เจาะกลยุทธ์ “แฟนด้อม-บิทคับ” ปลุกพลัง FC ศิลปิน จุดพลุ Fun to earn

Fandom แอปพลิเคชั่นใหม่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนของ “บิทคับ” สร้างประสบการณ์จุดพลุ Fun to earn ดึง “FC-ศิลปินดัง-อินฟลูเอนเซอร์” เชื่อมประสบการณ์โลกใหม่สู่ยุค Web 3.0 ชิงเค้กตลาดแฟนคลับศิลปิน มูลค่า 150 ล้านบาท

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 บริษัท แฟนดอม แอพพลิเคชั่น จำกัด เปิดตัวแอปพลิเคชั่น FANDOM แพลตฟอร์มคอมมิวนิตี้ของแฟนคลับ และศิลปิน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Fun to earn ให้แฟนคลับและศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน และสะสมเหรียญ Fandom coin จากการถ่ายคลิปวิดีโอ, ทำโปสเตอร์, ตอบคำถาม และการทำกิจกรรมต่าง ๆร่วมกัน ภายในคอมมิวนิตี้

นางสาวสิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์ ประธานกรรมการบริหาร แฟนดอม แอพพลิเคชั่น จำกัด เปิดเผยว่าตลาดแฟนคลับในประเทศไทยมีขนาดใหญ่มาก มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท

“นอกจากแฟนคลับศิลปิน K-POP แล้วยังมี J-POP, Gamer, Influencer และอุตสาหกรรมบันเทิงอีกหลายด้าน ทั้งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่มีช่องว่างทางการตลาดอีกมากด้วย เนื่องจากยังไม่มีพื้นที่หรือแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างแฟนคลับกับศิลปิน ทำให้มีกลุ่มแฟนคลับกระจายอยู่ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ”

จาก Pain point ที่ “ศิลปิน” ไม่สามารถเข้าถึงแฟนคลับทุกคนได้อย่าง Fandom จึงเข้ามาสร้างคอมมิวนิตี้ จากฐานแฟนคลับที่มีอยู่แต่ละที่มาไว้ในที่เดียวกัน โดยจะมีการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อให้รู้จักตัวตนกันมากขึ้น ทำให้ ศิลปินรู้ว่าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ผ่านการทำกิจกรรมกับคอมมิวนิตี้อย่างต่อเนื่อง

การทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากได้ความสนุก (Fun) แล้วยังได้รับ (Earn) “แฟนดอมคอยน์” เป็นสิ่งตอบแทน เพื่อนำไปซื้อ NFT ของสะสมจากศิลปิน รวมถึง NFT ของคนในคอมมิวนิตี้ด้วยกันเอง หรือเพื่อไปแลกเปลี่ยนหรือแลกการร่วมกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีฟต่าง ๆ ทำ

“ทั้งแฟนคลับ และศิลปิน จะเป็นผู้สร้างผลงาน NFT ร่วมกัน ทั้งการมีแพลตฟอร์มกลางคอยดูแลทำให้ปัญหาต่างๆ จะทำให้กรณีดราม่า หรือข่าวลือต่าง ๆ ลดลง ศิลปินก็อยากเข้ามาร่วมด้วย เพราะสื่อสารกับเหล่าแฟนคลับได้โดยตรง”

โดยแอปพลิเคชั่นดังกล่าว เป็น DApps หรือ Decentralized applications แอปพลิเคชั่นแบบกระจายอำนาจที่สร้างบนเครือข่ายบล็อกเชน บิทคับ (BKC Chain) ใช้พลังของเทคโนโลยียืนยันที่อยู่ของ NFT เป็นแรงหลักในการสะสม แลกเปลี่ยนแต้มเป็น NFT ของศิลปินที่ชื่นชอบ เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ด้านนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง กล่าวว่า NFT เปรียบเป็นเครื่องมือขัดเพชรเพื่อดึงมูลค่าที่เคยปล่อยไว้ เพราะนักกีฬา และศิลปินต่าง ๆ มักมีมูลค่าที่ปล่อยให้เปล่าประโยชน์ เช่น การเดินจับมือลงสนามหรือแม้แต่การกินข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่เดิมไม่สามารถถ่ายโอนมูลค่าได้ เพราะไม่รู้ว่าใครเห็นค่าบ้าง และ NFT ช่วยให้มีค่าขึ้น ทำให้แฟนคลับพันธุ์แท้ยอมแลก ซื้อ และสะสม เพื่อให้ได้ประสบการณ์ต่าง ๆ

“การนำ NFT มาใช้ในวงการแฟนคลับ นอกจากช่วยให้แฟนคลับ และศิลปินได้ยกระดับมูลค่าแล้วยังเปลี่ยนแปลงวงการเอ็นเตอร์เทน และวงการโฆษณาไทยให้เติบโตต่อไปด้วย”

นายภาสกร ปานนอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี เสริมว่า

BKC เป็นบล็อกเชนที่มีปริมาณการใช้งานลำดับที่ 12 ของโลก รวมถึงการมีผู้ถือครอง NFT จำนวนมากบนบล็อกเชนเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสให้แฟนคลับมาสร้างงานบนบล็อกเชน ซึ่งมั่นใจในความปลอดภัย และแลกเปลี่ยนได้เร็ว ทำให้แฟนดอมแพลตฟอร์มดึงกลุ่มลูกค้าที่รู้เรื่องคริปโตในบรรดาผู้ใช้งานบล็อกเชนมาเพิ่มมูลค่าให้ NFT ของแพลตฟอร์ม Fandom ได้อีกต่อ

นางสาวสิริโสมย์เสริมว่า จากการเก็บข้อมูลในช่วงโควิดสร้างความแปลกใจให้อย่างมาก โดยพบว่าแฟนคลับยังมีกำลังซื้อสูง และมีหลายระดับ หากเป็นแฟนคลับนานกว่า 7 ปีขึ้นไป จะพร้อมสู้ตายเพื่อศิลปิน และพบด้วยว่าเเฟนคลับกลุ่ม First Jobber ใช้จ่ายมากถึง 30% ของเงินเดือนเพื่อสนับสนุนศิลปิน โดยไม่หวังอะไรตอบแทนนอกจากอยากเห็นศิลปินที่ชอบประสบความสำเร็จ

“เรานำรูปแบบ Fun to earn ซึ่งเป็นแนวคิด web 3.0 มาใช้ โดยจะไม่ขายของสะสม NFT ให้แฟนคลับอย่างเดียว แต่ให้ประสบการณ์ที่ดีไปด้วย เพราะพลังของ NFT ไม่ได้มีแค่การซื้อรูปภาพ หรืองานศิลปะ แต่คือการเพิ่มสิทธิพิเศษในสิ่งที่เหล่าแฟนคลับชื่นชอบอยู่แล้วจะกลายเป็นความต้องการตามมาภายหลัง”

สำหรับแอปพลิเคชั่น Fandom จะเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดในเดือน ส.ค.นี้ โดยช่วงเริ่มต้นจะมีศิลปินดัง และอินฟลูเอนเซอร์ด้านต่าง ๆ เข้าร่วม 20 คน มีบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นกลุ่มแฟนคลับราว 1 แสนคน ภายในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้ามีฐานแฟนคลับศิลปินกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในแอป “แฟนดอม”

ไม่น้อยกว่า 20% มีส่วนแบ่งตลาด 5% หรือราว 150 ล้านบาท จากตลาดรวมมูลค่า 3,000 ล้านบาท ใน 4 ปี