เปิดท่าที “ค่ายมือถือ” หลังคลอด “ม.44” ปูทางสู่ 5G

ทั้งผลักดันทั้งเรียกร้องกันมาตั้งแต่ปลายปี 2560 สำหรับการให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ผ่อนผันการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ของค่ายมือถืองวดสุดท้ายซึ่งจะเป็นก้อนใหญ่สุด

โดยเฉพาะ “เอไอเอส-ทรู” ที่ครบกำหนดจ่ายในเดือน มี.ค. 2563 “เอไอเอส” 59,574 ล้านบาท “ทรู” 60,218 ล้านบาท  ส่วน “ดีแทค” ครบกำหนดงวดสุดท้ายในปี 2565 เป็นเงิน 30,024 ล้านบาท จนในที่สุดเมื่อ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็มีคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

และเมื่อ 17 เม.ย. 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญผู้ประกอบการทั้งฝั่งช่องทีวีดิจิทัลและค่ายมือถือ เข้ามาชี้แจงรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือ  โดยเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ย้ำว่า 10 พ.ค. 2562 คือวันสุดท้ายที่หนังสือแสดงความจำนงค์ของใช้สิทธิ์ตามคำสั่ง คสช. ที่เปิดทางให้ “ช่องทีวีดิจิทัล” ที่ต้องการขอคืนช่อง และ “ค่ายมือถือ” ที่ต้องการขอยืดเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ออกเป็น 10 งวด(10ปี) ต้องมาถึงสำนักงาน กสทช. ให้เรียบร้อย

แต่ในขณะเดียวกันเลขาธิการ กสทช. ก็ยอมรับว่า หลักเกณฑ์เงื่อนไขรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่สำนักงาน กสทช. ต้องกำหนดขึ้นตามที่ คำสั่ง คสช.ระบุไว้ คงประกาศออกมาไม่ทันวันที่ 10 พ.ค. ฉะนั้นจึง “อยากให้ทุกรายยื่นขอใช้สิทธิ์มาก่อน เพราะขอยกเลิกภายหลังได้ ถ้าไม่พอใจเกณฑ์เยียวยาที่จะออกมาช่วงปลายเดือน พ.ค.”

ประเด็นที่ต้องจับตาคือ การจัดสรรคลื่น 700 MHz ที่ถูกระบุว่าเพื่อเตรียมการประเทศไทยไปสู่ 5G ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. ได้เรียกคืนคลื่นมาจากช่องทีวีดิจิทัล นำมาจัดสรรใหม่ให้ค่ายมือถือแทน

โดยฝั่งช่องทีวีดิจิทัลจะได้เงินเยียวยาทั้งการไม่ต้องจ่ายเงินประมูลช่องทีวีส่วนที่เหลือราว 13,622 ล้านบาท และค่าเช่าโครงข่าย (MUX)สำหรับออกอากาศไปจนสิ้นสุดใบอนุญาต (9 ปี 6 เดือน) รวมเป็นเงินอีก 18,775 ล้านบาท ขณะที่ในฝั่งค่ายมือถือเอง “การเข้าประมูลคลื่น 700MHz” ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะได้สิทธิ์ยืดเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900MHz ก้อนโต

ดังนั้น “การจัดสรรคลื่น 700 MHz” ให้สำเร็จจึงเป็นหัวใจหลักของทุกสิ่ง ตามคำสั่ง คสช. นี้ โดยเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า จะมีการจัดสรร 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ซึ่งได้ตีมูลค่าคลื่นเบื้องต้นไว้ไม่ต่ำกว่า 25,000 – 27,000 ล้านบาท และแม้ กสทช. จะจัดสรรใหม่ราว มิ.ย. นี้ แต่ค่ายมือถือจะจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดแรก ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มใช้งานคลื่นได้

สรุปการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562

แต่แผนของสำนักงาน กสทช. ที่วางไว้ อาจไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อในเวทีชี้แจงเงื่อนไขเมื่อ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา  ตัวแทนจาก 3 ค่ายมือถือ “ยังแบ่งรับแบ่งสู้” เกี่ยวกับการเข้าประมูลคลื่น 700 MHz

“วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” รองกรรมการผู้อำนวยการ อาวุโส ส่วนงานปฏิบัติการ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า แม้ตามเงื่อนไขคำสั่ง คสช. ถ้าไม่เข้าประมูลคลื่น 700 MHz ก็จะไม่ได้ยืดเวลาจ่ายเงินประมูล 900MHz แต่เส้นตายของ กสทช. 10 พ.ค. นี้ ถือว่า “สั้นมากที่จะต้องตอบว่า เอไอเอสจะ Yes หรือ No ในการเข้าประมูลคลื่น 700 MHz ทั้งที่ยังไม่เห็นเงื่อนไขการประมูลใดๆ ด้วยซ้ำ”

แถมย้ำว่า แม้มูลค่าคลื่นที่ กสทช. จะเริ่มต้นประมูลมีแนวโน้มจะลดลงแต่ก็ยังแพงอยู่ และ 5Gกว่าจะเริ่มมีลูกค้าใช้งานก็น่าจะอีก 2 ปี เท่ากับว่า ต้องจ่ายค่าคลื่นไปฟรีๆ 2 ปีก่อนหรือไม่ จึงอยากเห็นรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ก่อน  เพราะการจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ประมูลขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดบริษัท

“ถ้าคลื่น 700 MHz ราคาสูง จะเข้าประมูลแค่ 5 MHz ได้หรือไม่”

ฟาก “ราจีฟ บาวา” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทครับทราบการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยสูงเกินไป ดีแทคจะหารือกับทาง กสทช. เพื่อความชัดเจนเพิ่มขึ้นจากคำสั่งฯ ในเรื่องมาตรการดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการต่อไป

ขณะที่ “เลิศรัตน์ รตะนานุกูล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ ดีแทค ย้ำว่า ดีแทคต้องการเห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับแผนจัดสรรคลื่นความถี่ในแต่ละย่าน ก่อนการจัดประมูล

“ดีแทค จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การจะเข้าประมูลหรือไม่ ต้องเข้าที่ประชุมบอร์ด ต้องแจ้งผู้ถือหุ้น รวมถึงวางแผนทางการเงิน การประมูลในเดือน มิ.ย. นี้น่าจะทำไม่ทัน”

ด้าน “อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข” รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น แม้จะกล่าวยินดีที่ภาครัฐเข้าใจปัญหา ผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่ต้องแบกภาระค่าคลื่นที่มีราคาสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวต่อประชากร ทำให้การลงทุนของทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกว่า 4 แสนล้านบาท ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน

แต่การตัดสินใจจะเข้าประมูลคลื่น 700 MHz หรือไม่นั้น ระบุเพียงว่า “หวังว่ารายละเอียดเกณฑ์ต่างๆ จะออกมาโดยเร็ว เพื่อเสนอให้บอร์ดบริษัทพิจารณา”

ดูทรงแล้วคงต้องลุ้นกันไปอีกยาวๆ ว่า ม.44 จะกรุยทางสู่ 5Gได้ตามแผนของสำนักงาน กสทช. หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ค่ายมือถือ-ช่องทีวีดิจิทัลเฮ! มาแล้ว “ม.44” ยืดเวลาจ่ายค่าคลื่น900MHz 10 งวด-เปิดทางคืนช่องทีวีดิจิทัล
ใครมีแวว “ไม่ไปต่อ” ส่อง“เรตติ้ง-รายได้”ทีวีดิจิทัล ก่อนเปิดใช้สิทธิ ม.44 “คืนช่อง”