ฝันใหญ่ของ “แฟลชฯ” ปักธง “โลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ” เอเชีย

อีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และยิ่งโตขึ้นไปได้จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจเกี่ยวข้องทั้งอีเพย์เมนต์และโลจิสติกส์เติบโตก้าวกระโดดบนการแข่งขันที่สูงขึ้นเช่นกัน

ในสังเวียนโลจิสติกส์ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เข้าสู่ธุรกิจนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้วแต่แทรกตัวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักที่ต่อกรกับรายใหญ่ได้อย่างน่าจับตา กลายเป็นบริษัทสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หลายแห่งควักกระเป๋าใส่เงินร่วมลงทุนด้วย และกำลังจะเปิดระดมทุนรอบใหม่ในระดับซีรีส์ E ด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “คมสันต์ แซ่ลี” ประธานบริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ในหลากหลายแง่มุมตั้งแต่แนวคิดในการเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงเป้าหมายในอนาคตที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่สังเวียน “โลจิสติกส์” และประเทศไทย

Q : จุดเริ่มต้นของ “แฟลชฯ”

แฟลชฯเป็นบริษัทสัญชาติไทย ตั้งขึ้นในปี 2560 เริ่มให้บริการครั้งแรกปี 2561 ตอนเข้าตลาดก็มีผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซในไทยจำนวนมาก ทั้งผู้เล่นระดับประเทศกว่า 10 ราย

และผู้เล่นระดับท้องถิ่นกว่า 400 รายที่อยู่ทั่วประเทศแต่เรามองว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีโอกาสอีกมาก และกำลังโตจึงเริ่มถอดรหัส และมองหาโอกาสจากการขยับตัวของยักษ์ใหญ่จากจีนอย่างอาลีบาบา ที่ตัดสินใจลงทุนกับลาซาด้าหรือเทนเซ็นต์ที่ลงทุนกับช้อปปี้ สะท้อนภาพชัดเจนว่าอีคอมเมิร์ซคือธุรกิจดาวรุ่งที่กำลังโต

เราจึงเริ่มมองหาโอกาสจากธุรกิจนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซที่ช่วยลดต้นทุนให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายเล็ก ๆ

“ที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจว่า แฟลชฯเป็นบริษัทขนส่งของจีน แต่ความจริงแล้วเราเป็นบริษัทสัญชาติไทย และไม่เคยให้คำนิยามตนเองว่าเป็นบริษัทขนส่ง แต่คือผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร”

Q : อะไรทำให้แทรกตัวขึ้นมาในตลาดได้

คู่แข่งมีมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่เป็นระดับท้องถิ่น อีกทั้งอีคอมเมิร์ซยังมีช่องว่างที่จะสร้างการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี สิ่งที่ทำให้เราแทรกตัวและแข่งขันได้ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีพนักงานไอทีกว่า 200 คน

และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในทุกส่วนของธุรกิจ มีการลงทุนไอทีเฉลี่ย 60 ล้านบาทต่อเดือน ลงทุนในศูนย์กระจายสินค้ากว่า 20,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้า 20 แห่ง ทุกแห่งใช้ระบบออโตแมชีนเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความแม่นยำในการคัดแยกสินค้า

ส่วนที่ 2 คือ ราคา ถือเป็นส่วนผสมที่สำคัญ เราให้บริการราคาต่ำที่สุดในไทย ด้วยแนวคิด “จ่ายเงินระดับอีโคโนมีคลาส แต่ได้บริการระดับเฟิรสต์คลาส” ปัจจุบันจัดส่งทั่วไทยวันละ 1.3 ล้านชิ้น และมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 ล้านบาท

บริการเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เติบโตรวดเร็ว เพราะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ลดต้นทุนได้ แต่ไม่มีงบฯมากพอที่จะจ้างทีมไอทีเพื่อพัฒนาระบบ เราจึงเข้ามาลงทุนระบบไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขายให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ฟรี

ทำให้ขึ้นแท่นอันดับ 1 ในตลาดโซเชียลมาร์เก็ตในเวลา 1 ปี เริ่มขยายบริการไปยังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างลาซาด้าและช้อปปี้ ที่เพิ่งเปิดให้บริการปลายปี 2563

สุดท้ายคือเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายแรกในไทยที่ให้บริการ 365 วันไม่มีวันหยุด และสร้างโมเดลใหม่ด้วยการให้บริการแบบ door-to-door service หรือรับส่งสินค้าไม่มีขั้นต่ำถึงบ้านลูกค้า

มีพนักงานกว่า 27,000 คนทั่วประเทศ เท่ากับมีสาขาเคลื่อนที่กว่า 20,000 สาขา ในเวลา 3 ปี เทียบเท่ารายใหญ่ ๆ แต่ต้นทุนต่ำกว่า แม้ไม่มีระบบแฟรนไชส์ โดยปัจจุบันให้บริการ 77 จังหวัด

Q : การบริหารจัดการ “ราคา” ให้ต่ำกว่าคู่แข่ง

เมื่อ 3 ปีก่อนค่าเฉลี่ยการขนส่งอยู่ที่ 65 บาทต่อคำสั่งซื้อ (transaction) แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 18 บาทต่อคำสั่งซื้อ เพราะธุรกิจโลจิสติกส์เป็น economiำห of scale เมื่อขยายใหญ่ขึ้นอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ก็มากขึ้น

ทำให้ต้นทุนต่ำลง เช่น ปี 2562 ส่งได้ 50 ชิ้นต่อวันต่อคนในระยะทาง 100 กิโลเมตร และปี 2563 กว่า 100 ชิ้นต่อวันต่อคนในระยะทางไม่ถึง 50 กิโลเมตร ตรงนี้เป็นการแข่งขันระยะสั้น

ขณะที่ระยะยาว คือ การแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าให้ได้มาก และลดระยะเวลาการเดินทางให้สั้นที่สุดด้วยการบริหารจัดการที่วางไว้ทำให้แฟลชฯจัดส่งของได้เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนลดลงทำให้ราคาค่าบริการก็ถูกลง

แฟลชฯมีทีมพัฒนาที่จีน 200 คน ทำหน้าที่เป็นเสมือนมือปืนคอยยิงให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีทีม product management เป็นคนไทยอีก 50 คน ทำหน้าที่ในการสรรหาเป้าหมาย เพื่อพัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย

Q : ถือว่าวิ่งสั้นแต่โตเท่าผู้เล่นที่วิ่งก่อน

เราโชคดีที่เอาประสบการณ์ที่รุ่นพี่เคยล้มเหลวมาเป็นบทเรียน ทำให้ไม่ต้องหลงทาง เป็นความได้เปรียบของคนมาทีหลัง แต่คนมาก่อนก็ได้เปรียบ คือสร้างมาตรฐานในตลาด เราแค่เห็นช่องว่างจึงอาศัยจังหวะเข้ามาในตลาดนี้

Q : ทำไมนักลงทุนมาลงทุนกับแฟลชฯ

แฟลชฯมีเทคโนโลยีที่ดีและเข้าใจธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ผ่านมาเคยทำธุรกิจกับจีนมาก่อน จึงนำประสบการณ์มาปรับใช้ แต่ไม่ได้ยกมาทั้งหมด คัดเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมกับคนไทยมาเท่านั้น

โดยเงินทุนก้อนแรกมาจากการลงทุนเอง ส่วนการลงทุนรอบ 2 หรือซีรีส์ B ได้จากกองทุนเกาหลงแคปพิทอล สหรัฐอเมริกาประมาณ 100 ล้านเหรียญ จนมาถึงซีรีส์ D ได้นักลงทุนในไทย เช่น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และแบงก์กรุงศรี เป็นต้น

การระดมทุนซีรีส์ E ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ คาดว่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อขยายไปต่างประเทศ ตั้งใจไว้ว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะให้บริการทั่วทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเปิดบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากบริการขนส่งสินค้า

เช่น ธุรกิจให้บริการคลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่งและเก็บเงินปลายทางให้แบรนด์ชั้นนำ เช่น หัวเว่ย เสี่ยวหมี่ ยูนิลีเวอร์ เป็นต้น และไตรมาส 2 ปีนี้จะขยายบริการ “แฟลช โลจิสติกส์” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

Q : แผนปี 2564 และเป้าหมายในอนาคต

ปีนี้ตลาดมีความท้าทายเพิ่มขึ้น ทั้งกำลังซื้อผู้บริโภคที่อาจลดลงจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลง ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ๆ มีการปรับตัวเรามีแผนจะเพิ่มบริการใหม่ เช่น อีเพย์เมนต์ แฟลช เพย์

และบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ “แฟลช โลน” เจาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และอนาคตจะขยายธุรกิจไปยัง 4 ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว และประเทศอื่น ๆ

ปัจจุบันมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท วางเป้าหมายว่าอีก 5 ปีจากนี้จะมีมูลค่าแตะ 1 แสนล้านบาทให้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เพราะมีทีมงานและลูกค้าที่เชื่อมั่นในบริการของเรา

สิ่งที่ยากที่สุดแฟลชฯได้ผ่านมาแล้ว คือ การทำให้ลูกค้ายอมรับ จากนี้ไปคือการสร้างคุณค่าให้ลูกค้ามากกว่าที่เป็นอยู่ และเมื่อขยายครบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วก็จะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

Q : การกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรก เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโต เพราะทุกคนออกจากบ้านไม่ได้ ทำให้ต้องซื้อสินค้าออนไลน์ โดยกลางปี 2563 ยอดขนส่งโตขึ้นกว่า 3 เท่าเทียบช่วงเวลาปกติ ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่

ขณะที่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น คาดว่าการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ก็ยังโต และความถี่ในการซื้อก็จะเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และสินค้ากลุ่มหลัก ๆ ที่ผู้บริโภคจะซื้อ คือสินค้าอุปโภคบริโภค จากปกติที่ซื้สินค้ากลุ่มแฟชั่น

Q : กระทบแผนขยายธุรกิจหรือไม่

กระทบแน่นอน จากเดิมที่เตรียมบุกตลาดต่างประเทศในปี 2563 ก็ต้องยืดออกไป แต่ถือเป็นโชคดีที่ทำให้ทีมมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ทั้งการทำวิจัย วางระบบบริหารจัดการ โดยแนวคิดการบริหารจัดการของแฟลชฯ คือ ให้คนเก่าทำงานใหม่ คนใหม่ทำงานเก่า ซึ่งคนใหม่ที่รับเข้ามาต้องฝึกอบรมที่สำนักงานในกรุงเทพฯก่อน

ส่วนคนเก่าจะออกไปทำธุรกิจใหม่ หรือ ตลาดใหม่ การขยายตลาดไปยังต่างประเทศก็จะใช้โมเดลนี้ โดยพนักงานต้องเป็นคนในประเทศนั้น แต่การบริหารจัดการ รวมถึงเทคโนโลยีใช้ไทยเป็นฐานหลัก ซึ่งมีทีมงานจากหลายประเทศ ทั้งไทย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกาคอยสนับสนุน