ล้งฟันกำไรส่งออก “มังคุดกาก” ปัดตกไซซ์กดซื้อต่ำ-ชาวสวนไม่รู้จีนชอบ

mangosteen

ล้งปกปิดราคา มังคุดกาก-ผิวลาย ทั้ง ๆ ที่ผู้บริโภคจีนนิยมซื้อเห็นว่าเป็น “ของดี ราคาถูก” ตรงกับสภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้น กินมังคุดผิวมันอย่างเดียวไม่ได้ ขณะที่ชาวสวนถูกล้งปิดข้อมูล พร้อมกดราคารับซื้อมังคุดกาก-มังคุดหูแดง ด้วยวิธีการปัดเป็นมังคุดตกไซซ์ รับซื้อราคาต่ำกว่า 60% ทั้ง ๆ ที่ส่งออกไปตลาดจีนขายได้ราคาดีเท่ากัน ทั้งมังคุดมัน-มังคุดกาก ฟันกำไรส่วนต่างทันที กก.ละ 18-20 บาท แนะกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันส่งออกแยกเบอร์ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ

นายธนกฤต เขียวขจี ประธานกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มมังคุดคุณภาพดงกลาง จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มวิสาหกิจกลุ่มมังคุดคุณภาพดงกลาง ซึ่งเป็นผู้รวบรวมผลผลิตมังคุดจากสมาชิกกลุ่มเกษตรกรเพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน ภายใต้แบรนด์ DK กล่าวว่า ตลาดมังคุดในจีน 1-2 ปีมานี้นิยมซื้อขายมังคุดทุกเกรด ทุกไซซ์ เพราะเศรษฐกิจจีนยังไม่ดี ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนจะเลือกซื้อสินค้า “ถูกและดี”

โดยเฉพาะ “มังคุดกาก” หรือมังคุดผิวลาย แม้ผิวภายนอกไม่สวย แต่เนื้อรสชาติดี อร่อยกว่ามังคุดผิวมันเป็นธรรมชาติมากกว่า รวมถึง “มังคุดหูแดง” ซึ่งเป็นมังคุดที่สุกเต็มที่ เนื้อ-รสชาติหวานอร่อยมากเช่นกัน

“ชาวสวนส่วนใหญ่ถึง 90% ยังไม่รู้เรื่องมูลค่าของมังคุดกากที่ตลาดจีนกำลังมีความต้องการสูง ทำให้โรงคัดบรรจุหรือล้งส่งออกไปจีนขายมังคุดกากได้ในราคาเดียวกับมังคุดผิวมัน หูเขียวเกรดส่งออก แต่เวลารับซื้อกับชาวสวนจะถูกล้งกดราคารับซื้อหรือปัดตกไซซ์ให้ราคาต่ำกว่ามังคุดผิวมัน หูเขียวถึง 60% ปกติการซื้อขายมังคุดชาวสวนส่วนใหญ่จะขายแบบง่าย ๆ แยก 2 เบอร์ คือ เบอร์รวมกับตกไซซ์ ซึ่งราคาต่างกันมาก เบอร์รวมผิวมัน หูเขียว ได้ราคา 50-55 มังคุดกาก หูแดง ถูกปัดเป็นมังคุดตกไซซ์ให้ราคา 25 บาท มังคุดกากขนาด 3A หรือ 80 กรัมขึ้นไป ล้งจะรับซื้อด้วย แต่จะคัดเป็นมังคุดตกไซซ์ กดราคารับซื้อเหลือ 18-22 บาท” นายธนกฤตกล่าว

ขณะที่ชาวสวนอีกกลุ่มที่รวมตัวเป็นลักษณะกลุ่มวิสาหกิจจะขายมังคุดได้ราคาดีกว่า เพราะจะให้ล้งมาเสนอราคาประมูลซื้อแข่งกัน เช่น กลุ่มวิสาหกิจที่มีราคาประมูลมังคุดมันขนาด 6A ราคา กก.ละ 74 บาท มังคุดกาก 44.54 บาท หูแดง กก.ละ 54.30บาท จึงถือเป็นข้อเสียเปรียบของชาวสวนเพราะล้งไม่ได้ประกาศรับซื้อมังคุดกากด้วย จะมีเฉพาะในกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีการประมูล

