ท่องเที่ยวตราด ปี 2566 รายได้ทะลุหมื่นล้าน หวั่นปัญหาขาดแรงงานมีทักษะ

แรงงาน-ท่องเที่ยวตราด

ท่องเที่ยวตราด คาดการณ์สิ้นปี 2566 รายได้ท่องเที่ยวทะลุ 10,000 ล้านบาท แต่หวั่นช่วงไฮซีซั่น ต.ค. 66-เม.ย. 67 ขาดแรงงานมีทักษะ ด้านผู้ประกอบการจับมือสถาบันการศึกษาหาเด็กมาฝึกงาน ขณะที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 33 ตราดเด้งรับงบประมาณจาก “สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน” ปรับหลักสูตรให้ตรงความต้องการผู้ประกอบการ

นายสัคศิษฎ์ มุ่งการ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้นปี 2566 สถานการณ์ท่องเที่ยวจังหวัดตราดดีขึ้น 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มีรายได้ 9,000 กว่าล้านบาท ช่วงเดือนตุลาคมนี้ที่เริ่มไฮซีซั่นหวังว่า นักท่องเที่ยวยุโรปและจีนจะกลับเข้ามา

แต่ยังต้องรอลุ้นกัน เพราะสภาวะเศรษฐกิจ จีนเองก็มีผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนัก คาดว่าสิ้นปีรายได้ท่องเที่ยวจะแตะ 10,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เท่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีรายได้ 20,000 ล้านบาท

               

โดยเฉพาะเกาะช้างแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดตราด เคยมีรายได้ก่อนโควิด-19 ประมาณ 13,386.66 ล้านบาท หรือ 66% ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตอนนี้จังหวัดตราดมีความพร้อมทั้งโรงแรม ที่พัก แต่ภาคบริการยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ แต่ยังไม่ถึงระดับวิกฤต

โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น เดือนตุลาคม-เมษายน ความต้องการแรงงานมีสูง เช่น ตำแหน่งแม่บ้าน งานในครัว บาร์เทนเดอร์ ทำให้ผู้ประกอบการแย่งตัวกันเสนออัตราค่าจ้างที่สูง 14,000-15,000 บาท/เดือน

ขณะที่โรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งติดต่อโดยตรงกับสถาบันการศึกษา เพื่อนำนักเรียน นักศึกษามาฝึกงานเป็นปี เพื่อช่วยแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง และมีแรงงานในท้องถิ่น รวมถึงแรงงานเด็กนักเรียนลูกหลานของพนักงานมาช่วยช่วงปิดเทอม โดยโรงแรมมีอาหาร ที่พักฟรี และให้ค่าจ้างวันละ 150-200 บาท ส่วนแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่มีทักษะ กลับบ้านช่วงโควิด-19 ยังไม่กลับมา แรงงานที่เข้ามาตอนนี้ก็ไร้ฝีมือ

“แรงงานเด็กที่ผ่านการฝึกอบรมของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานตราด ระยะสั้น 3-6 เดือน จะทดลองทำงาน 3 เดือนก่อนเพื่อดูทักษะ ซึ่งการฝึกอบรมช่วยให้เด็กที่มีวุฒิ ม.3 มีใบรับรองเพื่อรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ 340 บาท เดือนละ 12,000 บาท หากพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้นจะปรับอัตราค่าจ้างสูงขึ้น

หากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ระยะสั้นที่ตรงกับความต้องการของตลาดและเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ จีนด้วย จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และช่วยให้เด็กมีรายได้ มีงานทำ เช่น บาร์เทนเดอร์ การนวดน้ำมัน นวดสปา รายได้ดีประมาณวันละ 800-1,000 บาท” นายสัคศิษฎ์กล่าว

ทางด้าน ทพญ.วิภา สุเนตร ประธานหอการค้า จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) เป็นปัญหาเชิงระบบ คือ 1) ผู้เข้าฝึกอาชีพกับสถาบันต้องเป็นคนไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ขณะที่ จ.ตราดมีเด็กกัมพูชาเข้ามาเรียนจำนวนมาก และมีความต้องการทำงาน

2) หลักสูตรที่เปิดอบรม ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ เพราะเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี แม้จะผ่านการอบรมเป็นแรงงาน เด็กยังมีทักษะไม่เพียงพอ ขาดศักยภาพการทำงาน และ 3) จำนวนเด็กจบ ม.3 ไม่เรียนต่อ ขาดโอกาสเข้าฝึกทักษะอาชีพตามโครงการ ทำให้ขาดการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้

นางสาวพร้อมมงคล วงศ์บุญฟู ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 33 ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถาบันสามารถปรับหลักสูตรเฉพาะตามความต้องการของผู้ประกอบการและความสนใจของเด็ก โดยร่วมกับภาคเอกชนเขียนหลักสูตร training officer พัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมของสถานประกอบการ ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้ร่วมบูรณาการกับโรงแรมโซเนวา คีรี รีสอร์ท อ.เกาะกูด จ.ตราด ทำโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ

โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดทำหลักสูตรพนักงานแม่บ้านของโรงแรม การฝึกอบรมเป็นไปตามระบบการประกันคุณภาพการพัฒนาฝีมือแรงงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และหลักสูตร training officer อบรมหัวหน้างานของสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร

“โรงแรมโซเนวา คีรี รีสอร์ท ผนวกโครงการ SONEVA KIRI INTERNSHIP PROGRAM ให้เด็กที่เข้าร่วมโครงการ เพิ่มเวลาฝึกอบรมจาก 3 เดือน (420 ชั่วโมง) ขยายเป็น 1 ปี เพื่อให้ได้รับความรู้ด้านโรงแรม และภาษาต่างประเทศ และฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการให้ได้มากที่สุด โควตารับสมัคร 5-10 คน ระหว่างการฝึกอบรมมีสวัสดิการ ที่พัก อาหาร การเดินทาง และเบี้ยเลี้ยงคนละ 4,500 บาท/เดือน และหลังฝึกอบรมได้รับการพิจารณาเป็นพนักงานประจำ”

นายสมศักดิ์ สุวรรณจิต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ดำเนินการทั่วประเทศ 76 จังหวัด มาตั้งแต่ปี 2563

โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน มีจำนวนนักเรียนที่สมัครร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ภาพรวมของประเทศ (2563-2566 : ข้อมูล 28 ส.ค. 66) จำนวนนักเรียนที่ฝึกอบรม 4,192 คน จบฝึกอบรม 2,764 คน และมีงานทำ 1,311 คน

“แต่ละปีมีนักเรียนจบ ม.3 ไม่ได้เรียนต่อ เพราะครอบครัวมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ค่าแรงอย่างเก่งไม่เกิน 300 บาท ถ้าร่วมโครงการฝึกอบรม 3-6 เดือน จะได้เรียนฟรี มีที่พัก อาหารฟรี จบแล้วมีงานทำ ระหว่างฝึกอบรมมีเงินกองทุนสงเคราะห์เด็ก จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชดเชยช่วยครอบครัวที่ขาดรายได้ 6,000-8,000 บาท/เดือน

ถ้าพัฒนาทักษะยกระดับฝีมือ อาจได้ถึง 400-450 บาท/วัน แต่ 3-4 ปีที่ผ่านมาผู้ปกครองยังไม่เชื่อมั่นว่าฝึกอบรมแล้วมีงานทำ และไม่ทราบถึงเงินชดเชยที่จะได้รับ ทั้งนี้ คณะกรรมการระดับจังหวัดต้องหาเด็กเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และหาวิธีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรร่วมกับภาคเอกชน และหลังฝึกอบรมให้มีงานทำ 100% เพื่อเป็นแบบอย่างเด็ก ๆ ในปีต่อ ๆ ไป”