ธุรกิจท่องเที่ยว-บริการภูเก็ต 3 พันแห่ง ผนึก 48 สถานศึกษา แก้ขาดแรงงาน

ธุรกิจท่องเที่ยว-บริการ 3 พันแห่งในภูเก็ตผนึก 48 สถานศึกษาทั่วไทย ส่งนักศึกษามาฝึกงาน ทำงานหารายได้ช่วงปิดเทอม แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 1.7 หมื่นคน

วันที่ 12 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจังหวัดภูเก็ตได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือ(MOU)ภายใต้โครงการยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสู่การขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยเรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีฯ

และร่วมลงนามฯ กับ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองประธานมูลนิธิคุณพุ่ม นายชลำ อรรถธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายชริน ธำรงเกียรติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต

นายจรัญ ส่างสาร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้  นายวิทยา เกตุชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต โดยมี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมฯ ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 

เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า จากนโยบายของว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาให้มากขึ้น 50% เป็นนโยบาย Quick Win ของกระทรวงศึกษาธิการ

“ขณะนี้ภาคเอกชนต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพ และฝีมือแรงงานที่มีสมรรถนะสูงจำนวนมาก ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ตรงความต้องการของสถานประกอบการเมื่อจบการศึกษาแล้วผู้เรียนจะสามารถเข้าสู่การทำงานได้ทันที

จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดต้นแบบนำพาสถานศึกษาสถานประกอบการทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่า โมเดล ของภูเก็ต นำร่องให้กับที่อื่น และพัฒนาการผลิตกำลังคนร่วมกันพัฒนาอาชีวศึกษาตอบโจทย์การมีทำงานทำมุ่งให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากหลักสูตรหลากหลายในการนำการเรียนการสอนผลิตนักศึกษากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ การศึกษาทวิภาคี จึงเป็นเป้าหมายผลิตกำลังคนของอาชีวศึกษาจะผลิตคนให้มีความหลากหลายในแต่ละบุคคลให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับพื้นที่ และจะนำโมเดลนี้ไปขับเคลื่อนในจังหวัดอื่นต่อไป” เรืออากาศโท สมพร กล่าว 

นายวิทยา เกตุชู ผู้อำนวยการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน จังหวัดภูเก็ต และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ร่วมหารือถึงปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานกำลังคนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและกำลังคนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ กว่า 30,000 อัตรา 

จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดภูเก็ต จัดหางานจังหวัดภูเก็ต  สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้  ชมรมบริหารงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนกว่า 3,000 แห่งร่วมกันเชิญชวนนักศึกษาในจังหวัดอื่นเข้ามาทำงานมาฝึกประสบการณ์ในจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดอันดามัน

โดยให้สถานศึกษาสามารถส่งนักศึกษามาฝึกประสบการณ์และทำงานหารายได้ในช่วงปิดภาคเรียน เป็นการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยใช้นวัตกรรมทางการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาทั่วประเทศ 48 แห่ง ส่งนักศึกษาเข้าร่วม สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต 

ด้าน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตามที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดภูเก็ต จัดพิธีลงนามฯครั้งนี้นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อพัฒนาแรงงานด้านฝีมือและด้านอาชีพ การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

และเป็นการเตรียมพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน EXPO 2028 เพื่อผลักดันบทบาทของประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือเมดิคัลฮับ เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก5ปีข้างหน้านี้

ด้าน นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ปี 2565 ฟื้นตัวได้ดี  อัตราเข้าพักกลางปี 2565 ประมาณ 40% ปลายปี 2565 70% ขณะที่ปี 2566 ฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด อัตราเข้าพัก ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม เฉลี่ย 88%

ซึ่งก่อนโควิด-19 มีอัตราเข้าพัก 86% แสดงว่ากลับมาเป็นปกติแล้ว ถือว่า ท่องเที่ยวกลับมาดีเกินคาด อีกทั้ง ตลาดจีนเริ่มกลับเข้ามา และตลาดใหม่มีนักท่องเที่ยวจากคาซัคสถาน รวมถึงตลาดเดิมอีกหลายประเทศ ทำให้ต้องการแรงงานจำนวนมาก ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังขาดแคลนประมาณ 17,000คน

การร่วมลงนามครั้งนี้เป็นความร่วมมือภายใต้โครงการยกระดับอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสู่การขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

“ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มอันดามันด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการขณะนี้ ถือว่า อยู่ในขั้นวิกฤตการลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการได้อย่างดียิ่ง  

สถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาซึ่งร่วมลงนามครั้งนี้ ได้มีโอกาสส่งนักศึกษาระบบทวิภาคีมาฝึกงาน ฝึกอาชีพ ร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการของจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มอันดามัน

ซึ่งนักเรียน นักศึกษาจะได้รับทักษะ ประสบการณ์ และสมรรถนะสายตรงตามสายอาชีพ รวมทั้งได้ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อวิชาชีพในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มอันดามัน ซึ่งเมื่อนักเรียนนักศึกษาจบการศึกษาสถานประกอบการอาจพิจารณารับเป็นพนักงานประจำได้ทันที ” นายศึกษิต กล่าว