มนุษย์แฝดดิจิทัล กับการก้าวข้ามคำว่า เป็นไปไม่ได้

คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

สิ่งที่มนุษย์ใฝ่ฝันมาเนิ่นนาน คือ การมีชีวิตอมตะ และไม่แน่ว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้เราอาจมีร่างแฝดที่เหมือนเราทุกอย่าง เพียงแต่เขาจะโลดแล่นอยู่ในโลกดิจิทัลอันกว้างใหญ่ โลกที่ไร้ขีดจำกัด และโลกที่ไม่มีวันตาย

หากเป็นสักยี่สิบปีก่อน เรื่องนี้คงเป็นแค่นิยายไซไฟให้เราได้ตื่นเต้นกับชีวิตเหนือจริงชั่วครู่ชั่วยาม

แต่วันนี้ เรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

เชื่อหรือไม่ว่า ในขณะที่เรายังคงปวดหัวกับปัญหารถติด ฝุ่นพิษ น้ำท่วมซ้ำซากในกรุงเทพฯ ผู้นำมหานครอย่างสิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้ได้สร้างเมืองแฝดของพวกเขาบนโลกดิจิทัลขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการออกแบบเมืองเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

และในขณะที่บ้านเรายังคงงงงวยกับการใช้ “กัญชา” อย่าง “ถูกวิธี” มีบางประเทศสร้าง “อวัยวะแฝด” ในโลกดิจิทัลเพื่อช่วยในการรักษาโรคร้ายต่าง ๆ ได้แล้ว

จะว่าไปมีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ที่ถูกสร้างคู่ขนานในโลกดิจิทัลมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถ บ้าน หรือเมือง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการสร้างมนุษย์แฝดเวอร์ชั่นดิจิทัลจึงกลายเป็นเทรนด์ของเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเองในอนาคต

ตอนแรกแฝดเสมือนที่ว่าเป็นแค่แบบจำลอง 3 มิติ แต่ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่าง AI และ internet of things ทำให้แบบจำลองที่ว่ามีพัฒนาการตามไปด้วย เพราะสามารถเชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กและซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้มันสามารถ “เรียนรู้” ตลอดเวลา

ร็อบ เอ็นเดรว นักวิเคราะห์เทคโนโลยีเชื่อว่าเวอร์ชั่นแรกของมนุษย์แฝดดิจิทัลน่าจะมีให้เห็นก่อนสิ้นทศวรรษนี้ โดยแฝดดิจิทัลจะต่างจากอวตารตรงที่มีความสามารถในการ “คิด” ทำให้การออกกฎระเบียบทางจริยธรรมเพื่อควบคุมการสร้างแฝดดิจิทัลจะกลายเป็นอีกประเด็นสำคัญในยุคเมตาเวิร์ส

เขายกตัวอย่างว่า หากไม่มีการควบคุมนายจ้างอาจสร้างแฝดดิจิทัลขึ้นมาทำงานแทนพนักงานฝีมือดีโดยไม่ต้องจ่ายเงินเดือน ทำให้มนุษย์ “ต้นแบบ” ต้องตกงานกันเป็นแถวก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ซานดร้า วอชเชอร์ นักวิชาการด้าน AI จาก Oxford University เชื่อว่า การสร้างแฝดดิจิทัลยังคงเป็นแค่คอนเซ็ปต์เท่านั้น เพราะ AI ยังมีข้อจำกัดในการคาดการณ์หรือเข้าใจบริบททางสังคมต่าง ๆ

ดังนั้น ตราบใดที่โลกยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถออกแบบเส้นทาง “ชีวิต” ของแฝดดิจิทัล ตั้งแต่ “ต้นจนจบ” อนาคตที่จะมี “มนุษย์แฝดดิจิทัล” ที่เหมือนเราทุกประการทั้งรูปร่างหน้าตาและความคิดก็ยังคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในหนังเท่านั้น

แต่เทคโนโลยีแฝดดิจิทัลไม่ได้จำกัดเฉพาะการสร้าง “มนุษย์” ขึ้นมาเท่านั้น

ทุกวันนี้มีธุรกิจที่เริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในการพัฒนาสินค้าหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกันแล้ว เช่น ทีมรถแข่ง Formula One ของ McLaren และ Red Bull มีการสร้างรถแฝดดิจิทัลขึ้นเพื่อช่วยในการพัฒนาสมรรถนะของรถแข่งในอนาคต

หรือบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่อย่าง DHL ก็มีการสร้างผังดิจิทัลระหว่างโกดังสินค้ากับเส้นทางการเดินรถเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง

หรือแม้กระทั่งเมืองมหานครระดับแนวหน้าอย่างสิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้ที่สร้างเมืองแฝดดิจิทัลขึ้นเพื่อพัฒนาการออกแบบผังเมือง ระบบการขนส่งทั้งบนดินและใต้ดิน รวมไปถึงเพื่อแนะนำเส้นทางการเดินทางเพื่อเลี่ยงพื้นที่มีมลพิษสูงแก่ประชาชน

ขณะที่บริษัทผลิตซอฟต์แวร์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Dassault Systems บอกว่ามีบริษัทหลายพันแห่งแสดงความสนใจในเทคโนโลยี digital twins ของตน แต่โปรเจ็กต์ที่กำลังมาแรงและมีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ คือ living heart project หรือโครงการสร้าง “หัวใจแฝดดิจิทัล” ที่แพทย์สามารถใช้เพื่อทดสอบแผนการผ่าตัดภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ได้เหมือนจริง

โครงการนี้ก่อตั้งโดยคุณหมอสตีฟ เลอวีน ผู้มีลูกสาวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด ทำให้ผู้เป็นพ่อต้องหาทางสร้าง “หัวใจ” ดวงใหม่ของลูกสาวบนโลกดิจิทัลเพื่อหาทางรักษาอาการของลูกสาว

ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเด็ก Boston Children’s Hospital เพื่อวิเคราะห์อาการโรคหัวใจในผู้ป่วยจริง นอกจากนี้ โรงพยาบาล Great Ormond Street Hospital ในลอนดอนก็ใช้เทคโนโลยีนี้ในการทดสอบอุปกรณ์ผ่าตัดเพื่อช่วยเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจที่รักษายาก

นอกจากนี้ เทคโนโลยี digital twins ยังถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าไฮเทคสุดล้ำอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น jetpack หรือเครื่องสะพายหลังติดเทอร์โบที่ช่วยให้มนุษย์บินได้ หรือรถยนต์บินได้ที่บิ๊กเทคหลายแห่งกำลังสุ่มทดสอบกันอย่างขะมักเขม้น

ทุกวินาทีที่ผ่านไป มีความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

ดังนั้น อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็อาจจะได้เห็น รวมทั้งการสร้าง “มนุษย์แฝดดิจิทัล” ก็อาจไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเกินไป


เพราะหลายปีที่ผ่านมาวงการเทคได้ก้าวข้ามคำว่า “เป็นไปไม่ได้” มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว