4,000 โรงแรมเถื่อนเชียงใหม่ จี้แก้ผังเมืองพื้นที่สีเขียว 30%

โรงแรมเถื่อนเชียงใหม่

โรงแรมเถื่อน 4,000 แห่งในเชียงใหม่โวย อยากเข้าระบบกฎหมายแต่ติดปัญหาผังเมือง จี้ผู้ว่าฯเชียงใหม่-อธิบดีโยธาฯปลดล็อกพื้นที่สีเขียว 30% 3 โซนหลัก “เขตเมืองเก่าในคูเมือง-วัดเกต-นิมมานเหมินทร์” สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯเผย ขอแก้กฎหมายมหาดไทย 3 ฉบับเพิ่งทำสำเร็จแค่ฉบับเดียวในรอบ 6 ปี สะดุดกฎหมายอื่นยุ่บยั่บ จี้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการช่วยเหลือด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาโรงแรมขนาดเล็ก 7.1 หมื่นแห่งที่อยู่นอกระบบ หรือโรงแรมเถื่อน เพราะไม่ได้จดทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมอย่างถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาตรการเข้ามาดูแลเพื่อผลักดันให้เข้ามาอยู่ในระบบตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมขนาดเล็ก ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด แต่การแก้ปัญหาก็เป็นไปอย่างล่าช้า

ชุมชนล่ามช้างยื่นหนังสือโยธาฯ

นายวีระวิทย์ แสงจักร ผู้ประกอบการชุมชนล่ามช้าง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเร็ว ๆ นี้ทางอนุกรรมการขับเคลื่อนโรงแรมขนาดเล็ก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยธ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ช่วยปลดล็อกปัญหาผังเมืองที่บังคับใช้กับโรงแรมขนาดเล็ก จนทำให้ไม่สามารถขออนุญาตใบประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายโรงแรมได้

ทั้งนี้ รัฐมีมาตรการนำโรงแรมขนาดเล็กที่อยู่นอกระบบใบอนุญาตโรงแรม ให้เข้ามาจดทะเบียนในระบบกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่ยังติดอุปสรรคข้อกฎหมายจากหลายหน่วยงาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 กรมโยธาฯมีการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สาระสำคัญ แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมปี 2559 เพื่อให้อาคารที่มีการดัดแปลงเป็นโรงแรมก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2559 สามารถนำอาคารดังกล่าวเข้าสู่ระบบการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียด อาทิ ที่ว่างของอาคาร ช่องทางเดินในอาคารความกว้างของบันได ระยะถอยร่นแนวอาคาร ฯลฯ

“ประเด็นคือโรงแรมทั่วประเทศยังไม่ถูกปลดล็อก ไม่สามารถจดทะเบียนโรงแรมได้ เพราะยังติดกฎหมายผังเมือง”

ADVERTISMENT

เชียงใหม่สะดุดพื้นที่สีเขียว 30%

นายอำนาจ ดวงสิงห์ นายกสมาคมที่พักบูติกเชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า แม้ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยมีการปลดล็อกโรงแรมขนาดเล็กในหลายส่วน อาทิ ขยายเวลาในการดัดแปลงอาคารที่ก่อสร้างไว้แล้ว เพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จากเดิมกฎกระทรวงสิ้นสุดวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ขยายให้อีก 1 ปี ไปสิ้นสุดวันที่ 18 สิงหาคม 2568 แทน

รวมถึงร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยอาคารที่พัก ที่มีการละเมิดกฎหมายโดยนำมาใช้ทำโรงแรม สำหรับห้องพักไม่เกิน 8 ห้อง ผู้พัก 30 คน และไม่กำหนดเวลาสิ้นสุดการยื่นใบอนุญาตเข้าระบบ ถือว่าผ่อนคลายในระดับหนึ่ง

ADVERTISMENT

แต่ปรากฏว่ามีรายละเอียดที่เจอปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ติดล็อกกฎหมายผังเมือง ที่กำหนดต้องมีพื้นที่สีเขียว 30% ซึ่งในทางปฏิบัติโรงแรมขนาดเล็กมีข้อจำกัดพื้นที่และสภาพอาคาร

เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นอาคารที่พักอาศัย แต่เจ้าของบ้านนำมาดัดแปลงเป็นโรงแรมขนาดเล็ก สภาพส่วนใหญ่เป็นบ้านเก่าหลังเล็ก ๆ อยู่ในซอยหากจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงแรม จำเป็นต้องรื้อบ้านและสร้างใหม่ให้ถูกกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

โดยผังเมืองรวมเชียงใหม่มีข้อกำหนด พื้นที่ “เขตคูเมืองเชียงใหม่” บังคับการก่อสร้างอาคารต้องมีพื้นที่ว่าง 50% และกันเป็นพื้นที่สีเขียว 30% กับ “โซนวัดเกต” ต้องมีพื้นที่ว่าง 50% เช่นเดียวกับ “โซนนิมมานเหมินทร์” ที่ต้องมีพื้นที่ว่าง 40% ตามขั้นตอน โรงแรมขนาดเล็กต้องยื่นขอใบอนุญาตภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายผังเมืองก่อน จึงจะสามารถขอใบอนุญาตโรงแรมได้

ปัจจุบันโรงแรมขนาดเล็กในเชียงใหม่มี 6,000 แห่ง แต่มีเพียง 600 แห่ง หรือสัดส่วน 10% ที่มีใบอนุญาตโรงแรมถูกต้อง โดยตั้งอยู่ 2 โซนหลักคือ ในเขตเมืองชั้นในที่มีปัญหาผังเมือง 4,000 แห่ง กับโซนรอบนอกเมืองอีก 2,000 แห่ง ซึ่งหลังยุคโควิด เจ้าของโรงแรมขนาดเล็กกลับมาเปิดกิจการตามปกติแล้ว ซึ่งโรงแรมขนาดเล็กทั้งในและนอกระบบ 6,000 แห่ง นับเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ประเมินสร้างรายได้ปีละ 20,000 ล้านบาท

เมื่อเจาะปัญหาผังเมืองลึกลงไปพบว่า ผังเมืองรวมเชียงใหม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำธุรกิจโรงแรมในเขตเมืองชั้นใน จะต้องมีพื้นที่ว่าง 50% และพื้นที่สีเขียว 30% โดยกำหนดเป็น 3 โซนหลักที่โรงแรมขนาดเล็ก หรือโรงแรมเถื่อน 4,000 แห่งกระจายตัวอยู่ ได้แก่ 1.โซนคูเมือง หรือพื้นที่ชั้นในเขตเมืองเก่า 2.โซนย่านวัดเกต 3.โซนนิมมานเหมินทร์

“สมาคมที่พักบูติกเชียงใหม่ ร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก เตรียมขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณายกเว้นอาคารเดิมที่ก่อสร้างก่อนปี 2559 สามารถปรับปรุงพื้นที่สีเขียว ด้วยการเพิ่มกระถางต้นไม้ หรือตกแต่งพื้นที่ด้วยต้นไม้ ได้หรือไม่”

ภูเก็ตติดหล่ม กม.สิ่งแวดล้อม

นายมโนสิทธิ์ แจ้งจบ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโรงแรมขนาดเล็ก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายโรงแรมบูติคทั่วประเทศ ผลักดันแก้ปัญหาโรงแรมขนาดเล็กตั้งแต่ปี 2561 มีกฎหมายต้องปรับปรุงแก้ไข 3 ฉบับ เพิ่งสำเร็จ 1 ฉบับ คือ กฎกระทรวงกรมโยธาฯ ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ปลดล็อกกฎหมายใช้อาคารประเภทอื่นมาจดใบอนุญาตโรงแรม

“อานิสงส์จากกฎกระทรวงนี้ ภาพรวมโรงแรมใหญ่-เล็กทั้งประเทศ 85,000 แห่ง ได้ใบอนุญาตโรงแรมแล้ว 14,000 แห่ง เหลือ 71,000 แห่ง ไม่ได้จดโรงแรม คาดว่ามีโรงแรมขนาดเล็ก 70-80% ที่สามารถทำให้ถูกต้องได้”

มีอีก 2 ฉบับติดขั้นตอนพิจารณาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ 1.กฎหมายกรมการปกครอง สาระสำคัญเกี่ยวกับนิยามที่พักไม่เกิน 8 ห้อง 30 คน 2.กฎหมายกรมโยธาฯ เกี่ยวกับความปลอดภัย และนิยามอาคารประเภทอื่น เช่น เต็นท์ เรือนแพ กระโจม เป็นต้น

สิ่งที่พบคือ นอกจากขอแก้กฎหมาย 3 ฉบับของกรมโยธาฯ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว ยังติดล็อกกฎหมายกระทรวงอื่น เช่น กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 ซึ่งมีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเฉพาะ 9 ฉบับ บังคับโรงแรมที่มีห้องพัก 30-79 ห้อง ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และที่พัก 80 ห้องขึ้นไป ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น ซึ่งอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง