กรมควบคุมมลพิษหนุนใช้ Fire D แก้ไฟป่าภาคเหนือ นำร่องที่เชียงใหม่

แก้ไฟป่าภาคเหนือ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนแก้ไฟป่าภาคเหนือ  ด้วยวัตกรรม Fire D นำร่อง 5 อำเภอเชียงใหม่

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบการตัดสินใจ การจัดการไฟในที่โล่ง ด้วยระบบนวัตกรรม Fire D ระดับจังหวัด และท้องถิ่น ณศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า สาเหตุของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยขณะนี้มีหลายปัจจัย มีความแตกต่างไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ โดยยอมรับว่าปีนี้สถานการณ์ฝุ่นควันค่อนข้างน่ากังวล ซึ่งปัจจุบันค่ามลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายพื้นที่

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ มองว่าปัญหาการเผาพื้นที่ป่าหรือไฟป่าในภาคเหนือจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งระบบ Fire D เป็นนวัตกรรมที่ทันสมัย ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการตัดสินใจการจัดการไฟในพื้นที่โล่งด้วยระบบ Fire-D สามารถขยายผลไปในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อป้องกัน แก้ไข ลดปัญหาและบรรเทาผลกระทบฝุ่นควัน PM 2.5 ได้ในระยะยาว

โดยแอปพลิเคชั่น Fire D ถูกออกแบบและคิดค้นโดย ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นระบบจัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชน เพื่อดำเนินการตัดสินใจเวลาเหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน สามารถพยากรณ์อากาศข้างหน้า 3-5 วัน เป็นเครื่องมือที่จะช่วยวางแผนการตัดสินใจการบริหารเชื้อเพลิงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงของหน่วยงานภาครัฐต้องจัดการให้เร็ว รอบคอบและกระชับ โดยมีข้อเสนอประเด็นการกระจาย อำนาจที่ต้องมีความชัดเจน โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลัก อปท.เป็นหน่วยประสาน ส่วนภาครัฐ-ภาคเอกชนเป็นหน่วยสนับสนุน และผลักดันงบประมาณให้ตรงจุด

ด้านสภาองค์กรชุมชน เสนอแนวทางการถ่ายโอนภารกิจด้านการควบคุมไฟป่าให้คณะกรรมการกระจายอำนาจ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้สนับสนุนพื้นที่นำร่อง 12 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่คือ อำเภอแม่แจ่ม แม่ออน จอมทอง แม่วาง และเวียงแหง ให้มีความชัดเจนเรื่องฐานอำนาจ กลไกกระบวนการใช้เครื่องมือบริหารจัดการไฟป่า ผ่านระบบ Fire D

รวมถึงการเชื่อมโยงงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ การถ่ายโอนภารกิจ เพื่อตั้งระบบการสนับสนุนให้มีความชัดเจน รวมถึงการพัฒนาแผนการบริหารจัดการไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชนให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม