เปิดแผนลงทุน 6 แสนล. “นิคมจะนะ” เมืองต้นแบบอุตฯก้าวหน้าแห่งอนาคต

ในที่สุดความพยายามในการดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เพื่อเร่งแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ก็บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม

ศอ.บต.ผนึกเอกชนตั้งนิคมจะนะ

เมื่อรัฐบาลโดย “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” ได้ผนึกกำลังกับ 3 บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ คือ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลป์ไทย หรือทีพีไอ, บมจ.ปตท. โดย บมจ.ไออาร์พีซี ซึ่งมีที่ดินจำนวน 10,800 ไร่ บริเวณ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา มีแนวคิดตรงกันที่จะช่วยกันผลักดันทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดน” เพื่อเชิญชวนนักลงทุนไทย และนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนโครงการต่าง ๆ มูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท ภายในเวลา 5 ปี หรือปี 2565

นำไปสู่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เรื่องการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วยการผลักดันการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อทำเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

โดยมี ศอ.บต.เป็นแม่งานหลัก ใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตรา 10 เรื่องการประกาศเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะ และมาตรา 18 โอนอำนาจการบริหารงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายของหน่วยงานราชการอื่นทั้งหมด มาอยู่ในมือของเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งจะบริหารงานภายใต้ “คณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบ” คล้ายอำนาจการบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รัฐจะสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การออกใบอนุญาตต่าง ๆ ที่สำคัญ นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนที่เหนือชั้นกว่า EEC หลายเท่านัก

TPI-ปตท.-IRPC ดึงต่างชาติ

ความสำเร็จของโครงการส่วนหนึ่งมาจากนายประชัย ซึ่งถือครองที่ดิน 7,000 ไร่ ได้ไปเสนอขายไอเดียให้นายทุนจีน ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางสนใจมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนระบบขนส่งทางราง มูลค่า 4 แสนล้านบาท ในลักษณะบริษัทร่วมลงทุนไทย-จีน เพื่อผลิตป้อนชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ที่จะเชื่อมเข้าไปในมาเลเซีย ทั้งโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมทั้งฝั่งตะวันออก (ECRL) และสายเหนือ

ขณะที่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ซึ่งถือครองที่ดิน 3,000 กว่าไร่ อยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนในประเทศเกาหลี เพื่อลงทุนโครงการพลังงานทางเลือก (energy complex) มูลค่าลงทุน 2.9 แสนล้าน ตามนโยบายที่ภาครัฐวางเป้าหมายกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “แบตเตอรี่โซน” โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการปลูกพืชพลังงานป้อน

เปิดแผนลงทุนเอกชน 6 แสน ล.

แนวทางการพัฒนาเมืองต้นแบบจะเป็นการทำงานของทุกภาคส่วนตามแนวทางสานพลังประชารัฐ โดยแผนการลงทุนจะครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับผลประโยชน์ 100% และห้ามเกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการเตรียมการเรียนการสอนให้ลูกหลานของประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับการศึกษาตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุน

สำหรับแผนการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว พร้อมระบบคมนาคมขนส่งแบบครบวงจร ทั้งนี้ พบว่าศักยภาพในพื้นที่ ต.นาทับ อ.จะนะ มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกได้ โดยที่ปรึกษาได้ดำเนินการออกแบบเบื้องต้นท่าเทียบเรือ เขื่อนกันคลื่น ร่องน้ำทางเดินเรือเข้าออก อาคารประกอบและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ครบครัน แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ วงเงินลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 1 ล้านตู้/ปี แทนการใช้ท่าเรือปีนังของมาเลเซีย

2.การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 อำเภอจะนะ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางและการขนส่งสินค้าเพื่อสามารถรองรับความต้องการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

3.พลังงานไฟฟ้าทางเลือก (energy complex) เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ในอนาคต จึงมีการวางแผนและลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างน้อย 2,813 เมกะวัตต์ โดยเลือกใช้โรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เช่น โรงไฟฟ้าพลังลม จำนวน 800-1,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จำนวน 1,500-2,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1,000-1,500 เมกะวัตต์ โรงงานพลังงานขยะ จำนวน 300-500 เมกะวัตต์ โรงงานไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 300-500 เมกะวัตต์

4.นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาผลิต รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ผ่านทางท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 โดยอุตสาหกรรมหลักที่มีศักยภาพ ได้แก่

4.1 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (2) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (3) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (4) กิจการคมนาคมขนส่งเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร (5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

4.2 อุตสาหกรรมเกษตร ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเลแปรรูป (2) อุตสาหกรรมผลิตสินค้าจากยางพาราและปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร (3) อุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง โรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากข้าว โรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น

4.3 อุตสาหกรรมอื่น ๆ ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (2) อุตสาหกรรมผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า (3) อุตสาหกรรมผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมัน (4) อุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้า (EV car)

4.4 ด้านการบริหารจัดการด้านน้ำ และสิ่งแวดล้อม ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4.5 กองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐเร่งขึ้นฮับขนส่งทางทะเล

ส่วนแผนดำเนินการของรัฐ ประกอบด้วย 9 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 2.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขและที่อยู่อาศัย 3.ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยพัฒนาและการจัดการความรู้ 4.ด้านการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 5.ด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดี 6.ด้านการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 7.ด้านการขับเคลื่อนความร่วมมือการพัฒนากับนานาประเทศ 8.ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 9.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการบริการภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม หากโครงการสำเร็จตามเป้าหมายจะเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ คาดการณ์จะก่อให้เกิดการจ้างงานขึ้นไม่น้อยกว่า 100,000 อัตรา ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการหมุนเวียนของการจ้างงานดังกล่าว มากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี เพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน” และแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการต้องขนตู้คอนเทนเนอร์ผ่านด่านสะเดาไปใช้ท่าเรือปีนัง เนื่องจากไม่มีท่าเรือเพื่อการส่งออก แก้ปัญหาความเสี่ยงด้านพลังงานของภาคใต้อย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถให้เป็นผู้ส่งออกด้านเทคโนโลยีเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งขณะนี้แผนงานทั้งหมดกำลังก้าวหน้า โดยมีการยื่นเรื่องจัดตั้งนิคมไปยัง BOI แล้ว ทั้งภาคเอกชนเตรียมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในช่วง 2 ปีนี้ เพื่อเร่งโครงการให้แล้วเสร็จทันภายในปี 2565 ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จากพื้นที่สีแดงให้กลายเป็น “ศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน” หรือเกตเวย์ที่ 3 ของไทย ในอีกไม่นานเกินรอ

 

BOI ผนึกคลังให้สิทธิสูงสุดแค่ปี’63

สำหรับ 4 มาตรการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย 1.ผู้มีเงินได้ สามารถเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะเงินได้จากการผลิตสินค้า หรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 2.ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ และเมื่อมีรายได้จากการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการเหลือร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิ

3.ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เหลือร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 4.ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเหลือร้อยละ 0.1 รวมถึงให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินเบื้องต้น 25,000 ล้านบาท ไว้ให้ผู้ลงทุนกู้ยืม หากไม่เพียงพอ พร้อมวงเงินเพิ่มให้อีก อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะสิ้นสุดลงในปี 2563