บัดดี้มาร์ท ปูพรมเจาะอีสาน ชูครบเครื่อง-อาหารสดจูงใจร้านโชห่วย

เอกพล คูสุวรรณ

สยามแม็คโคร เร่งสปีดขยายโครงการบัดดี้มาร์ทรับเศรษฐกิจดีดกลับ กางโรดแมปปูพรมเจาะอีสาน โฟกัสโชห่วย-ค้าปลีกรายย่อยสมาชิกแม็คโคร เผยร้านค้าที่เปลี่ยนป้ายแล้วทราฟฟิกพุ่ง-ยอดขายต่อบิลเพิ่ม เฉลี่ย 30-40% พร้อมชูอาหารสดสร้างความแตกต่างบริการในชุมชน

นายเอกพล คูสุวรรณ ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเปิดโครงการบัดดี้มาร์ทอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญของบัดดี้มาร์ทในปีนี้ หลัก ๆ จะยังมุ่งเน้นการขยายผลของโครงการบัดดี้มาร์ทที่ยังยึดถือวิสัยทัศน์เดิม ที่ต้องการจะช่วยพัฒนาและยกระดับร้านโชห่วยร้านค้าปลีกรายย่อยที่เป็นสมาชิกของแม็คโคร เนื่องจากร้านค้าเหล่านี้เรารู้จักกันอยู่แล้ว และต้องการจะสร้างการเติบโตไปด้วยกัน

“พูดง่าย ๆ ว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเราจะเน้นและจะขยายไปด้วยกัน ก็คือกลุ่มลูกค้าฐานสมาชิกโชห่วยของแม็คโครที่รู้จักกันแล้ว ซื้อสินค้าจากแม็คโครมากหรือซื้อน้อยไม่ได้ว่ากัน หรือหากร้านค้าปลีก ร้านโชห่วยอื่น ๆ ที่สนใจและต้องการจะเข้าร่วมโครงการกับบัดดี้ หรือต้องการจะให้บัดดี้มาร์ทเข้าช่วยเหลือบริษัทก็ยินดี”

เปิดเกมเจาะ “อีสาน”

ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ทยังระบุด้วยว่า นอกเหนือจากการขยายโครงการไปยังกลุ่มร้านโชห่วยดังกล่าวแล้ว ในเชิงของพื้นที่ บริษัทต้องการจะมุ่งไปที่พื้นที่ภาคอีสานเป็นสำคัญ เนื่องจากภาคอีสานมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ค่อนข้างกว้างใหญ่และเป็นพื้นที่ราบ และมีชุมชนขยายตัวในวงกว้าง ขณะเดียวกันอีสานยังเป็นพื้นที่ที่จำนวนของร้านค้าและประชากรเป็นจำนวนมาก

ตารางบัดดี้มาร์ท

สำหรับภาคอีสานในแง่ของภูมิศาสตร์ แม้จะเป็น pain point ที่ทำให้ลูกค้าหรือร้านโชห่วยมีภาระต้นทุนในแง่ของการขนส่ง-โลจิสติกส์ หรือมีความยากลำบากมากในการเดินทางไปซื้อสินค้าเพื่อนำมาเติมในร้าน ดังนั้น บริษัทจะใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสาขา หรือศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) มาให้การสนับสนุนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อจะได้ช่วยลดต้นทุนส่วนนี้กับร้านค้าต่าง ๆ

โมเดลนี้จะช่วยแก้ปัญหาและเป็นทางออกที่จะช่วยตอบโจทย์ pain point กับร้านโชห่วยหรือสมาชิกของแม็คโครได้ค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมา เวลาที่ลูกค้าหรือสมาชิกไปซื้อของที่แม็คโครก็จะสะท้อนปัญหานี้กับทีมงานมาเป็นระยะ ๆ และเรียกร้องโมเดลนี้เข้ามามาก

กางแผนเร่งขยายเครือข่าย

นายเอกพลยังให้ข้อมูลด้วยว่า ตั้งแต่เปิดโครงการบัดดี้มาร์ท ตั้งแต่ประมาณเดือน ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ถึงตอนนี้ (ปลายเดือน ธ.ค.) มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 รายหรือร้านค้า และมีการเซ็นสัญญาไปแล้วมากกว่า 100 ราย และทยอยเซ็นสัญญาเพิ่มต่อเนื่อง และจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น ก็จะช่วยให้จำนวนของพาร์ตเนอร์หรือคู่ค้า น่าจะ potentail growth เพิ่มมากขึ้นในระดับหนึ่ง

