2023 ปีทอง “เดอะมอลล์” ผงาด 3 ศูนย์การค้ายักษ์

ศุภลักษณ์ อัมพุช

ปีหน้า (2566) จะเป็นปีทองเดอะมอลล์ กรุ๊ป” คุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษอีกครั้ง

“ปีหน้า เราจะเปิดรวดเดียว 3 สาขา ในทำเลที่แตกต่าง พื้นที่รวมกันเกือบ ๆ ล้านตารางเมตร”

เรียกว่าเปิดเกมรุกอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจาก ดิ เอ็มสเฟียร์ ที่เพิ่งจัดงานเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเติมเต็ม ดิ เอ็ม ควอเทียร์ และดิ เอ็มโพเรียมที่มีอยู่เดิม เพิ่มมิติธุรกิจการค้าในอนาคต ยกระดับให้เป็นย่านการค้า ภายใต้ชื่อ “ดิ เอ็มดิสทริค” ที่สมบูรณ์แบบ บนถนนสุขุมวิท

อีก 2 แห่งคือ เดอะมอลล์ บางกะปิ และบางแค ที่จะรีโนเวตใหม่ทั้งหมด เป็นศูนย์การค้าครบวงจร mega all-in-one retail & entertainment project พื้นที่รวมกว่า 700,000 ตารางเมตร (บางกะปิ 350,000 ตารางเมตร, บางแค 350,000 ตารางเมตร)

เปิด 3 ศูนย์ บูม ศก.ประเทศ

“วิชั่นตรงนี้มีมาแล้วหลายปี เราก็รอมานาน แต่ติดที่สัญญาผู้เช่าภายในศูนย์ เพราะเราต้องการรื้อทุกอย่างเหมือนตอนรีโนเวตเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ซึ่งทำแล้วประสบความสำเร็จสูงมาก ได้รับรางวัลใหญ่ระดับทวีปถึง 4 รางวัล ไม่มีใครทำได้แบบนี้มาก่อน”

“พอเรารีโนเวต เดอะมอลล์ งามวงศ์วานเสร็จ คนไปเดินที่นั่นบอก ‘คงไม่ต้องไปช็อปในเมืองอีกแล้วมั้ง’ เพราะว่าของเรามีครบเกือบทุกอย่าง ยกเว้นพวกแบรนด์เนม หรือลักเซอรี่ แต่ถ้าเป็นสินค้าอย่างอื่นมันครบวงจรหมด”

ด้วยงบประมาณถึง 20,000 ล้านบาท ทั้ง 2 สาขา จะเป็นแฟลกชิปสโตร์ของเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สมบูรณ์แบบและยิ่งใหญ่ที่สุดในย่านบางกะปิ และย่านบางแค ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพการเติบโตดีที่สุดของกรุงเทพฯ

หลังจากเมื่อ 30 ปีก่อน เราเคยเปิด เดอะมอลล์ บางกะปิ และบางแค ในวันเดียวกันมาก่อน ทั้ง 3 ศูนย์การค้าจะเปิดบริการในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปี

“ปลายปีเป็นช่วงการจับจ่ายสำคัญ อีกทั้งการเดินทางนักท่องเที่ยวจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งจีน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นน่าจะผ่อนคลายเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวจะมากกว่าปีนี้อย่างแน่นอน รวมทั้งหวังว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าในปีหน้าน่าจะเรียบร้อย การเปิดทั้ง 3 ศูนย์การค้าในเวลานั้นจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างมาก”

ยกระดับทุกมิติ

คุณแอ๊วอธิบายให้ฟังว่า “A Happy Place To Live Life : ชีวิตที่มีความสุขทุกครอบครัว” จะเป็นคอนเซ็ปต์หลักของเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ รีเทลมิติใหม่ ภายใต้ 3 องค์ประกอบหลัก

urban ยกระดับความครบครันทันสมัย เสมือนยกห้างพารากอนมาไว้ ปรับโฉมใหม่ทุกพื้นที่ ทุกมิติ มีแพลตฟอร์มสถานีเชื่อมตรงจากสถานีรถไฟฟ้าเข้าสู่ตัวตึกทั้ง 2 สาขา

