ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 4 ปี 2565 เพิ่มทุกระดับ

หาดใหญ่ สงขลา
Photo by Madaree TOHLALA / AFP

ดัชนีความเชื่อมั่น 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 7 ไตรมาส จากกำลังซื้อของประชาชนที่มีมากขึ้น ระบุจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุดอยู่ที่ระดับ 60.39

วันนี้ 9 กุมภาพันธ์ 2566 พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าไตรมาส 4 ปี 2565 สนค. และ ศอ.บต.ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 30,738 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัด

ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวม ไตรมาส 4 ปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้มาอยู่ที่ระดับ 54.57 โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นในรอบ 7 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

โดยมีสาเหตุสำคัญจากการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น เนื่องจากการจ้างงานและรายได้ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานกลางแจ้งได้ โดยเฉพาะการกรีดยางพารา ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงการทำงานอย่างเข้มงวดของฝ่ายรักษาความมั่นคง ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น

แถลง ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาพจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อจำแนกรายจังหวัด ไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ในช่วงเชื่อมั่นทุกจังหวัดและปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดสงขลาที่ปรับลดลงเล็กน้อย โดยจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ระดับ 60.39

สำหรับจังหวัดที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นโดยรวมรองลงมา ได้แก่ จังหวัดสงขลา (ระดับ 55.31) ปัตตานี (ระดับ 53.70) นราธิวาส (ระดับ 53.21) และยะลา (ระดับ 52.84) ตามลำดับ

สำหรับผลการสำรวจปัญหาที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด ยังคงเป็นปัญหาเรื่องค่าครองชีพหรือสินค้าและบริการมีราคาสูงและปัญหารายได้ตกต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ด้านการลดภาระค่าครองชีพ การมีงานทำและรายได้ รวมถึงการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

แถลง ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาพจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

ขณะที่สถานการณ์ด้านภัยธรรมชาติ มลพิษ และความเพียงพอของสินค้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหา

พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต.มุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมถึงการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนภารกิจงานทุกด้าน อาทิ โครงการแก้ปัญหาครัวเรือนยากจน 5 ด้าน

ตามข้อมูล TP Map ได้สนับสนุนจังหวัดในโครงการ “1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน” โดยจัดข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ให้ประจำครัวเรือนที่มีความยากจนเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อประสานงานการแก้ปัญหาให้มีความรวดเร็วและต่อเนื่อง จำนวน 379 ครัวเรือน เพื่อค้นหากลไกการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

การแก้ปัญหาการว่างงานของเยาวชนที่จบการศึกษาใหม่และผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบทางเศรษฐกิจให้ครบวงจรตั้งแต่การผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและกลไกตลาด การแปรรูปโดยเน้นสินค้าฮาลาล การเสริมเสร้างการค้าออนไลน์ (E-Commerce)

โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จากกระทรวงพาณิชย์ในหลายโครงการ เช่น โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) หรือ CEO HALAL ที่มีเป้าหมาย 1,000 คน ในปี 2565 ในภาคบริการระดับฐานรากส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน

ทั้งนี้ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย อาหารการกิน ประเพณีวัฒนธรรม ด้าน Soft Power ที่สามารถสร้างแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย ปัจจุบันได้ส่งเสริมผลักดันให้เกิดชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เข้มแข็งกว่า 30 แห่ง

ทางด้านธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ศอ.บต. ร่วมกับ สสว. ก็ร่วมกันผลักดันธุรกิจเหล่านี้ ให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างครบวงจร

ปัจจุบันสำนักงาน สสว.ได้เปิดให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค 5 จังหวัด ได้ผลักดันการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมืองต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะที่การค้าชายแดนผ่านด่านพรมแดนทั้ง 9 แห่งก็มีการพัฒนายกระดับด่านพรมแดนอย่างต่อเนื่อง ผลการพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้การว่างงานของประชาชนและเยาวชนลดน้อยลง รายได้ต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