ไทยอีสเทิร์น ชลบุรี ดึงพันธมิตรต่อยอด BCG เป้า 8 ปี โรงงานยาง-ปาล์ม CO2 เป็นศูนย์

สัมภาษณ์พิเศษ

ในที่สุดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ของรัฐบาลออกมาเป็นรูปธรรม เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระยะเวลา 6 ปี (2565-2570) กรอบงบประมาณ 40,972.60 ล้านบาท

สอดรับการทำงานของ “บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด” หรือ TEGH จ.ชลบุรี ซึ่งได้ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่เกษตรกร ชุมชน พนักงานคู่ค้า และลูกค้าเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจอย่างยั่งยืนมาหลายปี “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “เฉลิม โกกนุทาภรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม TEGH ถึงที่มา แผนปฏิบัติงาน และเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายใน 8 ปี

บุกธุรกิจเกษตรสู่ ศก.ยั่งยืน

ไทยอีสเทิร์น เป็นผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออก และเป็นผู้ผลิตพลังงานชีวภาพแบบครบวงจร มีธุรกิจอยู่ 3 หมวด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมปาล์ม และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

โดยยุคบุกเบิกเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อ 65 ปีก่อนสมัยคุณปู่ และคุณพ่อมีการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ฝ้าย ข้าวโพด ฯลฯ แถว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเริ่มทำโรงงานน้ำตาลทรายแดงเล็ก ๆ หลังจากนั้น คุณสมชาย โกกนุทาภรณ์ ผู้ก่อตั้งไทยอีสเทิร์น ได้ไปดูงานปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันในภาคใต้ จึงเริ่มมาปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน

หลังจากนั้นตั้งโรงงานปาล์มน้ำมันแห่งแรกในภาคตะวันออก ภายใต้ชื่อบริษัท อีสเทิร์น ปาล์ม ออยล์ จำกัด ต่อมาก่อตั้งบริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ผลิตน้ำยางข้น, บริษัท อี.คิว รับเบอร์ จำกัด เป็นโรงงานผลิตยางแท่ง และตั้งบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินโนเวชั่น จำกัด ผลิตยางแท่งเกรดพิเศษ

โดยมีความคิดว่า การตั้งโรงงานในอนาคตควรตั้งอยู่ที่เดียวกัน และใช้ความเข้มแข็งต่อยอดการใช้วัตถุดิบ พลังงานร่วมกันได้ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มสินค้าใหม่ และยื่นขอดำเนินการ “เขตประกอบการอุตสาหกรรม” มีการออกแบบระบบอุตสาหกรรมให้อยู่บนหลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Thai Eastern Symbiosis)

BCG สอดรับหลักพึ่งพากัน

สมัยก่อนคำว่า BCG ยังไม่มี เราเรียกตัวเองว่า Thai Eastern Symbiosis คือ การนำสินค้าเกษตรคือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มาแปรรูปอยู่บริเวณเดียวกัน มีจุดเด่นในการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำทรัพยากรดังกล่าวมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

การจุดประกาย Thai Eastern Symbiosis เริ่มจากส่งงานเข้าประกวดเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517

ตามนโยบายและเป้าหมายของ TEGH โมเดล BCG มี 3 ด้านนำแนวคิดมาจาก 1.ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 2.การบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และ 3.การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยรูปธรรมมีการจัดตั้ง “บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด” ขึ้นมาบริหารจัดการระบบน้ำเสีย สามารถนำน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการนำน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า ป้อนบริษัทในเครือได้ 4 เมกะวัตต์ ทดแทนการซื้อ LPG มาผลิตกระแสไฟฟ้า และกำลังวางแผนจะผลิตเพิ่มในอนาคต

ขณะเดียวกันเครื่องปั่นไฟมีลมร้อนปล่อยทิ้งออกมา สามารถไปใช้อบยางแท่ง ได้ถึง 98% ส่วนโรงงานในเครือที่เคยใช้น้ำมันเตาในการต้มหม้อไอน้ำ ปัจจุบันใช้ไบโอแก๊สทั้งหมด ส่วนกากตะกอนจากระบบบำบัด มีการวิจัยพัฒนานำมาทำสารปรับปรุงดินลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมถึงมีการบริหารงานเรื่องการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ถือเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานไบโอแก๊ส เราถือเป็นโรงงานที่ปฏิบัติได้จริง

นอกจากนี้มีการทำ “เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” หรือ sharing economy โรงงานที่อยู่ในรั้วเดียวกัน ลดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน โรงหนึ่งใช้ไม่ได้ สามารถส่งให้อีกโรงงานหนึ่งได้ เป็นการลดของเสีย และเพิ่มมูลค่า ดังนั้น เขตประกอบการอุตสาหกรรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมให้นักลงทุนมาทำ BCG ร่วมกัน และเกษตรกรที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตจะได้ประโยชน์ BCG เป็นข้อดีต่อระบบเศรษฐกิจทำให้เกิดความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ตั้งไว้ 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย 169 เป้าหมายย่อยที่เชื่อมโยงส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งปัจจุบัน Thai Eastern Symbiosis สามารถสนับสนุนได้ 11 เป้าหมายของ SDGs ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำมีความชัดเจนจะทำให้เราเกิดความยั่งยืน

