คริปโตขาลงนักลงทุนถอย ยักษ์ธุรกิจทยอย “เลิกจ้าง”

บิตคอยน์

ตลาดคริปโตขาลง ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลร่วงหนัก นักลงทุนถอนทัพ ผู้ให้บริการซื้อขายคริปโตรายใหญ่ของไทย ปรับแผน “เลิกจ้าง” พนักงานเอาต์ซอร์ซ หลังยอดเทรด-เปิดบัญชีใหม่วูบ “กูรูอีคอมเมิร์ซ” ชี้เศรษฐกิจไม่ดีกระทบทุกธุรกิจ

แหล่งข่าวในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ขาลงของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั่วโลก จากปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นดอกเบี้ย และการดูดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี ร่วงลงอย่างรุนแรง โดยราคาของบิตคอยน์จากที่เคยทำสถิติสูงกว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยน์ ล่าสุดร่วงมาลงมาอยู่ที่ระดับ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยน์เท่านั้น

โดยกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มชะลอลงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งในกลุ่มที่เปิดบัญชีซื้อขายอยู่แล้ว และการเปิดบัญชีของลูกค้าใหม่ ส่งผลผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลบางแห่งปรับแผนการบริหารจัดการกำลังคนใหม่ หลังจากในปีที่ผ่านมามีการประกาศรับคนเพิ่มจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การรับคนเพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ของบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้วิธีทำสัญญาจ้างกับบริษัทรับช่วงงานหรือเอาต์ซอร์ซ (outsourcing) อีกที โดยมีการแบ่งทำสัญญากับหลายบริษัท

โดยการจ้างงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นงานเกี่ยวกับการยืนยันตัวตนผู้ใช้รายใหม่ หรือ KYC (know your customer) และงานดูแลลูกค้า (customer support) เนื่องจากในช่วงตลาดขาขึ้น มีนักลงทุนหน้าใหม่สนใจเข้ามาเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

“ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่มีการทำสัญญาจ้างเอาต์ซอร์ซกับ 3 บริษัท เป็นสัญญาปีต่อปี เพื่อความยืดหยุ่นในการจัดการกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลด ก็ทำได้คล่องตัวกว่ารับเป็นพนักงานประจำ ทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย และเมื่อครบสัญญาอาจจ้างต่อหรือไม่ก็ได้”

แหล่งข่าวจากบริษัทเอาต์ซอร์ซแห่งหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเป็นคู่สัญญารายปีกับผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่แห่งหนึ่ง โดยมีพนักงานสัญญาจ้างงาน
ด้านการดูแลลูกค้าราว 80 คน และเพิ่งครบกำหนดสัญญาไปในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา และไม่มีการต่อสัญญาอีก ทั้งไม่ได้รับพนักงานสัญญาจ้างบางส่วนที่คัดเลือกไว้ว่าจะรับเป็นพนักงานประจำตามที่เคยทาบทามไว้ก่อนหน้านี้ด้วย โดยบริษัทดังกล่าวให้เหตุผลว่าไม่มีงบประมาณ และต้องการรัดเข็มขัด

“ตลาดคริปโตทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลกระทบกับตลาดบ้านเราด้วยเช่นกัน ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ การปรับลดคนก็เป็นเรื่องปกติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ เดือน ธ.ค.64 มีจำนวนบัญชีรวม 2,271,442 บัญชี เทียบปีก่อนหน้ายังถือว่าเติบโตก้าวกระโดด แต่ในปี 2565 เติบโตลดลง

ขณะที่บัญชีแอ็กทีฟจากเดือน ม.ค.65 มี 6.82 แสนบัญชี และลดลงเหลือ 1.9 แสนบัญชี ในเดือน พ.ค. 65 โดยข้อมูล ก.ล.ต.ระบุว่า ณ สิ้นเดือน พ.ค.มีจำนวนบัญชี 2,853,178 บัญชี แม้จะมีการเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นแต่วอลุ่มในการซื้อขายลดระดับลงค่อนข้างมาก จากเดือน พ.ย. 2564 มีการซื้อขายสุทธิสูงสุด 2.53 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 1.28 แสนล้านบาท ใน ม.ค. 65 และ พ.ค.65 เหลือ 9.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการรายงานจากสื่อต่างประเทศระบุว่า ยักษ์สตาร์ตอัพ SEA Group เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ช้อปปี้” (Shopee) สั่งปลดพนักงานทั่วภูมิภาคกลางที่ประชุมออนไลน์ และในส่วนของประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบกว่า 300 คน ในส่วนทีมที่ดูแลบริการชำระเงินออนไลน์ ShopeePay และบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ShopeeFood

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้ง Tarad.com และผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนักส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ แต่ต้องพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม แม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ค่อนข้างกว้างมาก บางตัวไปได้ดีมาก แต่บางตัวอาจไม่ดีนัก ทำให้บางบริษัทต้องเริ่มมีมาตรการ “รัดเข็มขัด”

“สถานการณ์ตอนนี้ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ อย่างตอนนี้แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ก็ยังแข่งขันกันรุนแรงมาก ขณะที่แพลตฟอร์มเกี่ยวกับงานด้านฟรีแลนซ์บางตัวยังเติบโตได้ เป็นต้น ซึ่งตนมองว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับออนไลน์จะยังไปได้ โดยเฉพาะค้าปลีกออนไลน์ เพราะคนยังใช้จ่ายผ่านออนไลน์อยู่มาก ที่น่ากังวลจะเป็นธุรกิจออฟไลน์ เพราะคนเริ่มประหยัดและคิดว่าซื้อของออนไลน์ถูกกว่า”

สำหรับการปลดพนักงานทั่วภูมิภาคของ Shopee โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นการกลับไปโฟกัสธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านอีคอมเมิร์ซที่ตนมีความถนัดที่สุด และ “รัดเข็มขัด” ในส่วนของช้อปปี้เพย์ และช้อปปี้ฟู้ดที่เพิ่งเริ่มต้น และมีการแข่งขันรุนแรง แม้ธุรกิจจะยังเติบโต