เปิดประวัติ อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ หรือ เครืออมรินทร์ (AMARIN) หนึ่งในบริษัทสื่อครบวงจร และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อตระกูล “อุทกะพันธ์ุ” โบกมือลาสิ่งที่สร้างมากว่า 40 ปี
จากกระแสข่าวใหญ่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในธุรกิจสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นคือ การลาออกของตระกูล “อุทกะพันธุ์” ตระกูลผู้ก่อตั้ง “อมรินทร์” ธุรกิจสื่อครบวงจรที่เปิดมานานกว่า 4 ทศวรรษ พร้อมทั้งขายหุ้นที่มีอยู่ในมือทั้งหมดให้กับ “สิริภักดีธรรม” บริษัทของตระกูล “สิริวัฒนภักดี”
และจากการขายหุ้นและลาออกของตระกูลผู้ก่อตั้งในครั้งนี้ ทำให้ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เข้ามามีอำนาจในการบริหารบริษัทสื่อแห่งนี้เต็มตัว
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักธุรกิจสื่อแห่งนี้ให้มากขึ้น
จาก “บ้านและสวน” สู่ “อมรินทร์”
ก่อนจะเป็น “เครืออมรินทร์” ที่ยิ่งใหญ่และมีธุรกิจด้านสื่อที่ครบวงจรแบบทุกวันนี้ เริ่มต้นจาก ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกและพนักงานจำนวนเพียงไม่กี่คน ร่วมกันจัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด วารสารบ้านและสวน” จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2519 และเริ่มผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ฉบับแรกออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2519
จากนั้นได้เริ่มก่อตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรินทร์การพิมพ์” จดทะเบียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2520 เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารเอง ขณะเดียวกันก็รับจ้าง งานพิมพ์อื่นด้วย และเมื่อ 8 มกราคม 2530 ได้ก่อตั้ง “บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด”
กิจการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อมา ทำให้มีความจำเป็นต้องระดมทุนและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในชื่อ “บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536
และวันที่ 26 ตุลาคม 2536 ได้ก่อตั้ง บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งร้านค้าปลีกขึ้น ในชื่อ “ร้านนายอินทร์”
และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)” เพื่อสะท้อนภาพปัจจุบันของบริษัท ที่มีมากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์
ในปัจจุบัน มีสำนักพิมพ์และหัวนิตยสารที่อยู่ภายใต้การดูแล “เครืออมรินทร์” ในปัจจุบัน มากถึง 15 สำนักพิมพ์ 6 หัวนิตยสาร แบ่งเป็นดังนี้
สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์
- สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก
- อมรินทร์คอมมิกส์
- สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
- สำนักพิมพ์ Springbooks
- สำนักพิมพ์ Shortcut
- สำนักพิมพ์ Steps
- อมรินทร์ฮาวทู
- สำนักพิมพ์ Amarin Travel
- สำนักพิมพ์ Rose
- สำนักพิมพ์อรุณ
- แพรวสำนักพิมพ์
- แพรวสำนักพิมพ์งานแปล
- สำนักพิมพ์อมรินทร์
- อมรินทร์สุขภาพ
- อมรินทร์ธรรมะ
หัวนิตยสารในเครืออมรินทร์
- บ้านและสวน
- room
- แพรว
- แพรว Wedding
- ชีวจิต
- National Geographic ฉบับภาษาไทย
“สิ่งพิมพ์” สู่ “ทีวี”
ในยุคเฟื่องฟูของทีวีดาวเทียม หลายธุรกิจสื่อ กระโดดลงสนามทีวีดาวเทียม และเช่นเดียวกับ “เครืออมรินทร์”
วันที่ 11 ตุลาคม 2555 ได้ก่อตั้ง “บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด” เพื่อดำเนินธุรกิจด้านโทรทัศน์ดาวเทียมในชื่อ “Amarin Activ TV (อมรินทร์ แอคทีฟ ทีวี)” และเริ่มออกอากาศในเดือนพฤศจิกายน 2555
และในวันที่ประเทศไทยกำลังเตรียมการสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล หลาย ๆ บริษัทสื่อมองเห็นโอกาสในการเข้าร่วมประมูลและก้าวสู่การเป็นสถานีโทรทัศน์ระดับชาติ
อมรินทร์ เทเลวิชั่น เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัล เมื่อปี 2556 และสามารถประมูลได้เป็นลำดับที่ 6 ในกลุ่มโทรทัศน์บริการธุรกิจ ประเภทรายการทั่วไป ความคมชัดสูง หรือช่อง HD โดยประมูลไปได้ในราคา 3,320 ล้านบา่ท
และวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 อมรินทร์ เทเลวิชั่น ได้เริ่มออกอากาศทีวีดิจิทัลอย่างเป็นทางการ ในชื่อ “อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 (Amarin TV)” และกลายเป็นหนึ่งในสถานีโทรทัศน์ในใจ หรือเป็น Top of Mind ของใครหลาย ๆ คน
นอกจากธุรกิจด้านสำนักพิมพ์ โทรทัศน์ และค้าปลีกหนังสือแล้ว เครืออมรินทร์ ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ทั้งการรับจ้างพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ทีมจัดทำคอนเทนต์ Creatia สื่อออนไลน์ และการจัดอีเวนต์ โดยเฉพาะอีเวนต์ภาพจำสำคัญของเครืออมรินทร์ อย่าง บ้านและสวนแฟร์, Amarin Baby & Kids Fair, Sudsapda Shopping Market
“สิริวัฒนภักดี” เข้าถือหุ้นใหญ่เครืออมรินทร์
หลังการเริ่มต้นธุรกิจทีวีดิจิทัล บริษัทประสบเรื่องการขาดทุน เนื่องจากธุรกิจโทรทัศน์ดิจิทัลนั้น ต้องใช้การลงทุนที่สูง
ปี 2559 เครืออมรินทร์ ประกาศเพิ่มทุน จำนวน 200 ล้านหุ้น และขายหุ้นส่วนนี้ให้กับตระกูลสิริวัฒนภักดี ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท รวมมูลค่า 850 ล้านบาท โดยตระกูลสิริวัฒนภักดี ถือหุ้นเครืออมรินทร์ ในนาม “บริษัท วัฒนภักดี จำกัด” มีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นกรรมการ
และภายหลังการซื้อหุ้น ตระกูลสิริวัฒนภักดี ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครืออมรินทร์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 47.62% ขณะที่ครอบครัวอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ มีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83%
เข้าถือหุ้นเว็บดัง “Dek-D”
เมื่อ 13 ตุลาคม 2565 เครืออมรินทร์ รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า ผู้ถือหุ้นบริษัท มีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัท อมรินทร์บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด (ABOOK) เข้าลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุน และหุ้นสามัญเดิมของ บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (DDI) สัดส่วน 51% ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ในมูลค่ารวมไม่เกิน 204 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ทาง ABOOK บรรลุการเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ กับคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง และได้เข้าลงนามสัญญาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และสัญญาซื้อขายหุ้นในบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด เรียบร้อยแล้ว
โดยการเข้าลงทุนครั้งที่ 1 ประกอบด้วย 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1,111 หุ้น คิดเป็น 10% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุน 2.หุ้นสามัญเดิมจำนวน 1,678 หุ้น คิดเป็น 15.10% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุน
ทั้งนี้ภายหลังการเข้าลงทุนครั้งที่ 1 ทาง ABOOK จะถือหุ้นใน DDI ในสัดส่วน 25.1% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุน โดยมีมูลค่าเงินเพิ่มทุน 30 ล้านบาท และเงินสำหรับซื้อหุ้นสามัญเดิม 45.30 ล้านบาท รวมเงินลงทุนครั้งที่ 1 จำนวน 75.30 ล้านบาท โดยระยะเวลาทำรายการคาดว่าภายในไตรมาส 4 ปี 2565 หรือวันอื่นใดตามที่ได้มีการตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
และการเข้าลงทุนครั้งที่ 2 ในหุ้นสามัญเดิมจำนวน 2,878 หุ้น คิดเป็น 25.9% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดยเงินลงทุนอยู่ในช่วงราคาตั้งแต่ 30-128.70 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของ DDI ในปี 2565 และปี 2566 โดยคาดว่าระยะเวลาเข้าทำรายการภายในเดือน มิ.ย. 2567 หรือวันอื่นใดตามที่ได้มีการตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
ขณะที่คณะกรรมการของบริษัท เห็นว่า การเข้าลงทุนในบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ AMARIN เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่กี่ยวข้องกับการศึกษา และธุรกิจคอนเทนต์ รวมถึงมีฐานลูกค้าที่ชัดเจน ซึ่งจะสามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจของกลุ่มบริษัทได้เป็นอย่างดี
“อุทกะพันธุ์” ส่งสัญญาณโบกมือลา
เครืออมรินทร์ได้รับความสนใจใหญ่จากหมู่ผู้ถือหุ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 บริษัทฯรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 มีการซื้อขายหุ้นของบริษัทจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) จำนวนรวม 138,387,052 หุ้น คิดเป็น 13.86% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทจำนวน 998,281,590 หุ้น
โดยนางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจโรจน์ ได้ขายหุ้นจำนวนดังกล่าว ซึ่งเป็นการขายทั้งหมดที่ถืออยู่ให้กับบริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการ หรือการกำหนดนโยบาย การดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด และไม่ได้เข้าเกณฑ์ในการทำ Tender Offer
และล่าสุด วันที่ 17 ตุลาคม 2566 บริษัทฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทราบการลาออกของกรรมการ, กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ประกอบด้วย
1.นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ, กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาล
2.นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท, กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน, กรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง, กรรมการบริหาร, กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเลขานุการบริษัท
3.นายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ได้มีมติแต่งตั้ง นายศิริ บุญพิทักษ์โกศ ดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยคณะกรรมการบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยจะแจ้งให้ตลาดหลัทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด มีกรรมการคือ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี, นายปณต สิริวัฒนภักดี, นางวัฒนา ลิ่มนรรัตน์, นางนิดดา ธีระวัฒนชัย, นางนิภา อัศวกิตติพร, นายกำพล ปุญโสณี
อย่างไรก็ดี การตัดสินใจขายหุ้นและการลาออกจากตำแหน่งด้านบริหารของตระกูล “อุทกะพันธุ์” ผู้ก่อตั้งเครืออมรินทร์ ยังคงเป็นปริศนาใหญ่ที่รอคำตอบว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเครืออมรินทร์ ในวันนี้ ?
ข้อมูลจาก เครืออมรินทร์