“อัทธ์ พิศาลวานิช” ชงตีตราทุเรียน NO-COVID สร้างเชื่อมั่นตลาดจีน

ทุเรียน
สัมภาษณ์

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้พื้นที่ 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ท่ามกลางความกังวลใจของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้

โดยเฉพาะทุเรียน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง คาดการณ์ผลผลิตเบื้องต้น ปี 2564 ประมาณ 612,876 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 11.42 ที่มีปริมาณ 550,035 ตัน คาดว่าจะสร้างมูลค่าได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวจากตลาดหลัก “จีน” มีความเข้มงวดในการนำเข้าทุเรียนไทยโดยเฉพาะการตรวจเชื้อโควิด-19 ซึ่งทุเรียนภาคตะวันออกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2564 เกษตรกรและผู้ประกอบการมีความหวั่นวิตกกับการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ รศ.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรณีการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนในสถานการณ์โควิด-19 ว่า ไทยควรมีการเตรียมตัวและดำเนินการมาตรการอย่างไร ให้คงรักษาตลาดจีนไว้ได้ ท่ามกลางความหวั่นวิตกทั้งฝ่ายผู้ผลิต และตลาดรับซื้อ

จีนตรวจเข้มทุเรียนไทย

รศ.อัทธ์กล่าวว่า กรณีกระแสข่าวเรื่องปัญหาจีนชะลอการซื้อทุเรียนไทยเพราะเกรงว่าจะมีเชื้อโควิด-19 นั้น จริง ๆ แล้วไม่ถึงกับระงับเรียกว่าตรวจเข้มมากกว่า แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการมีความตื่นตระหนก เพราะปริมาณทุเรียนมีจำนวนมาก

ปีนี้คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นปริมาณใกล้ ๆ 1,000,000 ตัน เพิ่มจากปี 2563 ที่มีปริมาณ 500,000-700,000 ตัน ผลผลิตทุเรียนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก และทุเรียนเป็นผลไม้โปรดักต์แชมเปี้ยนของไทยที่ส่งไปจีน ฮ่องกงถึง 80% ไทยต้องพึ่งตลาดจีนเป็นหลัก ทุเรียนไทยจึงเป็นดัชนีชี้วัดผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย อะไรที่เกี่ยวกับตลาดจีนจึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวส่งผลกระทบถึงไทยมาก

จริง ๆ คือจีนตรวจสอบทุเรียนนำเข้าอย่างเข้มข้น ไม่ถึงกับระงับการนำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องสแกนเชื้อโควิด-19 เพราะการระบาดรอบนี้ไทยมีจำนวนผู้ติดโควิดกว่า 10,000 คน

ไทยเองตรวจเข้มผลไม้นำเข้าเช่นกันจริง ๆ แล้วก่อนที่จะมีสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จีนมีนโยบาย food safety ให้ความสำคัญคุ้มครองผู้บริโภคสินค้าเกษตรเป็นอาหารปลอดภัย ปลายปี 2563 อาหารนำเข้าจากต่างประเทศทุกอย่างรวมทั้งสินค้าที่ส่งทั่วไปและสินค้าออนไลน์ ตรวจเข้ม 3 อย่าง

คือ ตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ ตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ใช่เฉพาะผลไม้ไทย เช่น ตรวจการนำเข้าปลาจากอินโดนีเซีย เนื้อจากบราซิล หมูจากเยอรมนี กุ้งจากเอกวาดอร์ เพราะจีนไม่ได้ปลอดโควิด ที่มณฑลเหอเป่ย์มีติดเชื้อ 200-300 คนต้องคุมเข้มไม่ให้ระบาดออกไปเพราะใกล้กรุงปักกิ่ง

การตรวจเข้มของจีนนี้เป็นการส่งสัญญาณให้ไทยตั้งรับ เพราะไม่ได้เข้มเฉพาะทุเรียนไทย ทำการตรวจเข้มผลไม้นำเข้าทั้งหมด ซึ่งก่อนจะมีโควิด-19 การส่งออกทุเรียน แต่ละสวนทุเรียนต้องมีคุณภาพมาจากแปลงที่ได้รับมาตรฐาน GAP โรงคัดบรรจุที่ได้รับมาตรฐาน GMP ของกรมวิชาการเกษตร

และใบรับรองสุขอนามัยเมื่อมีระบุหมายเลขตู้สินค้า หมายเลขซีลทุกครั้ง ต่อมาเพิ่มเติมให้ไทยส่งหมายเลข GAP และ GMP ขึ้นทะเบียน DOA กับสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) และประกาศขึ้นเว็บไซต์ จึงนำเข้าได้ และฉลากกล่องบรรจุผลไม้ต้องมี code ภาษาไทย ภาษาจีน ระบุหมายเลขทะเบียนสวน หมายเลข DOA ของโรงคัดบรรจุ ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ เมื่อยังมีสถานการณ์โควิด-19 ในไทยต้องตรวจเข้มอยู่แล้ว

ชง 4 มาตรการสร้างความเชื่อมั่น

รศ.ดร.อัทธ์กล่าวต่อไปว่า อีก 2-3 เดือน ทุเรียนภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ระยอง จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากน่าจะเกือบแสนตัน แต่ 3 จังหวัดอยู่ในพื้นที่สีแดงที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดทั้งหมด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดจีนและตลาดต่างประเทศ เห็นว่าควรดำเนินการ 4 มาตรการ

โดยเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้นเริ่มจากมาตรการที่ 1 lock down 3 จังหวัด จันทบุรี ตราด ระยอง เพื่อเคลียร์ สแกนทั้งสวน แปลงทุเรียน โรงคัดบรรจุ และแรงงานที่ใช้ในสวน โรงคัดบรรจุ ขนส่ง ให้ปลอดเชื้อโควิด-19

โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เสริมให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ถ้าจีนยังไม่มั่นใจ ต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นมาตรการ 2-4 ไปเรื่อย ๆ ส่วนมาตรการที่ 2 ติดสติ๊กเกอร์ NO-COVID-19 ที่ลูกทุเรียน ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก ต้องรับรองได้ว่าทุเรียนที่ติดสติ๊กเกอร์ส่งออกไม่มีเชื้อโควิด-19 แน่นอน เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน มาตรการที่ 3 ให้เจ้าหน้าที่จีนเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการผลิต การบรรจุภัณฑ์

และการขนส่งทุเรียนไปจีน และมาตรการที่ 4 ทำประกันโควิด-19 ให้ผู้บริโภคทุเรียน รัฐบาลต้องทำประกันโควิด-19 ให้ หากเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการรับประทานทุเรียนที่มีเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางการแพทย์มีข้อมูลยืนยันหรือไม่ว่าการแพร่เชื้อโควิด-19 จะเข้าไปในเนื้อทุเรียนหรือไม่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

“เพื่อสร้างความมั่นใจ เหลือเวลาเฉียด ๆ 20 วัน ต้องรีบทำ lock down จันทบุรี ตราด ระยอง เพราะเป็นพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่ใช่เพียงแค่วัดอุณหภูมิ เชื่อว่าการตรวจเข้มจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เราต้องเคลียร์ สแกนพื้นที่ให้หมด ค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุก

ตรวจคัดกรองผู้ประกอบการที่ต้องสัมผัสกับการเก็บเกี่ยว บรรจุ ขนส่งทุเรียน ตั้งแต่แรงงานในสวน ในโรงงานคัดบรรจุ เพราะไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อนั้นไม่แน่ใจจะบอกเจ้าหน้าที่ครบหรือไม่ โอกาสผู้ติดเชื้อจะหลุดออกไป และแรงงานส่วนใหญ่เป็นต่างชาติต้องตรวจเข้ม เพราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนมาบ้างและมีปฏิสัมพันธ์กับใครบ้าง

เขาเองไม่รู้ว่าสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือเปล่า เรามีไทม์เฟรมแค่ 20 วัน เพราะถึงฤดูกาลที่ผลไม้ภาคตะวันออก ถ้าทำได้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทุเรียนไทย NO-COVID-19 เป็นโมเดลที่จะทำกับผลไม้ไทยตัวอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับตลาดจีนและต่างประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก” ดร.อัทธ์กล่าว