ในส่วนห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าจะถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันแบบลงตัวไร้รอยต่อ เป็น seamless shopping experience อย่างแท้จริง

ทั้ง 2 แห่งจะตอบโจทย์คำว่า life รวบรวมรูปแบบของความสุขในการใช้ชีวิตที่หลากหลาย จากแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึง concept ใหม่ ๆ ของแต่ละร้านค้า ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่หลากหลาย มอบประสบการณ์ใหม่ ๆ มอบความสุข ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

ขณะที่การออกแบบจะให้ความสำคัญกับ nature ดึงธรรมชาติ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 เพื่อการพักผ่อนและสันทนาการ

“คาดว่าหลังการรีโนเวตผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนบางแคซึ่งมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินผ่านจะเพิ่มได้อย่างน้อย 30%”

เล่นเฉพาะสนามใหญ่

“เรามีวิชั่นแบบนี้มานานแล้ว ทุกโปรเจ็กต์ของเราเป็น strategic location หมด บางแค บางกะปิ บางนา เอ็มดิสทริค สยามพารากอน ทำเลไม่ดีไม่ทำ เล็ก ๆ ก็ไม่อยากทำ เราจะแข่งเฉพาะสนามใหญ่ ๆ เท่านั้น”

“กลยุทธ์ของเราชัดเจนว่า คือ capital city เราจะไม่เล่นสนามเล็ก เราจะเล่นเฉพาะสนามใหญ่ ทำเลต้องใช่จริง ๆ ซึ่งทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์ทำเลที่มีศักยภาพการเติบโตที่สำคัญ”

เดอะมอลล์ บางกะปิ มีรถไฟฟ้าถึง 3 สาย (สีเหลือง, ส้ม และน้ำตาล ) มารวมกัน ไม่มีที่ไหนมีแบบเราอีกแล้ว ย่านนี้ยังมีคนอาศัยหนาแน่นที่สุด

พอมีรถไฟฟ้าทำให้การเดินทางเชื่อมต่อถึงกันหมด จากลาดพร้าว บางกะปิ มีนบุรี ศรีนครินทร์

สมัยก่อนเดอะมอลล์ คือห้างชานเมือง แต่ตอนนี้กลายเป็นในเมืองไปแล้ว เป็นพื้นที่ที่เป็นวงในของ capital city แม้จะยังไม่ถึงขั้น down town แต่มั่นใจในกำลังซื้อที่มีมหาศาล

ทุกโปรเจ็กต์ยังต้องมี project composition ที่ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์แบบ ย้อนกลับไปดูเอ็มดิสทริคที่เปิดตัวไป ไม่ได้มีแค่ร้านค้า ยังมีอารีน่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เป็นองค์ประกอบที่คนอื่นไม่มี หรือแตกต่างจากคนอื่น แต่กับบางกะปิ และบางแค คือ real lifestyle กินลูกค้าทุกกลุ่ม ขาดอย่างเดียวคือ ลักเซอรี่แบรนด์

กำลังซื้อกลับมาแล้ว

“ในภาพรวมปีนี้ เดอะมอลล์กรุ๊ปน่าจะทำยอดขายรวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เท่า ๆ ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด”

“จริง ๆ ตอนต้นปี มกราคมถึงเมษายน (2565) ก็ยังไม่ดี เพิ่งมาเริ่มดีตอนประมาณมิถุนายน กรกฎาคม ส่วนเดือนนี้ซึ่งมีการประชุมเอเปค ยอดพุ่งขึ้นมาสูงมาก ตัวเลขผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ ดิ เอ็มควอเทียร์ ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว”

“คนในเมืองชอบออกนอกบ้านมาแฮงเอาต์ตามที่ต่าง ๆ ใครจะอยู่แต่ในคอนโดฯทั้งวัน เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ใครที่บอกว่าศูนย์การค้ากำลังจะตาย จะอยู่ไม่ได้ มันไม่จริง แต่ถ้าบ้านอยู่ชานเมือง มันก็โอเค”

ความตื่นตัวว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ทำให้ยอดขายพื้นที่ทั้งเดอะมอลล์ บางกะปิ และรามคำแหง รวมทั้งดิ เอ็มสเฟียร์ ได้รับความสนใจสูงมาก

