ล่าสุดคิดการใหญ่ โดยการสร้างแพลตฟอร์มแจ้งเตือน บล็อกเบอร์ และแจ้งความการถูกหลอกลวงทางโทรศัพท์มือถือเบ็ดเสร็จในช่องทางเดียว ที่เรียกว่า DE-fence platform หรือแพลตฟอร์มกันลวง
ฝังแอป DE-fence ในมือถือ
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี” ระบุว่า DE-fence platform จะช่วยป้องกันการโทร.หลอกลวง และ SMS หลอกลวง ทำหน้าที่คัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น (SMS) โดยมีส่วนสำคัญที่ต่างไปจากแพลตฟอร์มของเอกชน คือมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานสำคัญ ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS รวมถึงยังเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของผู้ประกอบการโทรคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ศูนย์ AOC 1441 และดีอี
“เมื่อมีการรายงานว่า เบอร์ดังกล่าวเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพ จะมีการนำไปเทียบรวมข้อมูลใน ถังกลาง เมื่อมีการยืนยันจาก ปปง. จากนั้นค่ายมือถือจะยืนยันเพื่อบล็อก หรือลบออกจากระบบ”
โดยแอปดังกล่าวจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างครอบคลุม จบที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นการระบุว่า ผู้โทร.เข้าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่, แจ้งระดับความเสี่ยงของเบอร์โทร., ตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS รวมถึงเป็นช่องทางแจ้งความออนไลน์ แจ้งอายัดบัญชีคนร้ายผ่าน AOC 1441 และยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับตำรวจ
และคาดว่าจะพัฒนาเสร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2568 จากนั้นจึงจะมีการทดสอบในวงแคบ 1 เดือน ก่อนให้ประชาชนดาวน์โหลดต่อไป
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปเจรจากับผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการมือถือ ทั้งฝั่งแอนดรอยด์ และไอโอเอส รวมถึง กสทช. เพื่อให้โทรศัพท์มือถือที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ต้องทำการ Preinstall แอปดังกล่าวฝังมาด้วย
สดช.ย้ำหน้าที่ปกป้อง ปชช.
“เวทางค์ พ่วงทรัพย์” เลขาธิการ สดช. อธิบายเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ เพื่อสกัดกั้นอาชญากรรมออนไลน์ เป็น “หน้าที่” และเป็นสิ่งที่หน่วยงานทั้ง สดช. และกระทรวงดีอี “ต้องทำ” เชื่อว่าจะไม่ได้กระทบกับใคร เพราะการเลือกใช้แพลตฟอร์มขึ้นอยู่กับประชาชน ขณะที่ภาคเอกชนก็คงมีบริการพิเศษอื่น ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าอยู่แล้ว
“เมื่อการเชื่อมโยงฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว จึงควรทำแพลตฟอร์มเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ ซึ่ง สดช. ตามกฎหมายให้อำนาจเป็นผู้ควบคุม ถังกลาง ข้อมูลเหล่านี้ จึงได้ใช้งบประมาณราว 30-40 ล้านบาท สร้างแพลตฟอร์ม DE-fence ขึ้น คาดว่าจะเริ่มทดสอบในช่วงครึ่งแรกของปีนี้”
“เวทางค์” กล่าวด้วยว่า ฐานข้อมูลของแพลตฟอร์มกันลวง เอกชนหลายรายใช้กระบวนการรวบรวมข้อมูลมหาศาลจากมวลชน บางครั้งมีการแจ้งเตือนว่าเป็นมิจฉาชีพ แต่อาจไม่ได้ยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้จะช่วยป้องกันได้ แต่การที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเป็น “ถังกลาง” จะทำให้ค่ายมือถือเข้ามายืนยัน และ “ยิงเบอร์” เหล่านั้นลงได้
คัดกรองเบอร์ 3 กลุ่ม
สำหรับจุดเด่นของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด จะใช้หลักการในการแบ่งสาย โทร.เข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสี คือ
1) Blacklist (สีดำ) เป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือปิดกั้นแบบอัตโนมัติ
2) Greylist (สีเทา) เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือติดต่อจากอินเทอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสาย โทร.เข้า หรือ SMS ดังกล่าว
3) Whitelist (สีขาว) เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือหมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ Platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือยินยอมรับข้อความ
ระบบดังกล่าวทำงานแบบ Real Time เพื่อเป็นข้อมูลให้กับตำรวจ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการวิเคราะห์และวางแผนในการปราบปรามและป้องกันการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์ โทร.และ SMS ก่อน โดยเฉพาะ Whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ ก่อนที่ในระยะต่อไปจะขยาย Whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย
เขย่าตลาดแอปแจ้งเตือน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนและสกัดกั้นการ โทร.เข้ามาหลอกลวงผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถืออยู่บ้างแล้ว ที่รู้จักกันดีก็ เช่น Whoscall แอปพลิเคชั่นของบริษัท Gogolook สตาร์ตอัพจากไต้หวัน ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012
ก่อนหน้านี้ “แมนวู จู” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ในประเทศไทยสามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้ง เพราะมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
และว่าการหลอกลวงที่เติบโตมากที่สุดเป็นการใช้ SMS แนบลิงก์ มีจำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 ในส่วนของจำนวนการ โทร.หลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 โดย Whoscall ปกป้องผู้ใช้จากการถูกหลอกลวงผ่านการ โทร.และข้อความ SMS ได้ถึง 460,000 ครั้งใน 1 วัน