หมากราคาดิ่ง-สต๊อกอ่วม เมียนมา-อินเดียภาษีโหด

หมาก

พ่อค้าส่งออก “หมาก” กระอัก รัฐบาล “เมียนมา-อินเดีย” เก็บภาษีนำเข้า-ส่งออกผ่านแดนโหด ฉุดราคาตลาดหมากไทยภาคใต้-ตะวันออกดิ่ง เฉพาะ “หมากเขียว” ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ“หมากแห้ง” เหลือ 10-14 บาทต่อ กก. จากปีก่อน 30-40 บาท ขณะที่ตลาดปลายทางอินเดียราคายังสูง เผยพ่อค้าส่งออกไทยรายใหญ่เล็งปรับตัวรับซื้อหมากตามออร์เดอร์ ไม่สต๊อกเหมือนอดีต

แหล่งข่าวจากพ่อค้ารับซื้อหมากแห้งส่งออกในจังหวัดจันทบุรีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้สต๊อกหมากแห้งของปีก่อนไว้ถึง 60 ตัน เพื่อรอขายในปี 2566 ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่ปกติมีพ่อค้าจากเมียนมา อินเดีย ปากีสถานมารับซื้อ ราคาหมากแห้งจะมีราคาสูงประมาณ 70-80 บาทต่อ กก. หรือปีก่อน ๆ เคยขึ้นไปสูงถึง 90 บาทต่อ กก.

สถานการณ์ในปัจจุบันราคาหมากแห้งตกต่ำมาก เรียกได้ว่า “ไม่มีราคา” คือถ้าเป็นหมากเขียว ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ แต่ถ้าหมากแห้งราคาจะถูกเหลือราคาประมาณ 13-14 บาทต่อ กก. จากปี 2565 ราคา 30-40 บาทต่อ กก. โดยพ่อค้าที่มารับซื้อหมากจะไปสต๊อกที่ประเทศเมียนมา ก่อนส่งออกไปประเทศอินเดีย

แจ้งว่ามีการจัดเก็บภาษีเข้มข้นขึ้น ทั้งในประเทศเมียนมาและประเทศอินเดีย ไม่สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้พ่อค้ามารับซื้อน้อยลงมาก และราคาตกต่ำลงมาก และยังต้องรอจังหวะค่าเงินบาทของไทยอ่อนตัวลง เพื่อให้ค่าเงินจ๊าดของเมียนมาสูงขึ้นด้วย

“ส่วนใหญ่จะรับซื้อเพื่อประคองตัวในปีนี้ เพราะในสต๊อกที่ต้องขายไปขาดทุนมาก ซื้อไว้ราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท ขายตอนนี้ราคาไม่ถึง 20 บาทต่อ กก. ขาดทุนกิโลกรัมละ 40-50 บาท พ่อค้าขาประจำหายไปหมด 1 ตู้ 20 ตัน มีพ่อค้าซื้อรวมกันคนละ 4-5 ตัน ไม่ได้มาซื้อปริมาณมากเหมือนก่อน

ปี 2567 จะปรับการซื้อตามออร์เดอร์ เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะไม่แน่ใจตลาด ตอนนี้ซื้อเพื่อประคับประคองลูกค้าไว้ ไม่ได้ซื้อมากเหมือนปีก่อน ๆ ราคา 13-14 บาทต่อ กก.เป็นราคาที่ต่ำสุด ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

นายจิระวัฒน์ ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกณรงค์ หมากไทย จำกัด ผู้ประกอบการรับซื้อหมากรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบันราคาหมากสุกหน้าสวนตกต่ำลงมาก เคลื่อนไหวที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อหมากส่งออกไปยังประเทศเมียนมา ต้องเสียภาษีผ่านแดนที่ประเทศเมียนมาราคาสูงมาก ขณะที่ราคาหมากในประเทศปลายทางคืออินเดียยังเคลื่อนไหวปกติเหมือนทุกปี ประมาณ 80-100 บาทต่อ กก.

“ราคาหมากสุกจากเกษตรกรหน้าสวนต้นทางประมาณ 12-13 บาท เมื่อล้งรับซื้อหมากสุกมาแล้ว จะนำไปผ่าตากแดดให้ได้ความชื้นที่เหมาะสม หลังจากนั้นขายให้ผู้ส่งออก ราคารับซื้อประมาณ 30-35 บาทต่อ กก. เมื่อซื้อมาแล้วผู้ประกอบการล้งจะนำไปผ่านกระบวนการอบความชื้นที่เหมาะสมอีกครั้งก็บรรจุเข้ากระสอบ และส่งออกไปยังกลุ่มพ่อค้าจีนที่อยู่ในประเทศเมียนมา ราคาประมาณ 50-60 บาทต่อ กก.” นายจิระวัฒน์กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โรงงานแปรรูปหมากอ่อนของจีน ทั้งในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ยะลา ได้ปิดตัวเองลงชั่วคราว เนื่องจากผลผลิตหมากอ่อนมีปริมาณน้อยมาก เพราะหากเดินเครื่องตามกำลังการผลิตที่มีสูงจะประสบภาวะขาดทุน โรงงานแปรรูปหมากอ่อน จ.พัทลุง ก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เช่นกัน

มีเพียงแต่พ่อค้าจากประเทศเวียดนามที่ตั้งตู้รับซื้อกับพ่อค้าหมากรายเดิมในพื้นที่ที่ยังคงรับซื้อตามปกติ โดยหมากสุกจะส่งประเทศอินเดีย หมากอ่อนส่งประเทศเวียดนาม และต่อไปยังประเทศจีน

เจ้าของสวนหมากร่วมยางพารา อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาหมากสุกตากแดดประมาณ 3 แดดจนแห้งได้ความชื้นที่เหมาะสม ราคา 12 บาทต่อ กก. หากเทียบกับราคาหมากสุกตากแห้งเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 35 บาทต่อ กก. หรือเท่ากับมีราคาส่วนต่างกันถึง 23 บาทต่อ กก.

แต่หมากถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่มีต้นทุนการผลิต เพราะไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ยากำจัดแมลง ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ รอเพียงหมากสุกร่วงหล่นแล้วเก็บมาผ่ายามว่างของชาวสวน

ทางด้านเจ้าของสวนผสมรายย่อยปลูกทั้งหมาก มังคุด ลองกอง เงาะ ทุเรียน และโกโก้ บ้านควนอินนอโม อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวตรงกันว่า ฤดูกาลหมากเดือนมีนาคม 2566 ราคาต่ำมาก จึงไม่มีการจ้างขึ้นตัดหมากบนต้น เพราะค่าจ้างเก็บหมากราคาประมาณ 5 บาทต่อ กก. ยังต้องนำไปผ่าตากแดดอีก 3 แดดให้แห้ง ราคาเคลื่อนไหวที่ 10-12 บาทต่อ กก. ถือเป็นราคาขายที่ขาดทุน

“ตอนนี้หมากสุกราคาหน้าสวนที่จะซื้อขายกันประมาณ 2 บาท/กก. จะคุ้มทุน”

นายนัน ชูเอียด เจ้าของสวนผสมหมากผสมสละ หมู่ 9 ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ราคาหมากค่อนข้างตกต่ำ และพ่อค้าเข้ามารับซื้อในปริมาณจำกัด แต่ชาวสวนในพื้นที่ภาคใต้ยังมีการปลูกหมากกันอย่างต่อเนื่อง เป็นการปลูกผสมผสานกับพืชตัวอื่น และเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกตัวหนึ่ง

โดยที่สวนของตนปลูกหมากและขายหมากมาประมาณ 14 ปี โดยปลูกจำนวน 3,000 ต้น ทั้งหมากพันธุ์กลม และหมากพันธุ์ตูดแหลม โดยการปลูกหมากปัจจุบันจะมีผู้เข้ามารับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าทำสัญญาคล้ายเกษตรพันธสัญญา เป็นผลดีกับชาวสวนรายย่อย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุตัวเลขการส่งออกหมากไปตลาดสำคัญ 15 อันดับแรกพบว่า การส่งออกหมากในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่า 26.56 ล้านบาท เทียบกับเดือนมกราคม 2565 มีมูลค่า 290.68 ล้านบาท อัตราการขยายตัวติดลบ 90.86%

โดยเฉพาะตลาดหลักเมียนมา ม.ค.66 ส่งออกเพียง 0.55 ล้านบาท เทียบกับ ม.ค.65 ส่งออกไป 211.02 ล้านบาท อัตราการขยายตัวติดลบ 99.74% รองลงมาเป็นตลาดบังกลาเทศ ม.ค.66 ส่งออกไป 9.37 ล้านบาท เทียบกับ ม.ค.65 ส่งออกไป 20.42 ล้านบาท อัตราการขยายตัวติดลบ 54.10%