“ตอนนี้พื้นที่ที่มีไม่พอขาย ทุกคนอยากได้พื้นที่ใหญ่กว่าเดิม”

“อันนี้อาจเป็นความโชคดีของเราด้วย การที่โครงการต่าง ๆ ดีเลย์ออกมาโดยที่เราไม่ตั้งใจ จากการปรับแบบ จากองค์ประกอบต่าง ๆ กลายเป็นเราเปิดขายพื้นที่ในช่วงที่ถูกจังหวะ”

นอกจากเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิและบางแคที่ใช้งบฯลงทุน 20,000 ล้าน เตรียมใช้เงินอีก 15,000 ล้านกับเอ็ม ดิสทริค และสยามพารากอน อีก 5,000 ล้าน ทำให้งบฯลงทุนรวมในปีหน้ารวม 40,000 ล้าน

ดึง “เจริญ-ซี.พี.” บูมบางกะปิ

สำหรับเดอะมอลล์ บางกะปิ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้เจรจากับกลุ่ม AWC ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีโครงการตะวันนาอยู่ใกล้ ๆ และแม็คโคร ของกลุ่ม ซี.พี. เพื่อสร้างย่านการค้าให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ ดิ เอ็มดิสทริค

“เดอะมอลล์ ตะวันนา และแม็คโคร เชื่อมต่อกันอยู่แล้ว ของเรา 50 ไร่ ตะวันนาอีก 20 ไร่ ยังมีของแม็คโครอีก ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มมีการคุยกันบ้างที่จะร่วมมือกัน ซึ่งอาจเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจ joint กัน หรือ collaborate กัน จากที่ผ่านมาลูกค้าของตะวันนา และแม็คโคร มาใช้บริการ หรือจอดรถที่เดอะมอลล์ บางกะปิอยู่แล้ว”

“ด้านหน้าเรามีสถานีรถไฟฟ้าร่วมกัน ด้านหลังมีท่าเรือแสนแสบ มีคนใช้บริการวันละเป็นหมื่น ต่อไปที่นี่จะเจริญมาก ทำไมเราถึงจะไม่ทำอะไรร่วมกัน”

เดินหน้า บางกอกมอลล์-รามฯ

นอกเหนือจาก 3 ศูนย์การค้าที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปลายปี 2566 ที่จะถึงนี้ กับโครงการอื่น ๆ ในมือเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีความคืบหน้าเช่นกัน

“ดิ เอ็มดิสทริค ซึ่งมี ดิ เอ็มสเฟียร์ เป็นจิ๊กซอว์สุดท้าย จะเปิดปลายปี 2023 (2566) พร้อมกับเดอะมอลล์ บางกะปิ และบางแค ส่วนแบงค็อก มอลล์ ตรงข้ามไบเทค บางนา ประมาณปี 2025 (2568) ขณะที่เดอะมอลล์ รามคำแหง อาจต้องรอให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเสร็จเรียบร้อย เขาเปิดเมื่อไหร่เราก็ทำตอนนั้น เพราะอย่างมากก่อสร้าง 2 ปีก็เสร็จแล้ว”

ความเชื่อมั่นสำคัญที่สุด

“จำได้ถึงวันที่เราสร้าง เดอะมอลล์ ราชดำริ เป็นอะไรที่เล็กมาก เราก็เลยไปรามคำแหง ไปบุกตลาดใหม่ และเราก็เอาชนะคู่แข่ง ที่เราชนะเพราะโฟกัส และ concentrate”

“จากนั้นก็มาท่าพระ ตอนนั้นยังไม่มีใครไปฝั่งธนบุรี เราไปเปิดย่านนั้น แล้วเราก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เสร็จแล้วเราก็มางามวงศ์วาน บางกะปิ บางแค ที่เปิดในวันเดียวกัน แล้วเราก็กระโดดเข้ามาทำไฮเอนด์กับเอ็มโพเรียม และไปโคราช ก่อนจะมาพารากอน เราประสบความสำเร็จทุกที่”

คือแอ๊วเปิดโครงการไหน ความเชื่อมั่นคือสำคัญที่สุด คนจะเชื่อใน vision ใน passion และ strategy ของเรา เป็น confident and trust

เรากำลังจะทำสิ่งนี้อีกครั้ง