ยงสงวน ชูเป้าปี’66 โต 3 พันล้าน ผนึก “ยูนิลีเวอร์-สหพัฒน์” อัดโปร

จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในจังหวัดที่น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 19 ปี เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 “ยงสงวน” ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานีก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และคาดการณ์ไตรมาส 4 ติดลบแน่นอน เพราะต้องปิดกิจการชั่วคราวนานกว่า 24 วัน แม้ปัจจุบันจะผ่านมาถึง 2 เดือนแล้ว

น้ำท่วมหนักติดลบ 200 ล้าน

“ประกอบ ไชยสงคราม” ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่เกิดโควิด-19 และเงินเฟ้อใน สปป.ลาว มาจนถึงน้ำท่วมช่วงไตรมาส 4

ทำให้ยงสงวนติดลบหนักกว่าเดิม เพราะน้ำท่วมหนักในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน

“ช่วงที่เกิดน้ำท่วม ยงสงวนเลือกไม่ขนของหนี และทำงานกับน้ำ เรามีพื้นที่ขายเหลืออยู่เพียงนิดเดียว โดยนำกระสอบทรายมากั้นน้ำไว้กว่า 7 หมื่นกระสอบ แล้วดูดน้ำออก อาจจะปล่อยน้ำเข้ามาบ้างเพื่อให้มีแรงดันน้ำภายนอก ทำให้รถเข็นสินค้า รถโฟร์กลิฟต์ รถกระบะ รถสิบล้อจมน้ำ

มูลค่าความเสียหายอยู่ในหลักสิบล้านบาท กระทั่งเมื่อน้ำขึ้นสูงจนขายของไม่ได้จึงหยุดและปิดร้าน 24 วัน ตั้งแต่วันที่ 3-27 ตุลาคม 2565 ต้องยอมรับว่าหายไป 1 เดือน ตัวเลขติดลบรวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทแน่นอน”

หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง ยงสงวนกลับมาเปิดขายสินค้าตามปกติ แต่ไม่คึกคักมากนัก เพราะลูกค้ายังไม่สะดวกเดินทาง

เพราะช่วงน้ำท่วมหลายเส้นทางถูกตัดขาด ถึงปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ถึงน้ำไม่ท่วมก็ยังขายของยากอยู่แล้ว พอน้ำท่วมยิ่งขายยากมากขึ้น และลูกค้าของยงสงวนส่วนใหญ่ในจังหวัดประสบภัยน้ำท่วมเกือบทุกราย

อัดโปรฯเร่งยอดโต 3 พันล้านบาท

ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 ทางบริษัท ยงสงวน จึงต้องหารือกับซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าให้ ถึงผลกระทบต่อยอดขายในเดือนตุลาคม 2565 เพราะไม่สามารถทำยอดได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ และน่าจะนับตัวเลขของปี 2565 ได้เพียง 11 เดือนเท่านั้น

ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายจะขอทำยอดเพียง 2 เดือนคือ เดือนพฤศจิกายน และธันวาคม 2565 ส่วนเดือนตุลาคม 2565 ที่เกิดน้ำท่วม เรียกได้ว่าหายไปเลย คาดว่าผลประกอบการเบื้องต้นตลอดทั้งปี รวมแล้วน่าจะอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ถึงไม่ได้ตามเป้าหมายแต่น่าจะใกล้เคียง

“ประกอบ” เล่าว่า เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ ยงสงวนก็ไม่ได้รับการเยียวยาอะไรจากรัฐบาล แต่มีซัพพลายเออร์ บริษัท ซีโน-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เข้ามาช่วยมอบกิฟต์โวเชอร์ให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าได้ครอบครัวละ 500 บาท และยงสงวนก็จัดโปรโมชั่นใหญ่ 1 ครั้งต่อเดือน เป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้กันประจำ เช่น นมขนาด 1 ลิตร แถมขนาด 300 มิลลิลิตร 3 กล่อง

หรือซื้อ 1 แถม 1 โดยสินค้าประเภทนมจะจัดเอาใจกลุ่มลูกค้าคุณแม่โดยเฉพาะ เนื่องจากนมมีความจำเป็นต่อเด็กและขาดไม่ได้ บางครั้งลดจนต่ำสุดของโครงสร้างราคาจนไม่สามารถลดได้ ก็เติมชุดของเล่นเด็กเป็นของแถมแทน

“นอกจากทำโปรโมชั่นค้าปลีกแล้ว ทุกต้นเดือนเราจะทำโปรโมชั่นค้าส่งประมาณ 3-5 วัน 100 กว่ารายการ ลูกค้าจะมาจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, มหาสารคาม, นครพนม ฯลฯ หลากหลายมาก บางครั้งรายเล็กรายย่อมรวมกันเป็น 1 คันรถ

เรามีระบบสามารถสั่งออร์เดอร์ผ่านไลน์และจัดสินค้าไว้ให้ลูกค้าได้เลย เมื่อลูกค้าโอนเงินเรียบร้อย พอมาถึงก็ขนสินค้าขึ้นรถโดยไม่เสียเวลา นอกจากนี้ยังมีกิฟต์โวเชอร์ให้ลูกค้าสามารถนำมาแลกเงินสดส่วนลดช่วยค่าน้ำมัน หรือใช้รถร่วมที่จ้างจากยงสงวนขนสินค้าส่งให้ถึงบ้าน”

ในวันปกติยอดขายของยงสงวนประมาณ 1,500 บิล/วัน ลูกค้าจะเป็นคนอุบลราชธานีล้วน ๆ แต่ถ้าวันจัดโปรฯจะมีลูกค้าจากจังหวัดอื่นเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะการขายปลีกอยู่ที่ประมาณ 2,000 กว่าบิล และช่วงเทศกาลต่าง ๆ

เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ คริสต์มาส คนเดินทางกลับภูมิลำเนาจะมีการฉลองรวมญาติกัน ช่วงเทศกาลสินค้าจะขายดีมากและคึกคักกว่าปกติ การบริโภคจะมากขึ้น บางครอบครัวซื้อหม้อซื้อกระทะใหม่ ซื้อของเพื่อทำเมนูใหม่

ทุ่มทำโกดังใหม่รับมือน้ำท่วม

“ประกอบ” บอกว่า ปัจจุบันยงสงวนมีพื้นที่อาคารขายสินค้า 3 ไร่ โกดังเก็บสินค้าอีก 2 ไร่ แต่พื้นที่รวมทั้งลานจอดรถและอื่น ๆ 30 ไร่ การรับมือน้ำท่วมในอนาคตคือเตรียมสร้างโกดังเก็บสินค้าเพิ่มในที่ดินแปลงอื่น เพราะยงสงวนคงไม่ย้ายสาขาไปไหน

เนื่องจากลงทุนกับโครงสร้างหลักของอุบลราชธานีไปมาก และคงจะปกป้องต่อไป ถ้าน้ำมาอีกก็จะสั่งสินค้าลงที่โกดังแห่งใหม่ อย่างน้อยยังพอที่จะทำงานต่อได้โดยธุรกิจไม่สะดุดเหมือนปีนี้

สำหรับปี 2566 ตั้งเป้าการเติบโตไว้ประมาณ 5% โดยมีซัพพลายเออร์หลักคือ ยูนิลีเวอร์ (Unilever) ซึ่งมีสินค้าขายมากที่สุด อัดโปรโมชั่นแรงสุด และยังเติบโตได้อยู่ ถัดมาคือ เนสท์เล่ (Nestle) และสหพัฒน์ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ยงสงวนจะเปิด Super Saveland ในอุบลราชธานีเพิ่มอีก 2 สาขา อยู่หน้าโรงพยาบาลวาริน และหน้าโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จากที่มีอยู่แล้ว 20 สาขาทั่วจังหวัดอยู่หน้าโรงเรียนและโรงพยาบาลอื่น ๆ ซึ่งเป็นคอนวีเนี่ยนสโตร์ (Convenience Store : CVS) และมินิมาร์ท (Minimart) มาช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น