KBTG เปิดยุทธศาสตร์ AI เมื่อโลกเปลี่ยน Mobile First สู่ AI First

ประธาน KBTG ชี้ AI เป็นเทคโนโลยีที่ดิสรัปต์ที่สุดในช่วงชีวิต องค์กร บุคลากร-ผู้บริหาร ต้องเร่งปรับตัวเรียนรู้ ตั้งยุทธศาสตร์ กำหนดตัวชี้วัด AI บริบทเปลี่ยนจาก Mobile First ที่ใช้แอปเป็นหลัก สู่ AI First ที่ AI Agent ช่วยขับเคลื่อนงานเฉพาะทางขององค์กรได้

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “AI พลิกโลก” ในงานสัมนา “THAILAND 2024 BEYOND RED OCEAN” เส้นทางใหม่ เป้าหมายใหม่ ที่มั่นคง จัดโดย “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” และ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาเพิ่มผลิตภาพ และอาจทดแทนแรงงานจำนวนมาก

“ผมทำงานอยู่ในวงการเทคโนโลยี 16 ปี ลงทุนบริษัทเทคโนโลยี 8 ปี ไม่มีเวลาไหนที่ผมกลัวเท่าตอนนี้ ต้องตื่นเช้ามาลองใช้ AI ตัวใหม่ทุกวัน เพราะกลัวตามไม่ทัน”

นายเรืองโรจน์ กล่าวด้วยว่า ปัญญาประดิษฐ์ได้แพร่กระจายเข้าไปในหลายอุตสาหกรรมแล้ว และสามารถเพิ่มผลิตภาพของงานได้ 14% อย่างเช่นตอนนี้ KBTG ได้นักพัฒนาและนักเทคโนโลยีกว่า 2,500 คน ที่เริ่มปรับใช้ AI ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ เห็นว่าสามารถเพิ่มความเร็วในการพัฒนาได้ 2-10 เท่า

ทั้งยังมีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ด้วย KBTG Kampus ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทย ทำให้นักศึกษาเรียนแค่ 2 ปี และอีก 2 ปีมาทำงานที่ KBTG เพื่อเร่งสร้างคนให้ทันกับการพัฒนาเทคโนโลยี

รวมถึงการตั้งกองทุน KXVC 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในบริษัท AI และ Deep Tech ทั่วโลก เพื่อเป็นประตูในการดึงเอาความสามารถจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนา KBTG

“ที่ต้องทำทั้งหมดนี้ เพราะเราต้อง All in เรามองว่าทุกคนต้อง All in ใน AI เพราะ AI เป็นเทคโนโลยีที่ Disruptive ที่สุดในช่วงชีวิตของเรา”

ยุทธศาสตร์ AI จาก Mobile First สู่ AI First

“โลกเปลี่ยนจาก Mobile First ไปเป็น AI First แล้ว ทุกองค์กรต้องมียุทธศาสตร์ AI นอกจากการเพิ่มผลิตภาพแล้ว AI จะสามารถช่วยหรือทดแทนงานกว่า 300 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งคาดว่างานที่ AI ทำไม่ได้จะเหลือแค่การทำความสะอาดเท่านั้น คนที่ใช้ AI เป็น จะแทนที่คนที่ใช้ไม่เป็น และองค์กรที่ปรับใช้ AI ไม่ได้ จะถูกแทนที่ด้วยการองค์กรที่ปรับใช้ได้”

“ก่อนหน้านี้เราอยู่ในยุค Mobile First ที่ทุกอย่างต้องโหลด Application ลงบนมือถือไว้ก่อน แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป AI สามารถเป็นสิ่งขับเคลื่อนงานได้เฉพาะทางทดแทน App อย่างเช่น AI Agent ที่ในอนาคตจะสามารถดาวน์โหลดมาทำงานเฉพาะทางบางแผนกขององค์กรได้ ดังนั้นต่อไปจะมีการ Customized AI ให้เฉพาะงานขององค์กรมากยิ่งขึ้น เทคสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นยุคต่อไปอาจมีพนักงานแค่ 10 คนเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า AI จะแก้ปัญหาและทดแทนทุกอย่าง ตอนนี้ผู้บริหาร และหลายคนมอง AI แบบ แฟนตาซี แต่จริง ๆ แล้ว AI มีพื้นฐานบน “ข้อมูล” ที่ถูกต้องแม่นยำ มีการทำแมชชีนเลิร์นนิ่งที่เฉพาะทาง งานบางอย่างใช้แค่การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างง่ายก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ AI ที่ซับซ้อน ที่สำคัญคือต้องมองให้ออกว่าจะใช้อย่างไร

นอกจาก AI จะเข้ามาช่วยในการเพิ่มผลิตภาพแล้ว อัตราเร่งของมันยังก่อให้เกิด New S-Curve ใหม่ ๆ ที่ทำให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งโอกาสเหล่านี้เกิดจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่งในงานเฉพาะทางที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูง เช่น การบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งหากใช้ AI แก้ปัญหาแบบ Industrial Specific Longtail Problem ได้จะน่ากลัวอย่างยิ่ง

นายเรืองโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า จากการที่ได้พูดคุยและศึกษาร่วมกับบริษัทเทคโนโลยี ชี้ให้เห็นว่าภายใน 18-29 เดือนข้างหน้า องค์กรจะต้องมียุทธศาสตร์ AI 3 หมุดหมาย

  1. ทำให้เกิดยูสเคสในการใช้ AI กำหนด KPI ให้ชัดอย่างน้อยต้องมีการพิสูจน์ความคิดและแนวทางใช้งาน (Prove of Concept) จำนวน 10 เคส
  2. พนักงานต้องได้รับการพัฒนาทักษะเท่าทัน AI หรือ AI Literacy 100% ตรงนี้ KBTG ทำแล้ว
  3. Reskill และ พัฒนา AI Literacy ผู้บริหารระดับสูง 100%

“AI เป็นสิ่งที่โตตามลำพังไม่ได้ เพราะรากฐานของการพัฒนา AI ต้องอาศัยการใช้ข้อมูล ถ้า data foundation หรือคลังข้อมูลไม่แข็งแกร่ง ก็ไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของ AI ได้อย่างเต็มกำลัง มีสิ่งที่ผมเรียกว่า M.A.D. หรือ Machine Learning, AI และ Data/Data Analytics ที่เป็นพื้นฐานในการต่อยอดทางธุรกิจหรือสร้าง S-Curve ใหม่ ซึ่งโจทย์สำคัญคือต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม และพัฒนา 3 สิ่งนี้ไปพร้อม ๆ กัน”

นายเรืองโรจน์ พูนผล

4 ความเสี่ยงและความท้าทายของปัญญาประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ AI Literacy หรือการรู้เท่าทัน AI ก็เป็นส่วนสำคัญ และเป็นวาระของโลกเหมือนกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จะต้องมีการกำหนดกรอบจริยธรรมของ AI ที่ทั่วโลกต้องทำร่วมกัน

แม้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงาน และช่วยเพิ่ม productivity ในด้านต่าง ๆ แต่ก็มีความท้าทายและความเสี่ยงที่ผันแปรตามกาลเวลาอีกมากมาย ซึ่งแบ่งเป็นประเด็นดังนี้

1. ความจริงที่บิดเบี้ยว (Reality Distortion) เช่น ข่าวปลอม (Fake News) หรือการสวมรอยเป็นบุคคลต่าง ๆ และสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ

2. การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงาน (Originality and Ownership)  เมื่อ AI สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายประเภท สิทธิการเป็นเจ้าของผลงานหรือการสร้างรายได้กลายเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงในวงกว้าง

3. ความแม่นยำ (Interpretability and Correctness) : แม้ว่า AI จะใช้ฐานข้อมูลในปัจจุบัน แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง

4. การแทนที่มนุษย์ (Job Displacement) : ความสามารถของ AI เปรียบเสมือนดาบสองคม แม้จะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ เช่น การประทวงของคนทำงานในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ที่มีการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ AI อยู่หลายครั้ง