หอการค้าชง 3 โซนฟื้นธุรกิจ กรมอุทยานฯเปิดแผนย้ายลิง

MONKEY

หอการค้าภาคกลางชี้โรดแมป เร่งแก้ปัญหาลิงล้นเมือง 4,000 ตัว เป็นรูปธรรมมากสุดในช่วง 10 ปี ย้ำ 3 ฝ่าย “ส่วนราชการจังหวัด-กรมอุทยานฯ-ท้องถิ่น” ร่วมมือจริงจัง คาดใช้เวลา 5 ปี ประชากรลิงลดลง หลังปล่อยเมืองร้างมานานกว่า 20 ปี เปิดไทม์ไลน์แผนย้ายลิง ชง 3 โซนพื้นที่เศรษฐกิจใหม่

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลางเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาลิงลพบุรีที่มองเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดในรอบ 10 ปี

เนื่องจากทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไขอย่างจริงจัง อาทิ 1.ส่วนราชการ กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ว่าราชการจังหวัด 2.หน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาล เพราะเทศบัญญัติการบริหารลิงอยู่ภายใต้การบริหารของเทศบาล และ 3.ประชาชน

ที่ผ่านมายุคก่อน ๆ ให้งบประมาณทำหมันลิง 200-300 ตัว แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาตรงจุด เพราะลิงมี 4,000 ตัว แม่ลิง 1 ตัว ออกลูกได้ 2 คอกต่อปี หรือ 2 ตัวต่อปี การทำหมันจึงไม่สามารถควบคุมประชากรลิงได้

ประเด็นสำคัญคือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งลิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง กรมปศุสัตว์หรือประชาชนก็ไม่สามารถจับลิงได้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯเท่านั้น

ขณะนี้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว เพราะมีการลงนาม MOU ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาลิงในเขตบริเวณเมืองเก่า ระหว่างกรมอุทยานฯ และเทศบาลเมืองลพบุรี เพื่อยกเว้น “ลพบุรี” เป็นพื้นที่นำร่องแก้ไขปัญหาลิง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและสาธารณสุขสามารถเข้ามาจัดการได้ ถือเป็นการปลดล็อกกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาลิงลพบุรี ปี 2566 ระยะสั้น (3 เดือน) คือ 1.สำรวจนับประชากรลิงอย่างเป็นระบบ 2.ทำหมันเพื่อควบคุมประชากรลิงและตรวจโรค 3.ดูแลสุขภาพลิง และป้องกันไม่ให้เกิดโรคอุบัติใหม่ 4.สำรวจที่อยู่อาศัยสิง แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร 5.ฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของลิงให้เหมาะสม กำหนดสถานที่ 6.จัดเวลาให้อาหารลิง 7.จัดทำแหล่งน้ำสำหรับลิง

ระยะกลาง (6 เดือน) คือ 1.จัดหาแหล่งงบประมาณสำหรับลิง เช่น ค่าอาหาร ค่าทำหมัน และตรวจโรค ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ฯลฯ 2.ปรับปรุงระบบการกำจัดขยะ การรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย 3.ดำเนินการด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาลิงและคณะทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาลิงลพบุรี

ADVERTISMENT

“โรงพยาบาลลิงในตอนแรกเราเสนอเป็นสวนลิง สวนนกชัยนาท เพราะรู้ว่าต้องเอาลิงไป 1,000 ตัว ส่วนโรงพยาบาลลิงมี 300-400 ตัว ได้ทดลองจับไปเรื่อย ๆ วันละ 70 ตัว ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อควบคุมปริมาณลิงและคนให้อยู่ร่วมกันได้ จากลิง 4,000 ตัว ต้องเหลือไม่เกิน 300-400 ตัว จำนวนลิงกับพื้นที่ต้องสอดคล้องกัน เช่น เหลือลิงแค่ 300-400 ตัว บริเวณศาลพระกาฬเท่านั้น วางเป้าว่า 5 ปีข้างหน้าประชากรลิงจะไม่เพิ่ม พร้อมลดลงต่อเนื่อง แต่ระยะยาวต้องหาพื้นที่สำหรับเคลื่อนย้ายลิงออกไป เพราะลพบุรีเป็นเมืองร้างมานานกว่า 20 ปีแล้ว” นายธวัชชัยกล่าว

หอการค้าชงแผน ศก. 3 โซน

รายงานข่าวระบุว่า หอการค้าจังหวัดลพบุรีและภาคเอกชนได้เสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 โซนผ่านทางจังหวัด และแผนพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดของภาคเอกชนเมื่อปี 2566 ขอให้หอการค้าจังหวัดนำแผนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)

พื้นที่ 3 โซนคือ 1.วงเวียนศาลพระกาฬ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 2.วงเวียนสระแก้ว มีสถานีขนส่ง เป็นศูนย์กลางแหล่งเศรษฐกิจ ร้านค้า ตลาดสด 3.วงเวียนพระนารายณ์ ออกไปถึงบิ๊กซี เป็นเขตเมืองใหม่ที่กำลังเติบโต พัฒนา และขยายตัว

ปัจจุบันประชาชนย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่วงเวียนสระแก้วและวงเวียนพระนารายณ์ ในฐานะภาคเอกชนและประชาชน เราคิดว่าการแก้ปัญหาลิงลพบุรีที่เริ่มจากการแก้ไขกฎหมายเดินมาถูกทางแล้ว

หากทำตามแผน เราคิดว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ต้องแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คนลพบุรีจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมและแก้ไขผลักดันร่วมกัน ระหว่างส่วนราชการ จังหวัด ท้องถิ่น และประชาชน

“การดำเนินการตามแผนบริหารจัดการลิงต้องมีแผนพัฒนาเมืองและควบคุม โดยเฉพาะในพื้นที่เชิงประวัติศาสตร์ บริเวณพระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ วัดพระศรีรัตนมหาราช วังนารายณ์มหาราช ฯลฯ ถ้าลพบุรีแก้ปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จก็จะเป็นเมืองต้นแบบของการแก้ปัญหาลิงในจังหวัดอื่น ๆ ได้ด้วย เพราะลิงในเมืองลพบุรีถือเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งรอคอยการแก้ไขแบบยั่งยืนมาอย่างยาวนาน” นายธวัชชัยกล่าว

ขอธนารักษ์ลดค่าเช่าตึก

ปัญหาเรื้อรังคือ ตึกบริเวณถนนนารายณ์มหาราชทั้ง 2 ฝั่ง วงเวียนสระแก้ว ก่อนโอนมาเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำนักงานบำรุงทหาร มลฑลทหารบก เป็นผู้เก็บค่าเช่าเดือนละ 400 บาท ไม่ต้องเสียค่าจำนอง ตอนนี้เป็นตึกที่รับโอนจากทหารและเป็นสัญญาเช่า ต้องเสียค่าต่อสัญญา 6 เดือน

การเอาตึกเป็นหลักประกันของธนาคาร ก็เสียค่าจำนองหลักประกัน 0.5% 3 ปี แต่ถ้าเอาตึกไปค้ำประกันปกติ 1% ตลอด 20-30 ปีจนกว่าจะไถ่ถอน แต่ต้องจ่ายเพิ่ม ทั้งค่าต่อสัญญา จำนอง มีสัญญาเช่าเป็นหลักประกัน แต่เป็นภาระของผู้เช่า ทำให้อาคารพาณิชย์ย่านดังกล่าวเริ่มไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เพราะมีต้นทุนสูงขึ้น และยุ่งยากในการต่อสัญญา อีกทั้งไม่ได้กรรมสิทธิ์เหมือนตึกเมืองใหม่ที่เป็นโฉนด

ทำให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจโซนใหม่บริเวณอาคารพาณิชย์ใกล้ห้างบิ๊กซี ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง เนื่องจากบริเวณ 3 วงเวียนบนถนนนารายณ์มหาราช ตั้งแต่วงเวียนศาลพระกาฬ วงเวียนสระแก้ว จนถึงวงเวียนพระนารายณ์ เป็นถนนที่ไม่มีชื่อในโฉนดเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของราชพัสดุ พื้นที่ทหาร และพื้นที่ส่วนราชการ

ซึ่งเป็นปัญหามากในแง่การลงทุน ประชาชนจึงขยายไปพื้นที่เมืองใหม่มากขึ้น เพราะพื้นที่ย่านนั้นเป็นพื้นที่ที่มีโฉนด และมีราคาที่ดินเทียบเท่ากับพื้นที่ในเมือง

ปัจจุบันพื้นที่ของ จ.ลพบุรี มีลิงอยู่ 6 อำเภอ จำนวน 8,584 ตัว อ.เมือง 2,500 ตัว ซึ่งกรมอุทยานฯ ตั้งกองอำนวยการจับเคลื่อนย้ายลิงเมืองเก่าลพบุรี มีแผนเคลื่อนย้ายลิงเข้าศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี เฟสที่ 1 จำนวน 3 กรง เริ่มจับลิงจ่าฝูง ลิงหัวโจก ใช้เวลา 3 วัน ตั้งเป้า 50 ตัว แต่ได้เพียง 23 ตัว จึงต้องยุติการจับชั่วคราว

ไทม์ไลน์ที่ผ่านมา หลังจับลิงหัวโจกแล้วได้มีการจับลิงตามที่ต่าง ๆ 1.จับลิงฝูงพื้นที่โรงแรมเอเชีย และร้านเซ่งเฮง 200 ตัวนำไปใส่กรงที่ 3 ช่วงวันที่ 18-20 เม.ย. 2567 2.จับลิงฝูงด้านหน้าและด้านหลังร้านชโยวานิช 300 ตัว นำไปไว้ในกรงที่ 2 ช่วงเดือน พ.ค. 2567 3.จับลิงฝูงตลาดมโนราห์ 237 ตัว นำไปไว้ในกรงที่ 1 รวม 567 ตัว รวมแล้วได้เคลื่อนย้ายลิงเข้าศูนย์พักพิงโพธิ์เก้าต้นของกรงเฟสแรก 800 ตัว

ส่วนลิงอีก 1,500 ตัว จะรอการก่อสร้างกรงลิงเฟส 2 ของศูนย์พักพิงลิงโพธิ์เก้าต้น หรือบริเวณวัดพระบาทน้ำพุ หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม