อากะ AKA เด้งรับปิ้งย่างชาบูฮิต ปูพรมสาขาหวังโกยพันล้าน

AKA shabu

“เซ็น คอร์ปอเรชั่น” เข็นแบรนด์อากะ เรือธงรุกตลาดรับโอกาสกระแสชาบู สุกี้โตแรง ประกาศเร่งขยายสาขาอีก 15 แห่ง เน้นพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งลงทุนเอง-แฟรนไชส์ พร้อมแตกไลน์ “อากะชาบู” บุฟเฟต์ D.I.Y. ประเดิม 2 สาขา เจาะวัยทำงาน ตั้งเป้าปีนี้อากะโกย 900 ล้าน ปีหน้าทะลุพันล้าน

นายปรีด์ สุวิมลธีระบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในไทย มีมูลค่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ และมีโอกาสในการสร้างการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะร้านอาหารประเภทปิ้งย่างและชาบู ที่มีมูลค่ารวม ๆ กันแล้ว 32,000 ล้านบาท โดยครึ่งแรกกลับมาเติบโต 8%

ปรีด์ สุวิมลธีระบุตร-AKA shabu

นช่วงหลังจากโควิดคลี่คลาย พฤติกรรมลูกค้าหันมาเน้นความคุ้มค่า และมีความต้องการบริการร้านอาหารบุฟเฟต์มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันตลาดก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ ดังนั้นจึงต้องสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค

จากโอกาสดังกล่าว บริษัทเล็งเห็นการเติบโตในทั้งตลาดปิ้งย่างและชาบู จึงให้ความสำคัญกับการขยายสาขาแบรนด์ “อากะ ยากินิกุบุฟเฟต์” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สร้างยอดขายอันดับ 2 ของบริษัท เบื้องต้นใช้งบฯลงทุน 130 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสาขาประมาณ 15 แห่ง ภายในสิ้นปี ในครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 7 สาขา ซึ่งจะเน้นขยายไปในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ในรูปแบบร้านไซซ์เล็ก จากเดิมที่ร้านจะมีขนาด 200-300 ตารางเมตร ควบคู่กับการรีโนเวตร้านให้ทันสมัย โดยอยู่ในรูปแบบการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์

ขณะเดียวกัน ยังได้ต่อยอดเปิดโมเดล “อากะชาบู” สำหรับเข้ามาช่วยเสริมพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจกลุ่มร้านอาหารในเครือ มุ่งให้บริการในรูปแบบบุฟเฟต์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ D.I.Y. Buffet ชูจุดขายราคาที่จับต้องได้ เริ่มต้น 399-999 บาท มีหลากหลายเมนูกว่า 100 รายการ มาพร้อมน้ำซุป 5 แบบ เน้นจับกลุ่มวัยทำงานที่มาเป็นกลุ่ม และมีบริการหม้อเดียว สำหรับมาคนเดียว เปิดให้บริการสาขาแรกที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และในไตรมาส 4 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา

ทั้งนี้ ปัจจัยที่บริษัทเลือกขยายธุรกิจประเภทชาบู เนื่องจากตลาดมีดีมานด์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีความสอดคล้องและใกล้เคียงกับธุรกิจเดิมที่เป็น D.I.Y. อยู่แล้ว อีกทั้งยังเจออุปสรรค ทั้งในแง่ของต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นมา 7% ของภาพรวมทั้งหมด จึงต้องบริหารเรื่องวอลุ่ม

ด้วยการพยายาม integrate แบรนด์ต่าง ๆ ให้ใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งเดียวกัน และอาจจะต้องไป sourcing จากซัพพลายเออร์หลาย ๆ ราย และอาจมีปรับเพิ่มราคาในบางรายการ เชื่อว่าผู้บริโภคยังเข้าถึงได้ รวมไปถึงเรื่องค่าแรงที่กำลังจะปรับเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการบริหารจัดการ

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดของทั้งอากะ และอากะชาบู จะให้น้ำหนักกับการสร้างแบรนด์ โปรโมตสื่อสารแบรนด์ผ่านช่องทางออนไลน์และหน้าร้าน เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและเข้าถึงได้ครอบคลุม ปัจจุบันอากะเปิดให้บริการทั้งหมด 32 สาขา

โดยทุก ๆ สาขาได้นำเทคโนโลยีระบบ self-ordering และ AKA robot เข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหารได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบรนด์ใหม่ในเครือ ได้แก่ เซ็น, ออนเดอะเทเบิล, เขียง เป็นต้น รวมไปถึงการขยายสาขาแบรนด์อื่น ๆ ควบคู่กับการศึกษาเทรนด์ใหม่ ๆ และปรับเปลี่ยนให้ทันตามความต้องการของผู้บริโภค


อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ยังอยู่บนความไม่แน่นอน ต้องระมัดระวังการลงทุน และต้องรีวิวแผนงานอยู่เป็นระยะ ๆ โดยปี 2565 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเฉพาะในส่วนของแบรนด์อากะไว้ประมาณ 900 ล้านบาท หรือมีการเติบโตมากกว่า 60% โดยหลัก ๆ จะมาจากกลยุทธ์การขยายสาขาดังกล่าว นอกจากนี้ ยังคาดว่าอากะจะเป็นอีกแบรนด์หนึ่งของกลุ่มเซ็นที่มียอดขายมากกว่า 1,000 ล้านบาทในปี 2566