นายธนกฤตกล่าวต่อไปว่า สำหรับการส่งออกมังคุดของกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มมังคุดคุณภาพดงกลาง ปี 2566 ได้ทดลองส่งออกเพียงตู้เดียวไปตลาดจีน ปี 2567 เป็นปีที่ 2 เป้าหมายส่งออกไป 4 มณฑล 13 ตลาด จำนวน 30-60 ตู้ จากเป้าหมายรวม ๆ วางไว้ 90 ตู้ “แต่คงไม่ถึง” เพราะปริมาณมังคุดจะหมดฤดูกาลเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่เปิดทำการระหว่างวันที่ 17 เม.ย.-11 พ.ค. มีการส่งออกมังคุดได้ 8-9 ตู้ จากประสบการณ์เข้าไปคลุกคลีกับชาวสวน การแพ็กจิ้งส่งออก การตลาดปลายทาง มีช่องว่างจากระบบการค้าขายที่เกษตรกรต้องรอเงินช้าถึง 10 วัน เพื่อให้มังคุดขายได้ที่ตลาดปลายทาง

ADVERTISMENT

แต่ปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนให้จ่ายเงิน 70% ให้กับชาวสวนทันทีที่นำผลผลิตมาขาย และอีก 30% รอโอนจ่ายเมื่อมังคุดถึงตลาดปลายทางเพื่อจัดจำหน่าย ทำให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดมีความเชื่อมั่นนำผลผลิตมาขายเป็นจำนวนมาก แม้ในช่วงราคาปกติไม่ใช่ช่วงที่ราคาตกต่ำ ปริมาณที่รับซื้อวันละ 12-13 ตัน

กาก-หูแดงมัดรวมราคาตกไซซ์

ด้านนางสารภี ปิยพงศ์ไพศาล เกษตรกรเจ้าของสวนมังคุด อ.ขลุง จ.จันทบุรี กล่าวว่า “มังคุดกาก-มังคุดหูแดง” ส่งออกตลาดจีนได้มานานแล้ว ราคาทั้ง 2 เบอร์จะสูงกว่าราคาตกไซซ์ แต่ส่วนใหญ่ชาวสวนไม่รู้เพราะพ่อค้าและล้งไม่ได้รับซื้อแยกชัดเจน แต่จะซื้อเบอร์มันรวมกับตกไซซ์เพื่อไปคัดแยกทำกำไร และบางล้งทำเฉพาะผิวมันไม่ทำมังคุดกาก เพราะราคามังคุดกากและมังคุดหูแดงจะสูงกว่าราคาตกไซซ์ เช่น

ADVERTISMENT

มันใหญ่ หูเขียว ราคา กก.ละ 55 บาท มังคุดกากราคาใกล้เคียงกับมังคุดหูแดง กก. 40 บาท ตกไซซ์ 30-33 บาท ชาวสวนมองว่า “เป็นเรื่องของล้ง” ถ้าชาวสวนที่ต่างคนต่างขายจะเห็นความแตกต่างราคาและความเสียเปรียบกับการขายแบบเบอร์มันรวมที่ขึ้น-ลงแต่ละช่วง เช่น มังคุดมันรวม กก.ละ 75-80 บาท ตกไซซ์ 35-40 บาท