ผนึกสวนสู่มาตรฐานโลก

ทิศทางการค้าของตลาดโลกในอนาคตมุ่งเน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม TEGH ได้ดำเนินการมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยยางพาราทำอยู่ 2 มาตรฐาน ได้แก่ 1.มาตรฐาน FSC ทำในส่วนมาตรฐานของการทำยางแท่ง มีการจัดการสวนอย่างยั่งยืน 4,462 ไร่ และตั้งเป้าในอีก 5 ปีจะเพิ่มเป็น 50,000 ไร่ 2.มาตรฐาน GOLS ทำในส่วนน้ำยางลาเท็กซ์มาจากแปลงเกษตรอินทรีย์ 6,600 ไร่ อีก 5 ปีจะเพิ่มเป็น 12,000 ไร่ และทำมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (RSPO) 17,004 ไร่ อีก 5 ปีจะเพิ่มเป็น 30,000 ไร่

ซึ่งระบบทั้งหมดทุกปีจะมีผู้ตรวจสอบ (auditor) ว่าปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และการจัดการระบบตรงนี้ทำให้สามารถทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability system) รู้ว่ามาจากสวนไหน ตอนนี้ทำได้ 60%

ปัจจุบันได้รับความร่วมมือที่ดีจากเกษตรกร โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเราจะรับซื้อผลผลิตราคาพิเศษ เช่น สหกรณ์ที่จังหวัดตราดผลิตยางตามมาตรฐาน FSC จะบวกเพิ่มให้ 3 บาทต่อกิโลกรัมจากราคาตลาดทั่วไป โดยไทยอีสเทิร์นได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตยางรถยนต์รายหนึ่ง พร้อมรับซื้อยางแท่งมาตรฐาน FSC แต่มีอีกส่วนหนึ่ง ที่เราเป็นคนจัดตั้ง มีการใช้ผู้ตรวจสอบ (auditor) อันนี้ผมบวกให้พิเศษอีก 1 บาท ส่วนอีก 2 บาทให้เป็นค่าใบรับรองกับบริษัทที่มาร่วมทำกับเรา สุดท้ายแล้วเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้

ปัจจุบัน TEGH มีพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์มทั้งประเทศรวม 28,504,404 ไร่ คิดเป็น 19.10% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งประเทศ มีเครือข่ายเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบ แบ่งเป็นส่งยางพารา 885,040 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 290,726 ไร่ หญ้าเนเปียร์ 10,000 ไร่

นอกจากนี้ TEGH ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ตอนนี้มีเกษตรกรหลายรายมาร่วมเป็นเกษตรแปลงใหญ่ และจะได้ราคาพิเศษตรงนี้

ตั้งเป้า 8 ปีลด CO2 ศูนย์

ตามแผนจัดการ BCG ผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจน สามารถประหยัดการใช้น้ำได้ 55% บริหารจัดการของเสียได้ 98% ด้านพลังงาน สามารถผลิตไบโอแก๊สมาใช้ได้ 98%

ส่วนการใช้ green electicity ปัจจุบันโรงงานใช้ไฟปั่นเอง 60% อีก 40% ซื้อจากการไฟฟ้า การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ 80% ในส่วนของกากตะกอนย่อย เช่น มีเนื้อปาล์ม แต่ก่อนนำไปทำปุ๋ยหมักจะมีกลิ่น แต่ปัจจุบันจัดการได้ 100% นำไปทำไบโอแก๊ส และจัดการของเสียได้หมด ทำให้ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี

ข้อมูลปี 2563 ในส่วนการใช้ไบโอแก๊ส ทดแทน PG ไปได้ 8,400,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 56 ล้านบาทต่อปี ลดการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปได้ 17 ล้านกิโลวัตต์ฮาวมิเตอร์ มูลค่า 60 ล้านบาท ดึงลมร้อน 30% มาใช้ในการอบยาง ทดแทน LPG ไปได้ 2.3 ล้านบาท สามารถนำน้ำมาใช้หมุนเวียน 1 ปี ใช้น้ำ 5 แสนคิว (ถ้าน้ำคิวละ 5 บาท) คิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านบาทต่อปี มีกากตะกอนไปทำสารปรับปรุงดินทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี มูลค่า 2 ล้านบาท

ที่สำคัญไทยอีสเทิร์นปัจจุบันลดการปล่อยคาร์บอนได้ 142,000 ตัน เทียบกับผืนป่า 7,000 ไร่ มีตัวเลขยืนยันจากผู้ตรวจสอบตอนทำเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ และ carbon reduction ตั้งเป้าหมายสำคัญคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 หากทำได้ตามเป้าในอนาคตสินค้าที่ผลิตในเครือไทยอีสเทิร์นส่งออกไปจะไม่โดนกำแพงภาษีคาร์บอน สามารถซื้อขายคาร์บอนได้ ตรงนี้เป็นธุรกิจใหม่ที่ได้ประโยชน์

“ตั้งแต่ปี 2563 โรงงานผลิตยางแท่งของไทยอีสเทิร์นได้รับการยอมรับว่า เป็นโรงงานแห่งเดียวในโลกที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ ต่ำที่สุดในโลก เพราะสามารถผลิตไบโอแก๊สมาทดแทน LPG ในการทำโรงงานยางแท่ง ซึ่งโรงงานอื่นทำไม่ได้ เพราะไม่มีโครงสร้างเหมือนเรา ซึ่งแผนงานทั้งหมดที่ทำได้ส่งประกวดและได้รับรางวัลระดับโลกมากมายการันตี”

ขณะนี้ทางสหภาพยุโรปได้เตรียมนำร่างกฎหมายว่าด้วยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) มาใช้ในปี 2566 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถ้าอนาคตประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนไปผลิตพลังงานสีเขียวมาผลิตไฟได้ 50% ผมคิดว่าต่างชาติน่าจะสนใจมาตั้งโรงงานในประเทศไทย และส่งออกไปจะไม่โดนกำแพงภาษีคาร์บอนที่แพงมาก