เปิดเส้นทาง 5 ปี “ทีวีดิจิทัล” สะท้อนบทบาท “กลุ่มทุน-คสช.”

25 เม.ย. 2557 เป็นวันที่ 24 ช่องทีวีดิจิทัลได้ใบอนุญาตจาก “กสทช.” หลังประมูลแข่งกันดุเดือดจนราคาพุ่งกว่า 3 เท่า เพื่อเป็นเจ้าของช่องทีวี

ในรายงาน “5 ปี บนเส้นทางทีวีดิจิทัล บทเรียนและการเปลี่ยนแปลง” จัดทำโดยสำนักงาน กสทช. ได้ฉายภาพการเปลี่ยนจาก “ทีวีแอนะล็อก” ที่สร้างรายได้ปีละหลายพันล้านสู่ “ทีวีดิจิทัล” ที่มีผู้ประกอบการถึง 24 ราย

“กลุ่มทุน” ขยายอาณาจักร

5 ปีผ่านไป ภาพ “กลุ่มทุน” ที่ขยายอาณาจักรสู่ “ทีวีดิจิทัล” ยิ่งชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มทุนธุรกิจชั้นนำ” ระดับหมื่นล้านบาท ที่เข้ามาเป็น “เจ้าของสื่อ”

อย่างตระกูล “เจียรวนนท์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย เป็นเจ้าของช่อง “TNN” และ “True4U” โดยกระโดดเข้ามาตั้งแต่วันแรก เช่นกันกับ “โพธารามิก” เป็นเจ้าของช่อง MONO 29 และตระกูล “ชินวัตร” เป็นเจ้าของช่อง VOICE TV

ฝั่ง “ปราสาททองโอสถ” วันประมูลคว้าช่อง “PPTV” แต่ปี 2559 ได้ซื้อหุ้น 50% ในช่อง “ONE 31” จาก GMM Grammy

ขณะ “สิริวัฒนภักดี” แม้ไม่ได้เข้าประมูล แต่ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่ 2 ช่องทีวีดิจิทัล คือ “GMM 25” และ “AMARIN TV HD”

ฟากกลุ่มทุน บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น แม้ไม่ติดทำเนียบมหาเศรษฐี แต่ถือหุ้นในบริษัทเจ้าของทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่อง คือ สปริงนิวส์ 19, เนชั่นทีวี และสปริง 26 (ช่อง NOW เดิม)

“เจ้าพ่อสื่อ” ปักหลักมั่น

ส่วนตระกูลในวงการ “สื่อ” มานาน ยังปักหลักต่อ “รัตนรักษ์” เจ้าของ “ช่อง 7” ฟรีทีวีเก่าแก่ เปลี่ยนจากสัมปทานสู่ใบอนุญาต ในนาม “ช่อง 7 HD” ฝั่ง “มาลีนนท์” ผู้ก่อตั้งช่อง 3 เคาะประมูลถึง 3 ช่อง คือ ช่อง 3 HD, 3 SD และ 3 Family

ยักษ์ใหญ่วงการ “สื่อสิ่งพิมพ์” อย่าง “ไทยรัฐ” ของตระกูล “วัชรพล” ยังกระโดดมาเป็นเจ้าของช่อง “ไทยรัฐทีวี” เช่นเดียวกับตระกูล “เหตระกูล” แห่งเดลินิวส์ โดยแยกบทบาทการบริหารงานระหว่างกลุ่มผู้ดูแลสิ่งพิมพ์กับช่องทีวีดิจิทัล “NEW 18”

รวมไปถึง 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างตระกูล “ดำรงชัยธรรม” และ “เชษฐโชติศักดิ์” ต่างลงสนามทีวีดิจิทัลทั้งคู่ โดยรายหลังเป็นเจ้าของ “ช่อง 8” ซึ่งใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มรายได้ธุรกิจพาณิชย์จนกลายเป็นรายได้หลัก ฟาก “ดำรงชัยธรรม” ในช่วงแรกมีทั้ง GMM 25 และ ONE 31 ผ่านไป 3 ปีปรับแผนขายหุ้นใหญ่ให้กลุ่ม “สิริวัฒนภักดี” ในช่อง GMM 25 และ “ปราสาททองโอสถ” ในช่อง ONE 31 เพื่อหวนคืนสู่งานถนัดเดิมคือโปรดักชั่นป้อนคอนเทนต์ให้ทุกแพลตฟอร์ม

โฆษณาทีวีลด “ดับฝัน” รายใหม่

5 ปีก่อน “ทีวีดิจิทัล” เป็นความหวังใหม่ของผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่คิดจะโกยรายได้จากโฆษณาปีละหลายพันล้านบาทเหมือนก่อน แต่ความจริงคือมูลค่าตลาดโฆษณาทีวีมีทิศทางที่ลดลง

โดยข้อมูล Nielsen ระบุว่า ในปี 2556 มูลค่าตลาดโฆษณาทีวีในระบบแอนะล็อก ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี อยู่ที่ 71,399.81 ล้านบาท และ 96.99% อยู่กับ 5 ช่องฟรีทีวีเดิม โดย “ช่อง 3” และ “ช่อง 7” ยังครองสัดส่วนกว่า 60%

ปี 2557 ตลาดโฆษณาทีวีแอนะล็อกและดิจิทัลมีมูลค่า 73,042 ล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่ 78,343 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 67,545 ล้านบาท ปี 2560 อยู่ที่ 62,873 ล้านบาท

และปี 2561 มีมูลค่า 67,947.22 ล้านบาท โดยช่องทีวีหน้าใหม่แย่งเม็ดเงินมาได้ 43.29% ซึ่งช่องวาไรตี้ความคมชัดปกติ (SD) มีโฆษณาเติบโตมากสุด จาก 6.21% ในปี 2557 วันนี้อยู่ที่26.56% ซึ่งเวิร์คพอยท์ MONO 29 และช่อง 8 โตมากที่สุด

ส่วนช่องวาไรตี้ความคมชัดสูง (HD) ได้โฆษณามากที่สุด ได้แก่ ช่อง 7 HD ช่อง 3 HD ช่อง 9 MCOT HD ไทยรัฐทีวี ONE 31 AMARIN TV HD และช่อง PPTV

ช่องเด็กเยาวชน “สูญพันธุ์”

ขณะที่กลุ่มช่องข่าวสารสาระ กับช่องเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่ง “กสทช.” หวังใช้ถ่วงดุลด้านคอนเทนต์ ปรากฏว่ารายได้โฆษณาไม่เติบโต

จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของช่องทีวีเด็ก เยาวชนฯ ทั้งหมดจะยื่นขอคืนใบอนุญาต เมื่อมีคำสั่ง คสช.เปิดช่องให้ ส่วนช่องประเภทข่าวสารสาระขอคืน 3 ช่อง หรือครึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกอากาศ ได้แก่ สปริงนิวส์ Bright TV และ VOICE TV ส่วนกลุ่มช่องวาไรตี้ SD คืน 2 ช่อง ได้แก่ SPRING 26 และ 3 SD

“คสช.” ผู้มีบทบาทสำคัญ

นอกจากเผชิญการแข่งขันรุนแรงในตลาด การเกิดสื่อออนไลน์และทีวีออนไลน์แล้ว “คสช.” ที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ พ.ค. 2557 หรือเพียง 1 เดือนหลังทีวีดิจิทัลออกอากาศ ได้มีบทบาทสำคัญในเส้นทางของธุรกิจทีวีดิจิทัลในรอบ 5 ปี มีการออกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องถึง 4 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ “คสช.ที่ 80/2557” (9 ก.ค. 2557) กำหนดให้นำเงินประมูลทีวีดิจิทัล หากยังมิได้ส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน

“คสช.ที่ 76/2559” (20 ธ.ค. 2559) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการผ่อนผันการจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาต แยกเป็นเงินประมูลในส่วนของราคาขั้นต่ำที่เหลืออีก 10% แบ่งเป็น 2 งวด ส่วนค่าประมูลส่วนเกินราคาขั้นต่ำอีก 60% แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด และให้ กสทช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม (มัสต์แคร์รี่) 3 ปี

“คสช.ที่ 9/2561” (23 พ.ค. 2561) กำหนดให้ช่องยื่นขอพักการจ่ายเงินค่าประมูลได้ไม่เกิน 3 ปี ให้ กสทช.สนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) 50% 2 ปี และให้ช่องทีวีของกรมประชาสัมพันธ์มีโฆษณาได้เท่าที่จำเป็น

และฉบับสุดท้าย “คสช.ที่ 4/2562” (11 เม.ย. 2562) ที่ระบุว่า เพื่อแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ เปิดทางให้คืนช่องได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินประมูล 2 งวดสุดท้าย พร้อมได้เงินชดเชย ส่วนช่องที่ยังทำต่อนอกจากได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินประมูล 2 งวดสุดท้ายแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนค่า MUX จนสิ้นสุดใบอนุญาต ทั้งกำหนดให้ กสทช.สนับสนุนองค์กรกลางทำระบบสำรวจความนิยม (ทีวีเรตติ้ง)

กว่าจะถึงปี 2572 

แม้จะมีคำสั่ง คสช.มาช่วยปลดล็อกให้ทุกข้อเรียกร้องแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังต้องต่อสู้กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและการเข้ามาให้บริการของคอนเทนต์ออนไลน์สารพัดรูปแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ตัดสินใจ “ยกธงขาว” ขอคืนใบอนุญาต โดยจะเริ่มทยอย “จอดำ” ตั้งแต่ 16 ส.ค.นี้ ซึ่งส่งผลให้มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก

จากนี้ต้องจับตาว่า 15 ช่องธุรกิจและอีก 4 ช่องสาธารณะที่เหลือจะยืนหยัดให้บริการภายใต้วัตถุประสงค์ของ “กสทช.” ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างเนื้อหาที่หลากหลายและเป็นความหวังของประชาชนที่จะได้มีสื่อคุณภาพจนสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือน พ.ค. 2572 ได้หรือไม่

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่…ควักจ่าย 12,974 ล้าน ค่าเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!