“จริง ๆ แล้วชาวสวนส่วนใหญ่ทำมังคุดผิวมัน เพราะขายได้ราคาสูงกว่ามังคุดกาก หูเขียว ถึง กก.ละ 20 บาท แต่ที่มีมังคุดกากเพราะการฉีดพ่นยาใบไม่ทั่วถึงหรือไม่ครบโดส มังคุดกากจึงถือเป็นความผิดพลาดและมีจำนวนไม่มากนัก มีทั้งมังคุดกากหูเขียว-หูแดง กากหูแดงจะส่งไปกัมพูชา เวียดนาม ส่วนมังคุดหูเขียวส่งไปจีนต้องน้ำหนัก 75 กรัมขึ้นไป คือ 3A 4A 5A เช่นเดียวกับหูแดง เป็นเพราะอากาศร้อนสุกเร็วเก็บไม่ทัน มีปริมาณไม่มากเช่นกัน การทำมังคุดกากต้องให้ตลาดมีความชัดเจนก่อน จึงควรตั้งเป้าทำมังคุดกากอย่างจริงจัง ต้องมีตลาดรับซื้ออย่างชัดเจนก่อน ล้งรับซื้อเพิ่มขึ้น ความนิยมการบริโภคมีจำนวนมากพอ ต้องสร้างการรับรู้ในตลาดมากกว่านี้ โดยเฉพาะรสชาติอร่อย ไม่มีปัญหาเนื้อแก้ว ยางไหล เกษตรกรเองได้ลดต้นทุนด้วย” นางสารภีกล่าว

เชียร์คนกินมังคุดกาก

ทางด้าน นายพิพัฒน์ เต็งเศรษฐศักดิ์ ผู้จัดการด้านการตลาดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ (KMK) จ.จันทบุรี กล่าวว่า กลุ่มรับซื้อมังคุดแบบประมูลแยกเป็น 6 เบอร์ คือ มันรวม-กาก-ตกไซซ์-ดำ-แตก-ซันเบิร์น โดยมังคุดกากจะได้ราคาดีรอง ๆ มาจากมันรวม จากราคาวันที่ 12 พ.ค. 67 ราคามันรวม 67.80 บาท มังคุดกาก 59.99 บาท มังคุดตกไซซ์ 35.20 บาท มังคุดดำ 30 บาท มังคุดแตก 16.02 บาท และซันเบิร์น 22.50 บาท ส่วนใหญ่ชาวสวนไม่ได้แยกเบอร์ และล้งผู้รับซื้อก็ไม่ได้แจกแจงให้ทำ ชาวสวนส่วนใหญ่ขายเทมันรวม/ตกไซซ์ เพราะ “ง่าย แต่ราคาต่ำ”

มังคุดกากถูกคัดเป็นตกไซซ์เมื่อต้นทางไม่ได้แยกทำเป็นเบอร์จะเสียเปรียบ ความนิยมของตลาดผู้บริโภคมังคุดกาก ซึ่งจริง ๆ แล้ว รสชาติอร่อย เนื้อจะดีกว่ามันรวม และราคาถูกกว่ามังคุดมันรวม ผิวสวย ตลาดจะขยายตัวได้หรือไม่อยู่ที่คนขาย-คนเชียร์ ถ้าส่งออกมาก ๆ ลูกค้าปลายทางจะรับประทานกันโดยอัตโนมัติ อยู่ที่การโปรโมต

ทั้งนี้ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รายงานปริมาณส่งออกตั้งแต่ 1 ม.ค.-11 พ.ค. จำนวน 3,992 ตู้/ชิปเมนต์ ปริมาณ 73,574.08 ตัน มูลค่า 5,606.52 ล้านบาท ส่วนมังคุดภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ระยอง ข้อมูลรวมปริมาณ 172,077 ตัน (จันทบุรี 125,617 ตัน ระยอง 10,780 ตัน ตราด 35,680 ตัน) โดยผลผลิตเริ่มออกเดือนเมษายน 19.04% หรือ 32,756 ตัน และช่วงที่ผลผลิตกระจาย เดือนพฤษภาคม 41.79% หรือ 71,917 ตัน มิถุนายน 33.48% หรือ 57,619 ตัน และกรกฎาคมเหลือ 5.68% หรือ 9,742 ตัน