ในยุคสมัยที่เปลี่ยน แบรนด์รองเท้าผ้าใบ “นันยาง” และรองเท้าแตะ “ช้างดาว” ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 70 ปี ยังคงย้ำจุดยืน และก้าวข้ามความท้าทายด้วยการ “ไม่เปลี่ยน”
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ดร.จักรพล จันทวิมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “THAILAND 2024 : BEYOND RED OCEAN” ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นันยาง เป็นผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบนันยางและรองเท้าแตะนันยางตราช้างดาวที่อยู่คู่คนไทยและนักเรียนไทยมาอย่างยาวนานถึง 70 ปี
จุดเริ่มต้นของแบรนด์นันยางเริ่มขึ้นจากการที่ “คุณวิชัย ซอโสตถิกุล” ได้เริ่มทำธุรกิจซื้อมาขายไป ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการนำเข้ารองเท้าผ้าใบจากประเทศสิงคโปร์ยี่ห้อ “หนำเอี๊ย” เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อจาก “หนำเอี๊ย” เป็น “หนันหยาง” (Nan-Yang) ภาษาจีนกลาง และกลายเป็น “นันยาง” เพื่อให้ติดปากคนไทยมากขึ้น
โดยในช่วงเวลาต่อมาในปี 2496 เป็นช่วงที่ประเทศสิงคโปร์เริ่มปรับเปลี่ยนและลดอัตราการผลิตลง จึงทำให้ทางนันยางเกิดไอเดียในการผลิตรองเท้าเอง และช่วงนั้นกิจการเริ่มไปในทิศทางที่ดี จึงติดต่อขอเป็นผู้ผลิตเองภายในประเทศไทย
ยุคสมัยเปลี่ยน แต่จุดยืนยังคงเหมือนเดิม
ดร.จักรพล เล่าให้ฟังต่อว่า มาสู่ปัจจุบัน แบรนด์รองเท้านันยางก็ได้เดินทางมาถึง 70 ปี ซึ่งหากย้อนกลับไปวันแรกของรองเท้านันยางในภาพจำตั้งแต่เริ่มเข้ามาในไทยจนถึงวันนี้ ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือยุคสมัย ซึ่งจะเห็นได้จากเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน เริ่มมีเทคโนยีต่าง ๆ เข้ามามากขึ้น
สมัยก่อนรองเท้าของนันยางใส่ได้ทั้งเล่นกีฬา เรียน ไปเที่ยว ทำงาน แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปรองเท้ามันก็ไม่สามารถเป็น all-around ได้ ยกตัวอย่างเช่น ใส่วิ่งในพื้นที่ต่างกัน มันก็จะต้องมีรองเท้าเฉพาะทาง
การปรับตัวของแบรนด์ “นันยาง”
“ขณะเดียวกัน ในตอนนั้นเราก็ไปเจอกลุ่มลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ใส่ทั้งวิ่ง ทั้งเดินในพื้นที่แตกต่างกัน นั่นก็คือกลุ่มนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปริมาณค่อนข้างใหญ่ 1 ใน 4 ของประเทศไทย”
“ซึ่งต้องบอกว่าจริง ๆ รองเท้านันยางเราไม่ใช่รองเท้านักเรียน แต่เป็นรองเท้าผ้าใบที่นักเรียนชอบใส่”
จึงเป็นอีกชาเลนจ์ที่เราจะต้องปรับตัว จึงได้ทำตลาดเกี่ยวกับกลุ่มนักเรียนมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่นันยางเริ่มทำโฆษณาเกี่ยวกับนักเรียนออกมา ซึ่งรองเท้าผ้าใบนันยาง มีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มนักเรียนอยู่ประมาณ 80%
“เป็นตลาดที่พูดเหมือนว่าง่าย นักเรียนมันก็ใส่กันตลอดเวลา แต่ความเป็นจริงแล้ว ความเป็นเด็ก ตั้งแค่ยุคคุณพ่อเรา เรา หรือยุคปัจจุบัน พฤติกรรม แนวคิดอะไรต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป”
“ดังนั้น การที่เราจะอยู่ในตลาดนักเรียนได้ ก็จะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะรองเท้านักเรียนเวลาที่เขาใส่ยี่ห้อไหนแล้วก็จะซื้อยี่ห้อเดียว ซึ่งเราจะเรียกตลาดนี้ว่า ‘zero sum game’ คือ เกมที่ต้องมีแพ้-ชนะ เลือกได้ 1 อัน แล้วก็ไปสู้กันใหม่ เมษายน-พฤษภาคม (ช่วง Black to shcool)”
“ผู้เล่นทุกคนในตลาดนักเรียน ก็จะทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดไปอยู่ในช่วงนั้น แล้วก็พยายามจะเอาลูกค้ามาให้ได้ นี่ก็คือ ‘zero sum game’ ในตลาดนักเรียน”
นันยาง have fun ชิ้นส่วนสำคัญในช่วงโควิด
ดร.จักรพลเล่าต่อว่า ต่อมานันยางได้ออก “นันยาง have fun” รองเท้านักเรียนสำหรับเด็กประถมศึกษาโดยเฉพาะ จับกลุ่มอายุระหว่าง 4-10 ปี คอนเซ็ปต์ “เบา นุ่ม สบาย ไม่ต้องผูกเชือก” เป็นรองเท้าที่นันยางปล่อยออกมาช่วงโควิด โดยใช้เชือกยืดหยุ่นที่ไม่จำเป็นต้องผูก ทำให้เด็กไม่ต้องสัมผัสเชื้อโรค ตอบโจทย์ทั้งผู้ปกครองและตัวนักเรียน
และ “นันยาง have fun” ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้นันยางสู้ในน่านน้ำสีแดงได้ และยังคงเติบโตและประคองตัวมาได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
ช้างดาว ขวัญใจผู้คนทั้งไทย-ต่างชาติ
ดร.จักรพลกล่าวต่อว่า นอกจากรองเท้าผ้าใบแล้ว รองเท้าแตะนันยางตรา “ช้างดาว” ยังเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ครองใจผู้บริโภคมายาวนานเช่นกัน ซึ่งเริ่มส่งออกได้ดีขึ้นในช่วงประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยจากนักท่องเที่ยว ประกอบกับเป็นจังหวะที่ดี ซึ่งใครหลาย ๆ คนก็คงเคยเห็นและได้ยินกระแสของกางเกงช้างกันอยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีหลาย ๆ คนที่นำกางเกงช้างมาใส่แมตช์กับรองเท้าแตะช้างดาว ทางบริษัทจึงจัดแคมเปญ Experience Thailand ซึ่งผลตอบรับดีมาก
“พอมันเริ่มมีกระแสดีขึ้น เราก็เลยมีอีกแคมเปญก่อนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เราใช้ตุ๊ก ๆ เป็นทูตช้างดาว เอารองเท้าช้างดาวไปให้พี่ ๆ คนขับตุ๊ก ๆ พอรับนักท่องเที่ยวก็แจกให้เขาไปลองใส่ดู”
“ซึ่งเราจะใช้คำว่า ‘Wear like locals, wear Chang Dao.’ คือคุณใส่กางเกงช้าง แล้วใส่รองเท้าแตะช้างดาวไปด้วย อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่ทำให้รองเท้าช้างดาวเป็นหนึ่งในทูตของประเทศไทย”
ดร.จักรพลกล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป การแข่งขันจะสูงขึ้น แต่เราก็ยังคงทำในสิ่งที่เราเก่ง และทำในสิ่งที่คู่แข่งทำไม่ได้ ซึ่งเราจะเปรียบเราเป็นปลาที่ไม่มีวันตาย เพราะไม่ว่าผ่านไปอีกกี่ปี เราก็ยังคงอยู่เคียงคู่ไปกับลูกค้าของเราต่อไป”
- KKP ชี้เศรษฐกิจไทยปี’67 เจอ “ทางแพร่ง” ท่องเที่ยวหนุน มาตรการกระตุ้นยังต้องลุ้น
- KBTG เปิดยุทธศาสตร์ AI เมื่อโลกเปลี่ยน Mobile First สู่ AI First
- โทฟุซัง เผยเคล็ดลับหาบลูโอเชียน ดันรายได้ปี 2566 แตะ 850 ล้าน
- แพทองธาร มั่นใจ ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ สร้างไทยมีตัวตนบนเวทีโลก
- โต้ง สิริพงศ์ เบื้องหลังความสำเร็จ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” กับกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง