“บัวแก้ว” ระดมสมอง APEC สัญจร ครั้งที่ 4 ชู “ขอนแก่น” ฮับเชื่อมอีสาน-GMS

ประชุม APEC ขอนแก่น

การมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างสรรค์โอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เป็นสิ่งที่ “กระทรวงการต่างประเทศ” พยายามผลักดัน ผ่านการจัดงานประชุมระดมสมอง APEC Media Focus Group จากกรุงเทพฯ สู่หัวเมืองหลักในภูมิภาคต่าง ๆ มาแล้วถึง 3 ครั้ง และล่าสุด กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อจัดงาน “Smart City Connectivity” ครั้งที่ 4 นับเป็นโอกาสให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดขอนแก่นได้โชว์ศักยภาพ

“ณัฐภาณุ นพคุณ” รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า APEC Media Focus Group ครั้งที่ 4 ธีมหลักของงานที่ จ.ขอนแก่นครั้งนี้คือ “open connect balance” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ถือเป็นแนวทางสร้างโอกาสใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสร้างสรรค์โอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีสถาบันการศึกษาชั้นนำเป็นจำนวนมาก มีแนวทางการพัฒนาภายใต้แนวคิดขอนแก่น Smart City สอดคล้องกับกรอบของ APEC นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาได้

“เชิดชาย ไช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า APEC พูดถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้มากขึ้น เพราะช่องว่างทางเศรษฐกิจของระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้น ฉะนั้น APEC จึงพยายามพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นตั้งแต่ MSME มาถึง SME การหาแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ และในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ได้พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ตลอดจนบทบาทสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป แน่นอนว่าต้องมี 3 เรื่อง คือ การค้า การลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจ จุดที่เป็นคีย์เวิร์ดคือ การขับเคลื่อนอย่างมีความรับผิดชอบ จะเป็นจุดสำคัญในอนาคต โดยกระทรวงการต่างประเทศมีคีย์สำคัญเป็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนภายใต้กรอบงานของ APEC ให้มีความยั่งยืนสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสภาพัฒน์ ระบุไว้ชัดเจนว่า ภาคอีสานเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และขอนแก่นเหมือนเป็นจุดศูนย์กลางที่สามารถสร้างการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาคได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายรูปแบบเชื่อมโยงได้ทุกภูมิภาค โดยสิ่งสำคัญคือเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคน ภาคอีสานมีทรัพยากร ประชากรและมีพื้นที่การเกษตรมากที่สุดของประเทศไทย มากกว่า 50% แต่การบริหารจัดการจะต้องได้รับการแก้ไขเหมือนกับภาคอื่น ๆ เพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่อไป

ด้าน “ผศ.สิริมนพร ทิพสิงห์” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเน้นไปที่พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เพื่อให้สอดคล้องกับเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่สำคัญ โดยคำว่า Smart City ในความหมายของสหภาพยุโรปคือ เมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและคมนาคมเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่าย และบริการดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อประโยชน์ของประชาชนในทุกธุรกิจ ขณะที่จังหวัดขอนแก่นยังไปไม่ถึงจุดนั้น จึงค่อย ๆ พัฒนาไปในรูปแบบของเรา

“ชาญณรงค์ บูริสตระกูล” ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หัวข้อ Smart City Connectivity เกี่ยวข้องกับจังหวัดขอนแก่นโดยตรง ขอนแก่นเป็นเหมือนศูนย์กลางโลจิสติกส์ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านมีทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นการขนส่งระบบทางราง

โดยรัฐบาลมีแผนที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ MeEC 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ๆ และมีจุดเด่นมากพอให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็ง โดยพื้นที่เป้าหมายจะมีอุตสาหกรรมชีวภาพในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

“เศรษฐกิจของภาคอีสานเปลี่ยนไปมาก ส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออก แต่ยังไม่มีสินค้าแปรรูป เป็นโอกาสดีหากมีการเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วนจะสามารถต่อยอดเพื่อส่งออกได้มากขึ้น เราต้องพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับตัวเองขึ้นไปอีก”

ขณะเดียวกันขอนแก่น Smart City พยายามเชื่อมโยงให้เกิดการลงทุนที่พลิกโฉมเปลี่ยนเมืองในแต่ละด้านได้ เช่น รถไฟฟ้า LRT และอีกหลายโครงการที่ต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนมากพอสมควร

“สง่า สัตนันท์” ผู้จัดการโครงการสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีส่วนเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองขอนแก่นและมีแผนแม่บทเชื่อมโยงกับ APEC ด้วย โดยเน้นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ใช้แหล่งทรัพยากรร่วมกัน อำนวยความสะดวกเรื่องการค้าและการลงทุนแบบ open connect balance ทั้งด้านขนส่ง การเกษตร การค้า การลงทุน ทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อม พลังงาน โครงข่ายสื่อสาร ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับ Smart City

ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองกับเอเปคมีเป้าหมายส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นประชาคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในประเด็นหลักของความร่วมมือในกรอบเอเปคปัจจุบัน ส่วนแผนพัฒนาขอนแก่นไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านความเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง-ขอนแก่นโมเดล โดยสร้างสมาร์ทซิตี้เพื่อธุรกิจที่อยู่รอบด้าน

นอกจากนี้ขอนแก่นยังเป็นศูนย์รวมธุรกรรมในภาคอีสาน ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้า โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำได้