บี้ธปท.ดูแลสภาพคล่องSMEs “หอภูธร” ร้องต่อมาตรการพักหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย

หอการค้ารับลูก หอฯต่างจังหวัดผลักดันภาครัฐ-แบงก์ชาติ ดูแลปัญหาสภาพคล่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั่วประเทศ เผยหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ของ ธปท. ผู้ประกอบการบางกลุ่มยังไม่สามารถชำระหนี้  ภาคเอกชนตราดยื่น 2 ข้อเสนอ แบงก์ชาติต่ออายุมาตรการพักหนี้ พร้อมคงสถานะ “ลูกหนี้ปกติ” ในเครดิตบูโรและยกเว้นค่าธรรมเนียมเงินกู้ใหม่  หอฯอีสานวอนรัฐอุ้มธุรกิจเพื่อไปต่อ ภูเก็ตเผยผู้ประกอบการท่องเที่ยวอีกกว่า 40% ยังไม่ฟื้น

สิ้นสุดพักหนี้ SMEs ป่วน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ประชุมแผนจะฟื้นฟูในเรื่องการท่องเที่ยว ร่วมกับหอการค้าจังหวัดตราด เมื่อช่วงกลาง ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้รับทราบประเด็นปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทางหอการค้าไทยจะนำประเด็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสภาพคล่องผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาไปหารือกับภาครัฐ

โดยเอกชนสะท้อนประเด็นปัญหาว่า ตอนนี้มาตรการเรื่องการพักชำระหนี้กำลังจะสิ้นสุดแล้ว ทางเอกชนต้องไปจ่ายหนี้ก้อนใหญ่คืนให้กับสถาบันการเงิน เพื่อไม่ให้ต้องถูกจัดสถานะในเครดิตบูโร เป็นรหัส 40 แต่หากไม่สามารถคืนเงินกู้ก็จะไม่สามารถกู้ต่อไปได้ หรือหากยืดหนี้จะถูกเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ในลักษณะการปรับ จึงมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง ต้องดูแลเรื่องดอกเบี้ย สร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในเรื่องเงินทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ธนาคารประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดตั้งปี 2563 โดยมีมาตรการพักชำระหนี้ (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) พร้อมกับให้สถาบันการเงินผ่อนปรนให้คงสถานะลูกหนี้เป็น “ลูกหนี้ชั้นปกติ” (รหัส 10) อย่างไรก็ตาม โครงการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดในปี 2566 ทำให้การ “คงสถานะ” ลูกหนี้ชั้นปกติก็สิ้นสุดลงด้วย

ขอต่ออายุ+ยกเว้นค่าฟี

ทญ.วิภา สุเนตร เลขาธิการหอการค้า จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ผู้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ซึ่งสมาชิกหอการค้า จ.ตราด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ตราด สมาคมโรงแรมและรีสอร์ท จ.ตราด ประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน และน่าจะเกิดขึ้นทุกภูมิภาค คือผู้ประกอบการที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือลดชำระเงินต้น แต่เมื่อถึงงวดสุดท้ายที่ครบกำหนดตามสัญญา ต้องชำระหนี้ทั้งหมดเป็นเงินก้อนใหญ่ ทำให้อาจมีปัญหาในการชำระหนี้

ทญ.วิภากล่าวว่า ดังนั้นหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้ ก็จะถูกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ปรับระดับสถานะจากลูกหนี้ปกติ รหัส 10 เป็นลูกหนี้รหัส 40 คือเป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับสินเชื่อเพื่อปิดบัญชี ซึ่งจะติดในสถานะการเงินของผู้ประกอบการถึง 36 เดือน จึงขอให้เครดิตบูโรไม่ปรับสถานะในฐานข้อมูลให้เสียประวัติ และกรณีมีการเจรจากับสถาบันการเงินทำสัญญากู้ใหม่ ขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เสียค่าใช้จ่ายสูงและยุ่งยาก ทั้งนี้ ได้เสนอเป็นมติที่ประชุม กกร.จ.ตราด เพื่อนำเสนอ กรอ.จังหวัด ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

“ในการประชุมร่วมหอการค้าไทยร่วมกับหอการค้า จ.ตราด และหน่วยราชการ เมื่อ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้หอการค้าไทยพิจารณาช่วยผลักดัน 2 เรื่อง คือ การติดเครดิตบูโรและกรณีการทำสัญญากู้ใหม่ให้สถาบันการเงินยกเว้นเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง และมีขั้นตอนยุ่งยาก”

ลูกหนี้เอสเอ็มอียังไม่ฟื้น

ทญ.วิภากล่าวว่า ตอนนี้ลูกหนี้บางรายใกล้ครบสัญญาชำระงวดสุดท้ายที่ขอพักหนี้ไว้ และอีก 3-5 ปีจะมีลูกหนี้ทยอยครบสัญญาเพิ่มขึ้น หากวงเงินกู้ 3 ล้านบาท ถ้าขอพักหนี้ระยะเวลา 2 ปี จะต้องจ่ายเงินงวดสุดท้ายถึงประมาณ 2 ล้านบาท ถ้าชำระไม่ได้จะติดสถานะเครดิตบูโร รหัส 40 ทำให้ผู้ประกอบการเสียประวัติการผ่อนชำระเป็นผลเสียต่อผู้ประกอบการในอนาคต

“ทั้งนี้ทางหอการค้าจังหวัดตราดจะรวบรวมกรณีตัวอย่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาส่งให้หอการค้าไทยเจรจากับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อให้ ธปท.หาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะอีกไม่กี่เดือนจะมีผู้ประกอบการครบกำหนดสัญญาครบ 3 ปีที่ต้องชำระเงินงวดสุดท้าย รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีวงเงินกู้ 500,000 บาท จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน” เลขาธิการหอการค้า จ.ตราดกล่าว

ด้านนายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิดของรัฐบาลโครงการปรับโครงสร้างหนี้ระยะเวลา 3-7 ปี โดยให้ทยอยชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นงวด ๆ ตั้งแต่ปีที่ 1-7 เป็นลักษณะบอลลูน คือเพิ่มจำนวนวงเงินชำระขึ้นเรื่อย ๆ จนครบกำหนดสัญญา ไม่เช่นนั้นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ปี 2566 มีกลุ่มที่ฟื้นตัวผ่อนชำระหนี้ได้ แต่ยังมีกลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ผ่อนชำระไม่ได้ตามงวดและไม่มีเงินก้อนใหญ่มาชำระเมื่อครบสัญญา ต้องปรับโครงสร้างหนี้โดยขยายเวลาชำระหนี้ออกไป

ทำให้ลูกหนี้ถูกปรับสถานะในเครดิตบูโรจากลูกหนี้ปกติ รหัส 10 เป็นรหัส 40 ลูกหนี้ค้างชำระ ตามข้อกำหนดของ ธปท. ปัญหานี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราดได้ทำเวิร์กช็อปเสนอเป็นปัญหาเร่งด่วนเมื่อ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหอการค้าจังหวัดกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด ร่วมกับชมรมธนาคารพาณิชย์ (กกร.) ได้สรุปเป็นมติที่ประชุมเสนอคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดตราด ปลายเดือน ก.พ.นี้ ใน 2 กรณี คือ 1.ขอให้คงสถานะ “ลูกหนี้ชั้นปกติ” เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเสียเครดิต และ 2.การยื่นขอกู้ใหม่กรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา ขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

“ปกติผู้กู้ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สูงประมาณ 2% ของวงเงินกู้ กรณีวงเงินกู้ 10 ล้านบาท จะเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 200,000 บาท และวงเงินกู้อาจลดลงตามมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน” นายสุทธิลักษณ์กล่าว

รวมตัวเรียกร้องผ่าน กรอ.

นายสัคศิษฏ์ มุ่งการ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด กล่าวว่า ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเข้าโครงการพักชำระหนี้ เพราะช่วงโควิด-19 ไม่มีรายได้ 2 ปีเศษ ๆ ซึ่งมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่กู้เงินมากกว่า 50 ล้านบาท โดยทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด และสมาคมโรงแรมและรีสอร์ท จ.ตราด จะรวบรวมผู้ประกอบการที่เดือดร้อน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา คาดว่ามีจำนวนมากพอสมควร ร่วมกับหอการค้า จ.ตราด ช่วยกันผลักดัน โดยใช้มติที่ประชุม กรอ.จังหวัด

เพราะรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มกระเตื้องพอเลี้ยงตัวเองได้ ปี 2566 แนวโน้มรายได้เริ่มฟื้นฟูขึ้นมา แต่ยังไม่พอชำระหนี้ ช่วงโควิด-19 มีรีสอร์ต โรงแรมบางรายปิดกิจการไปบ้าง และตอนนี้มีโรงแรมขนาดใหญ่ประกาศขายกิจการ

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเห็นว่าปัญหาเครดิตบูโร เป็นเรื่องเร่งด่วนจะนำเสนอรัฐบาล Super Fast Track ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้เครดิตบูโรยกเลิกการปรับสถานะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติ เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ ให้หอการค้าจังหวัดตราดและภาคเอกชนเสนอเรื่องเข้า กรอ.จังหวัด เป็นมติของจังหวัด และให้หอการค้า จ.ตราด ส่งรายละเอียดกรณีผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา 2-3 เคส เป็นราย ๆ ที่ชัดเจน เช่น วงเงินกู้ การชำระตามงวด และยอดรวมที่ต้องชำระ และระยะเวลาที่ต้องการผ่อนผันและการทำสัญญาใหม่ต้องการขอผ่อนผันอะไรบ้าง เพื่อให้คณะกรรมการของหอการค้าไทยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอให้หอการค้าไทยช่วยผลักดันให้เร็วขึ้น

แนะรีบติดต่อเจรจาแบงก์

ทางด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งใน จ.ตราด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับสถานะลูกหนี้เป็นของ NCB หรือเครดิตบูโร เป็นไปตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่งต้องส่งรายงานข้อมูลลูกหนี้ทุกเดือนให้ NCB และสถาบันการเงินจะใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบสถานะของลูกหนี้ การยกเว้นเปลี่ยนแปลงการรายงานข้อมูลการปรับสถานะของ NCB เป็นนโยบายของกระทรวงการคลัง การบันทึกข้อมูลสถานะทางการเงินนั้น ข้อมูลจะถูกลบออกในระยะเวลา 36 เดือน ปัญหาการบันทึกสถานะของลูกหนี้ที่จะทำให้เสียประวัตินั้น ลูกหนี้ควรติดต่อผ่อนผันกับสถาบันการเงินก่อนหมดงวดสัญญา

อีสานวอนรัฐอุ้มเพื่อไปต่อ

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับภาคอีสานนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ผู้ประกอบการธุรกิจมีปัญหาเครดิตบูโรค่อนข้างเยอะ หลายคนเข้ามาคุยกับทางหอการค้าและอยากให้เข้าไปช่วยแก้ไข ซึ่งทางหอการค้าเคยคุยกับแบงก์ชาติแล้วเกี่ยวกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางประการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่ก็ยังประเมินไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร

โดยปัญหาเรื่องสถานะลูกหนี้ในเครดิตบูโรส่วนมาก เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก มองได้หลากหลายมุม เพราะวินัยทางการเงินของผู้ประกอบการบางคนไม่มี บางคนมีเงินอยู่ในมือก็ไม่เคลียร์ในทันที หรืออาจจะไม่มีจ่ายจริง ๆ บอกได้ยาก ฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้เป็นระบบมากขึ้น ก็อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยในเชิงปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าทางทฤษฎี เพราะจะสร้างงาน สร้างเงินให้กลับมาได้

แบงก์ไม่ปล่อยกู้

“ภาพทั่วไปตอนนี้ผู้ประกอบการหลายรายยังลำบากอยู่ ในภาคอีสานมีปัญหามากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่ได้เห็นตัวเลข แต่ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งไม่มีเงินมารีโนเวต บางโรงแรมก็ปิดไปเลย และยังไม่กลับมาเปิดทำการ การติดสถานะค้างชำระ ก็เหมือนถูกบล็อกทางการเงิน เหมือนไปหยุดเครื่องจักรไม่ให้ทำงาน ทั้งที่เราแก้ปัญหาได้ดีกว่านั้น ขณะที่การขอสินเชื่อเกิดประโยชน์น้อยมากในความเป็นจริง เพราะถึงอย่างไรธนาคารก็ไม่ยอมให้ ก็อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยในเชิงปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าทางทฤษฎี เพราะจะสร้างงาน สร้างเงินให้กลับมาได้”

ภูเก็ตธุรกิจอีก 40% ยังไม่ฟื้น

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร เจ้าของโรงแรมระดับ 5 ดาว เดอะวิจิตร รีสอร์ท ภูเก็ต ในฐานะรองประธานหอการค้าภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับภูเก็ตตอนนี้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นประมาณ 60-65% และเป็นลักษณะกระจุกยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึง ธุรกิจการท่องเที่ยวกลุ่มที่เป็นปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ในภาพรวมประมาณ 40% ก็ยังไม่มีกำลังจ่ายหนี้กับสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีปัญหาเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในจังหวัดตราด ดังนั้น ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมหอการค้าจังหวัด และนำเสนอไปยังหอการค้าไทย เพื่อให้ช่วยสะท้อนเสียงไปถึงรัฐบาล

“ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น เหมือนมีปัญหาเพียงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังไม่ได้รวมตัวมาเรียกร้องอะไร เพียงเปรยกันไว้ ถ้าดูจากตัวเลขนักท่องเที่ยวสนามบินฟื้นกลับมาแล้ว 60-70% แต่อัตราค่าห้องโดยเฉลี่ยยังอยู่ต่ำกว่าระดับเดิม 10-20% บางโรงแรมยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ แบงก์ชาติต้องลองดูว่าจะสามารถช่วยเหลือรูปแบบไหนได้บ้าง โดยการรีไฟแนซ์ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้หมดปัญหาไปได้ระยะหนึ่งประมาณ 3 ปี ซึ่งหลังจากนั้นก็น่าจะเริ่มเดือดร้อนกันอีก ส่วนที่จ่ายหนี้ไปแล้วส่วนหนึ่งก็จะสบายขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการน่าจะเจรจากับทางธนาคารได้ ฉะนั้นต้องพูดคุยกับธนาคารอย่างจริงใจว่ามีกำลังจ่ายหรือผ่อนผันได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันรัฐบาลก็น่าจะสามารถช่วยเหลือและออกมาตรการเกี่ยวกับการแก้การติดสถานะเครดิตบูโรออกมา เพราะหากไม่มีมาตรการอะไรเลย ผู้ประกอบการก็คงต้องล้มและไม่สามารถรับผิดชอบต้นทุนการเงินที่ไปกู้มาได้ และอาจจะส่งผลในอนาคตทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เลย