Gen สุดท้าย “ชาระมิงค์” ชาดำ จากผืนป่า 1 เดียวในโลก

คอลัมน์ : สัมภาษณ์

เส้นทางของถนนคดโค้งที่ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปหยุดอยู่ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ณ “ไร่ชาระมิงค์” ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ อาณาจักรปลูกชาดำ (black tea) หรือชาพันธุ์อัสสัม ที่ยืนหยัดมาอย่างยาวนานจนถึงวันนี้เป็นเวลา 81 ปี

ความโดดเด่นของแบรนด์ “ชาระมิงค์” คือ การทำชาดำ หรือ black tea ออร์แกนิก แห่งเดียวในประเทศไทย บนพื้นที่ราว 2,000 ไร่ ส่งออก 100% ไปสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย มีมูลค่าตลาดต่อปีราว 100 ล้านบาท อะไรที่ทำให้ชาระมิงค์แข่งขันในตลาดโลกได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “จักริน วังวิวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด เจเนอเรชั่นรุ่นที่ 3 ถึงทิศทางธุรกิจของชาระมิงค์ ภายใต้ข้อจำกัดของการขยายพื้นที่ปลูก และปริมาณชาที่เริ่มน้อยลงในอนาคต

ส่งออก “ชาดำ” ปีละ 100 ล้าน

จักรินเล่าว่า ตลาดชากับตลาดกาแฟไม่เหมือนกัน ตลาดกาแฟค่อนข้างโตมาก ในสัดส่วน 100% ของตลาดชา-กาแฟ เป็นสัดส่วนของตลาดชาเพียง 20% ดังนั้น ชาระมิงค์จึงต้องส่งออกชาดำเป็นหลัก เนื่องจากคนเอเชียไม่นิยมดื่มชาดำ แต่นิยมดื่มชาเขียวเป็นหลัก

ขณะที่ปริมาณผลผลิตชาดำค่อนข้างจำกัด เนื่องจากพื้นที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำ 1A ไม่สามารถขยายการปลูกได้ จึงต้องรักษาอนุรักษ์พื้นที่ปลูกชาเอาไว้ให้ดีที่สุด เป้าหมายการส่งออกชาดำประมาณ 30 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ไปตลาดสหรัฐอเมริกา 80% ยุโรป 15% และเอเชีย 5% มีมูลค่าตลาดประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่ไม่หวือหวา เติบโตอยู่ในระดับ 2-3% ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตชาที่เก็บได้

การทำชาดำของชาระมิงค์ ใช้เทคโนโลยีการทำชาดำแบบอังกฤษ (British Way) ตอบโจทย์ดีมานด์ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ขณะที่เป้าหมายของบริษัทคือ การทำ “ชาออร์แกนิก” 100% เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก ด้วยกระบวนการผสมผสาน (blend) ชาดำแบบ British Way ประกอบกับการมีเรื่องราว (story) ของการทำชาในพื้นที่ป่าภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ (under-shade tree) ในป่าอนุรักษ์ยาวนานถึง 81 ปี

ขณะที่เทคนิคการปลูกชาดำตั้งแต่ยุคบุกเบิกเมื่อปี 2484 ต้นชาจะปลูกเรียงแถวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อรับแสงแรกในแต่ละวัน ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ (under-shade grown) ซึ่งใบชาจะผลิตสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถรักษากลิ่นและรสตามธรรมชาติไว้ได้นาน จึงดึงเอากลิ่นหอมเฉพาะแบบ single origin

ดังนั้น หากมองในแง่การแข่งขันปริมาณผลผลิตหรือพื้นที่การปลูกชากับประเทศอื่น ชาระมิงค์คงสู้ไม่ได้ในแง่ของการขยายพื้นที่และการมีปริมาณของชาในเชิงเปรียบเทียบ เพราะว่าประเทศเวียดนาม ศรีลังกา และอินเดีย

ถือเป็นประเทศคู่แข่งที่ผลิตชา black tea ทั้ง 3 ประเทศมีพื้นที่ปลูกชาใหญ่มาก แต่ชาระมิงค์มีจุดเดียวของการทำชาในพื้นที่นี้ในประเทศไทย เมื่อในเมืองไทยมีเพียงแห่งเดียวในการทำชาดำจึงตอบโจทย์ตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้บริโภคชาดำกลุ่มหลักของตลาดโลก

ชาระมิ้งค์

Gen สุดท้าย “ชาระมิงค์”

จักรินกล่าวต่อว่า ด้วยความเป็นออร์แกนิก ทำให้สามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่บริษัทได้รับสัมปทานได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ขณะที่การส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกชาในปัจจุบันและอนาคตมีข้อจำกัดหลายด้าน

ทั้งเรื่องพื้นที่ ปัจจัยอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความชื้นสูง บริษัทจึงเน้นทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับผู้ที่ทำชาเมี่ยงเดิม หรือชาป่า ส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและมีการสอนตัดแต่งกิ่งชาป่า เพื่อนำส่งเข้าโรงงานชาระมิงค์และชาสยาม เพื่อรักษารายได้ให้คนบนพื้นที่แห่งนี้และรักษาชุมชน

ทั้งนี้ ชาระมิงค์ไม่ได้มีแผนในเรื่องการขยายพื้นที่ปลูก เพื่อให้ได้ปริมาณชามากขึ้น หรือเพื่อให้ได้มูลค่าตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้เป็นหลัก ดังนั้น การรักษาดูแลพื้นที่ไร่ชาเดิมให้ได้คุณภาพดีที่สุด เป็นหัวใจสำคัญและเป้าหมายหลักของบริษัท

“การพัฒนาไร่ชาต่อไปนี้คงลำบาก ขนาดการลงทุนหรือการขยายการลงทุนคงทำไม่ได้อีกแล้ว การรักษาพื้นที่ป่า หรือรักษาพื้นที่การทำชาตอนนี้คงเป็นรุ่นสุดท้ายของเจเนอเรชั่นที่ผมดูแล แม้ว่ามีคนดูแลต่อก็คงลำบาก เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่ในการปลูกมีข้อจำกัด ณ วันนี้ ชาระมิงค์มีพื้นที่ไร่ชาอายุตั้งแต่ 50-80 ปีขึ้นไป ปริมาณการผลิตจะเริ่มน้อยลง”

จักรินกล่าวต่อว่า ตอนนี้การปลูกชาไม่ง่ายเหมือนเดิม ต้องปลูกในพื้นที่สูง ในพื้นที่ป่าไม้ และเรื่องน้ำ ดังนั้นการทำชาอัสสัมเพื่อปลูกในพื้นที่ใหม่ คงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากความสูงของพื้นที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย และอีกประการคือ เรื่องน้ำที่นำมาดูแลต้นชา

จึงต้องรักษาพันธุ์ชาที่คุณประสิทธิ์ พุ่มชูศรี (คุณตา) และคุณนิตย์ วังวิวัฒน์ (คุณพ่อ) ทำให้เป็นออร์แกนิกทั้งหมด คือทำต้นชาให้เป็นสภาพดั้งเดิมเหมือนเป็นชาป่า คือ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใส่สารเคมี ให้ทุกอย่างเดินตามธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าเดิม หรือพื้นที่ป่าเมี่ยงเดิม ให้เป็นพื้นที่ชาป่า การทำชาดำ ณ วันนี้ เราเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ทำชาดำเพื่อส่งออก ส่วนของการทำชาเขียวมีทำบางส่วน

สำหรับพื้นที่ไร่ชาระมิงค์ มีลูกไร่ 3 ชุมชนหลัก คือ ชุมชนบ้านปางห้วยตาด ชุมชนบ้านปางกึ้ด และชุมชนบ้านปางเวียงด้ง โดยมีทั้งคนพื้นเมือง คนลาหู่ และคนพื้นราบ จำนวน 150 คน สภาพของการทำไร่ชาจะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า การทำชาทุกวันนี้เพื่อรักษาผืนป่าให้กับประเทศไทย กับคนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ให้รู้จักว่า อนุรักษ์คืออะไร การทำชาคืออะไร

ชาระมิ้งค์

และการรักษาพื้นที่ป่าคืออะไร ไร่ชาระมิงค์อยู่บนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A จึงไม่สามารถใช้เคมีในการปลูกชาได้ ต้องทำให้เป็นพื้นที่ออร์แกนิกเท่านั้น ทำธุรกิจด้วยธรรมชาติ

โดยได้รับการรับรอง (certified) จากสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งการทำชาออร์แกนิกบนพื้นที่ 2,000 ไร่ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก ต้องมีแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งแรงงานในไร่ชาทั้ง 150 คน ทำงานด้วยความเข้าใจในแง่ของการรักษาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นอาชีพของเขาในระยะยาว

ซึ่งมูลค่าของการทำชาออร์แกนิกจะดีกว่าการทำชาแบบธรรมดาทั่วไป เป็นการส่งเสริมชุมชนให้มีความยั่งยืน เพราะการทำชาถ้าใส่ปุ๋ย ใส่สารเคมีอาจจะมีปริมาณมากกว่าออร์แกนิก แต่เมื่อเป็นออร์แกนิก ครอปจะหายไปไม่ต่ำกว่า 50% แม้ไม่ได้ปริมาณ แต่ได้มูลค่า จึงต้องทำความเข้าใจว่าอะไรคือมูลค่าของสินค้าเกษตรออร์แกนิกจริง ๆ

ทุ่ม 50 ล้าน ผุดโรงงานชาดำ

จักรินกล่าวว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2565 บริษัทได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชาดำ มูลค่า 50 ล้านบาท บนพื้นที่บ้านปางห้วยตาด หมู่ 12 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับ 3 ชุมชนที่เป็นพื้นที่ปลูกชา โดยโรงงานแห่งนี้ดำเนินการภายใต้ บริษัท ชาสยาม จำกัด

ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลการปลูกชา และกระบวนการผลิต ส่วนบริษัท ชาระมิงค์ จำกัด คือ บริษัทที่ทำด้านบรรจุภัณฑ์ โดยโรงงานแห่งใหม่มีกำลังการผลิตชาดำเพิ่มขึ้นถึง 4,000 กิโลกรัมต่อวัน เทียบกับโรงงานเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่เพียง 2,000 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น

สำหรับแผนงานสำคัญในปี 2566 บริษัทเตรียมนำเทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์ (robot arms) เข้ามาใช้ในโรงงานชาสยาม โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องคุณภาพและกระบวนการผลิต ซึ่งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินงานอุตสาหกรรมการผลิตชาดำให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต

ชาระมิ้งค์

โดยบริษัทร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อคิดค้นการนำเทคโนโลยีแขนกลเข้ามาช่วยในการผลิต โดยไม่ซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ต้องการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน ที่สามารถออกแบบแขนกลที่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับการผลิตชาของชาระมิงค์

“แต่การใช้แรงงานจำนวนมากในกระบวนการผลิตยังมีความจำเป็น เนื่องจากเราเป็นอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ เราใช้ชุมชนในการเก็บชาเป็นหลัก เทคโนโลยีแขนกลจะนำมาช่วยในส่วนของการบรรจุ ส่วนคนก็ยังต้องเก็บใบชาด้วยมือ”

ชาทุกต้นในไร่ชาระมิงค์ เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติและเศรษฐกิจ ที่ยังคงรักษาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ไว้ได้ 100% แหล่งผลิตชาดำออร์แกนิกเพียงแห่งเดียวของเมืองไทย ที่แข่งขันได้ในตลาดโลก