ประกอบกับบริษัทมีแผนจะเร่งการขยายโครงการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหรือร้านโชห่วยมากขึ้น จากปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีที่บริษัทเน้นการสร้างรากฐานให้แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้าที่ขาย โมเดลของร้านค้า ระบบการขนส่งเพื่อซัพพอร์ตร้านค้าให้ดีที่สุด และจากนี้ไปการขยายตัวของเครือข่ายก็น่าจะมีสปีดที่เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ร้านโชห่วยที่เซ็นสัญญากันไปส่วนใหญ่เป็นร้านค้าในระดับอำเภอรองมากกว่าอำเภอเมือง ซึ่งก็จะโยงกลับไปที่เป้าหมายหลักของบัดดี้มาร์ทว่า โชห่วยหรือค้าปลีกรายใดก็ตามที่ต้องการการสนับสนุน เนื่องจากอาจจะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัญหาการจัดการ ระบบการขนส่ง ปัญหาการจัดการระบบภายในร้าน บริษัทก็พร้อมจะเข้าไปซัพพอร์ต

“แม้พื้นที่อีสานอาจจะเป็นพื้นที่ที่หลายค่ายให้ความสำคัญ ดังนั้นในแง่การแข่งขันก็จะมีมากเป็นธรรมดา และเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่บริษัทยึดเป็นหลักก็คือ เรื่องความคุ้นเคยและการรู้จักกับร้านค้าปลีกหรือโชห่วยมานาน ร้านค้าไหนที่ต้องการการสนับสนุน หรือมีเพนพอยต์ที่อยากให้แม็คโครเข้าไปช่วย เราก็ยินดีช่วย ประกอบกับร้านโชห่วยที่เป็นสมาชิกของเรามีค่อนข้างมาก ฉะนั้นจึงไม่ค่อยกังวลกับเรื่องของการแข่งขันมากนัก”

ชู “อาหารสด” สร้างความต่าง

ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ทยังให้ข้อมูลด้วยว่า สำหรับร้านค้าที่เข้ามาเป็นอยู่ในโครงการบัดดี้มาร์ท หลังจากที่บริษัทได้เข้าไปช่วยพัฒนา มีการวางระบบ การตกแต่ง การจัดวางสินค้า ป้าย ฯลฯ พบว่าในแง่ของทราฟฟิก และยอดขายของแต่ละร้านมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งและขนาดของร้าน และตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โดยทั่วไปถ้าเป็นร้านค้าที่เป็นโชห่วยเดิมอยู่แล้ว และปรับมาเป็นบัดดี้มาร์ท ในแง่ทราฟฟิกเฉลี่ยปกติก็จะดีขึ้นประมาณสัก 30-40% เช่นเดียวกันในเรื่องของยอดซื้อต่อบิล เพราะการปรับมาเป็นบัดดี้มาร์ท ก็จะมีเรื่องของสินค้าที่หลากหลายขึ้น มีการสื่อสาร มีการจัดโปรโมชั่น มีการโปรโมตให้เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน เพราะฉะนั้นแล้วก็จะทำให้ร้านค้าเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้ามา แล้วก็มีการดึงดูดให้กลับมาซื้อซ้ำด้วยการมีสินค้าที่หลากหลาย อีกด้านหนึ่งก็จะมีผลบวกให้กับค่าเฉลี่ยต่อบิล ให้ลูกค้ามีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

นายเอกพลย้ำว่า ที่ถือเป็นจุดเด่นของร้านบัดดี้มาร์ทที่มีความแตกต่างก็คือ เรื่องของอาหารสด ที่เป็นจุดแข็งของแม็คโครที่มีเรื่องนี้มานาน และถือเป็นโอกาสที่สำคัญของร้านโชห่วยหรือร้านค้าปลีกในชุมชน จริง ๆ แล้วภายในร้านค้าตามชุมชนก็สามารถขายอาหารสดบางรายการได้เหมือนกัน เพราะผู้บริโภคในชุมชน ในพื้นที่ต่าง ๆ มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมายังไม่มีใครที่มา provide ให้ได้ หรือในส่วนของร้านค้าโชห่วยเองก็อาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มในเรื่องอาหารสดอย่างไร เนื่องจากแม็คโครมีคลังสินค้าอยู่แล้ว มีกระบวนการขนส่งอยู่แล้ว มี knowledge อยู่แล้ว ก็มาทำด้วยกัน

“นอกจากการเดินหน้าขยายเครือข่ายเพิ่มอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่บริษัทจะทำควบคู่กันไปก็คือ การเสริมหรือการให้องค์ความรู้ต่าง ๆ กับเครือข่ายเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของการจัดการระบบ การบริหารจัดการร้าน เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องการให้คู่ค้าทุก ๆ คนมีมาตรฐานการบริหาร การจัดการร้าน เพื่อที่จะพัฒนาและต่อยอดด้วยธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนไปต่อได้ในอนาคต” นายเอกพลกล่าวในตอนท้าย