รัตนากรผุดโรงงานสกัดสมุนไพร ตั้ง บ.เคแลปส่งวัตถุดิบ-OEMแบรนด์ใหญ่

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

รัตนากรทุ่ม 300 ล้านแตกไลน์ตั้ง “โรงงานสกัดสมุนไพร” จ.สมุทรสาคร ป้อนวัตถุดิบโรงงานผลิตยา เครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสำอาง พร้อมคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า “วุ้นคาราจีแนนสำเร็จรูป-เยลลี่-หมากฝรั่งกระท่อม-สเปรย์ฟ้าทะลายโจร”

นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม จ.ชลบุรี จ.ภูเก็ต อ.สมุย และปุ๋ยอินทรีย์ แบรนด์มุกมังกร จ.สมุทรสาคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกลุ่มรัตนากรได้แตกไลน์ธุรกิจเพิ่ม โดยทำโรงงานสกัดสารสำคัญในสมุนไพรหลากหลายชนิด จัดตั้งบริษัท เค-แลป จำกัด ขึ้นมารับผิดชอบ ส่งขายใน 2 ลักษณะ ทั้งในรูปวัตถุดิบป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา อาหาร และเครื่องสำอาง ฯลฯ

โดยทำตลาดส่งออก 60% เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา และทำตลาดภายในประเทศ 40% รวมถึงการรับจ้างผลิต (OEM) เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้กับแบรนด์ใหญ่หลายราย ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อย

สำหรับสินค้าที่ผลิตขายมาจากโรงงานต้นแบบ ซึ่งบริษัท เค-แลป มีห้องปฏิบัติการสามารถวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำสารสกัดสมุนไพรออกมาได้หลายร้อยชนิด เช่น วุ้นคาราจีแนนสำเร็จรูป, เยลลี่กระท่อม, น้ำกระเจี๊ยบแดงผสมกระชาย, หมากฝรั่งกระท่อม, น้ำกระท่อม, สเปรย์พ่นคอฟ้าทะลายโจร, ฟ้าทะลายโจรแคปซูล, กระท่อมแคปซูล, กระชายดำ, ใบขมิ้น, กวาวเครือขาว, บัวบก, กระวาน, ตะไคร้, พริกไทย, ว่านชักมดลูก, พญายอ, มะแว้งต้น, เก๊กฮวย, มะระขี้นก, บอระเพ็ด, เพชรสังฆาต, บุก, มะลิ, มะแว้งต้นเครือ และมะแว้งเครือ เป็นต้น

ปัจจุบันโรงงานต้นแบบกำลังการผลิตเต็มแล้ว จึงวางแผนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ เพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ตามแผนจะก่อสร้างโรงงานแปรรูปแห่งใหม่ แบ่งเป็น 3 เฟสบนที่ดินประมาณ 40 ไร่ ตั้งอยู่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาครใกล้โรงงานปุ๋ยแบรนด์มุกมังกร

ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานเฟสแรก บนพื้นที่ 10 ไร่มูลค่าลงทุน 300 ล้านบาท ตามแผนเฟสแรกจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 หลังจากนั้นใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้ากำลังการผลิตเต็มปลายปี 2566 จะเริ่มก่อสร้างโรงงานเฟส 2 ซึ่งจะใหญ่กว่าเฟสแรก

ดร.จิตติมา วีระนันทนาพันธ์ ผู้บริหารสูงสุด บริษัท นันทกรี จำกัด จ.สมุทรสาคร ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี แบรนด์ “มุกมังกร” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เค-แลป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแตกไลน์มาทำโรงงานสกัดสารสำคัญในสมุนไพรเป็นการต่อยอดจากลูกค้าเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยมุกมังกร โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์

แต่ที่ผ่านมาพบปัญหา สมุนไพรที่ปลูกพบการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น แคดเมียมและสารหนู โดยบริษัทมีห้องแล็บมีเครื่องมือตรวจสอบสารสำคัญ และโลหะหนักได้ หากตรวจพบโลหะหนักจะไม่สามารถสกัดสารสำคัญไปทำผลิตภัณฑ์ต่อได้

ดังนั้น ลูกค้าที่ใช้ปุ๋ยมุกมังกรทางบริษัทจะเข้าไปตรวจสอบย้อนกลับว่าเกิดการปนเปื้อนโลหะหนักในกระบวนการใด การเคลื่อนย้าย การปลูกตั้งแต่การใช้ปุ๋ย ใช้น้ำ การให้อาหารพืชต่าง ๆ การใช้วัสดุ ฯลฯ หากพบในการปลูก ต้องไปปรับกระบวนการปลูกใหม่ แล้วจึงนำสมุนไพรมาตรวจสารสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

ที่ผ่านมาเกษตรกรจะมาให้ดำเนินการใน 2 รูปแบบ 1.นำพืชสมุนไพรมาให้สกัดสารสำคัญและนำไปขายให้โรงงานผู้ผลิตเอง หรือ 2.เกษตรกรนำพืชสมุนไพรมาส่งขายให้เค-แลปนำไปสกัดเป็นวัตถุดิบส่งขายให้โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ยา เครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสำอาง ไปผลิตเป็นโปรดักต์สำเร็จรูปต่อไป

“บริษัทไม่ได้ทำหน้าที่รับจ้างตรวจ และไม่สามารถออกใบรับรองให้เกษตรกรได้ เพียงแต่ตรวจให้ลูกค้าที่ใช้ปุ๋ยของเรา นอกจากนี้ เรารับจ้างเป็นที่ปรึกษาทำงานเชิงวิจัยพัฒนา และคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการให้ลูกค้าด้วย เพราะลูกค้าบางรายไม่รู้จะต่อยอดวัตถุดิบไปทำอะไร

ตอนนี้บริษัทอยู่ในขั้นเตรียมกระบวนการเข้าสู่การเป็น certified laboratory แต่ก่อนหน้านี้เครื่องมือนี้เราซื้อมาเพื่อตรวจพวกปุ๋ย ดิน เพื่อมาพัฒนาสินค้า เราเลยใช้ประโยชน์เพิ่มจากตรงนี้ นอกจากนี้ เรากำลังลงทะเบียนเข้าสู่มาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน ISO 17025 และมาตรฐาน Good Laboratory Practice (GLP) ถือเป็นระบบมาตรฐาน และระบบคุณภาพที่ช่วยจัดการห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐาน มีผลงานถูกต้อง น่าเชื่อถือ”

ดร.กรีฑา วีระนันทนาพันธ์ ประธาน บริษัท นันทกรี จำกัด จ.สมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัย บริษัท เค-แลป จำกัด กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางบริษัท เค-แลป ได้เริ่มทำโรงงานต้นแบบสารสกัดสมุนไพรมา 3 ปีแล้วก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด โดยเริ่มรับจ้างผลิต (OEM) ให้ทางบริษัทใหญ่ ๆ ต่าง ๆ แต่ตอนหลังโรงงานต้นแบบเต็มกำลังการผลิต รองรับไม่ได้ จึงตัดสินใจตั้งโรงงานแห่งใหม่เพิ่งก่อสร้างเมื่อต้นปี 2565

โดยมีเกษตรกรในเครือข่ายที่ผลิตพืชสมุนไพรแบบอินทรีย์ให้กับทางบริษัทในหลายจังหวัด เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี และเชียงใหม่ ตอนนี้พืชสมุนไพรหลักที่กำลังรับซื้อจำนวนมาก เช่น กระท่อม ต้องการ 40 ตันต่อเดือน, มะม่วงหาวมะนาวโห่ และหมามุ่ยอินเดีย เป็นต้น โดยบริษัทจะรับซื้อราคาสูงกว่าราคาตลาดประมาณ 20%


“สมุนไพรไทยเพิ่งได้รับการเหลียวแลโดยมีกัญชานำทางเท่านั้นเอง แต่เราไม่ได้มองที่กัญชา ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายยังมองไม่เห็นปลายทาง เราพุ่งเป้าสกัดสารสำคัญในสมุนไพรหลากหลายร้อยตัว ขายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ยุโรป เราไม่ค่อยคำนึงถึงการทำตลาดสินค้าสำเร็จรูปลายทาง เราเน้นทำตลาดกลางน้ำนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ตลาดสมุนไพรไทยส่วนใหญ่มักนำไปทำอาหารเสริม 60% เป็นสารสกัด 30% ไปทำยาเพียง 10% เรากำลังพัฒนาไปสู่ pharma grade” ดร.กรีฑากล่าว