
วิกฤตนักท่องเที่ยวจีนหาย 40%-เศรษฐกิจซบเซา สะเทือนธุรกิจร้านอาหาร 5 แสนล้าน ปัจจัยลบรุม-คนไทยรัดเข็มขัด “เชฟต้น” เจ้าของร้าน Le Du (ฤดู) เผยกระทบถ้วนหน้าตั้งแต่สตรีตฟู้ด ถึงไฟน์ไดนิ่งระดับมิชลินสตาร์ ปีนี้ “เผาจริง” ยอดขายลดฮวบ 50% ทุกเซ็กเมนต์ ดิ้นลดต้นทุน “ลดคน-ปิดสาขา” ร้านอาหารหน้าใหม่-รายย่อยเสี่ยงตาย ไม่เห็นอนาคตไฮซีซั่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เริ่มปี 2568 ร้านอาหารชื่อดังทยอยปิดตัวและประกาศเซ้งร้านจำนวนมากด้วยหลายปัจจัยลบรุมเร้า อาทิ ข้าวมันไก่เจ๊โบว์ ย่านบรรทัดทอง ที่เปิดมานานกว่า 25 ปี, Wisdom Buffet ปิดให้บริการสาขาสยามสแควร์วัน, ชูบา ชาบู ปิดกิจการ หลังเปิดมา 16 ปี, อาม่งหม่าล่า ปิดสาขาเยาวราช เพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว, ภัตตาคารไฮ้เปียง ตำนาน 70 ปีหัวหิน, TSUJIRI ร้านชาเขียวต้นตำรับจากญี่ปุ่น ปิดทุกสาขาในไทย, บ้านชิดกรุง กุ้งเผา อ.สามโคก จ.ปทุมธานี รวมถึงตลาดดิ วัน รัชดา เป็นต้น
ธุรกิจร้านอาหารเจ็บหนัก
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 เต็มไปด้วยปัจจัยลบ ทั้งผลกระทบหนักจากสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าน้อยลง
เช่นเดียวกับโอกาสขายของร้านในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงการย้ายฐานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ออกจากไทยยังลดโอกาสพิเศษต่าง ๆ ที่ผู้บริโภคจะมาทานอาหารในร้าน เช่น การฉลองความสำเร็จ หรือการกินเลี้ยงหลังเลิกงาน
นอกจากนี้ เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ลดความถี่ของการทานอาหารในร้าน และลดปริมาณ-ระดับราคาเมนูที่สั่ง อาทิ เดิมทานอาหารในร้าน 4-5 วันต่อสัปดาห์ เหลือเดือนละ 1 ครั้ง รวมถึงการสั่งอาหารที่ลดลงจาก 5 อย่าง เหลือ 3 อย่าง และเปลี่ยนจากน้ำปั่น-ชงต่าง ๆ เป็นน้ำเปล่า-น้ำอัดลม เป็นต้น
ขณะที่ร้านแนวบุฟเฟต์แม้จำนวนผู้ใช้บริการไม่ลด แต่ถูกกระทบจากการจับจ่ายต่อคนที่ลดลง เช่น ลูกค้า 100 คนเท่าเดิม แต่อาจลดแพ็กเกจจาก 1,500 บาท เหลือ 700 บาท แทน
“ประกอบปีนี้ ฝนมาเร็วกว่าปกติเป็นอีกปัจจัยลบ บรรดาร้านอาหารเริ่มสะท้อนถึงความเงียบเหงามาตั้งแต่ปลายเมษายนแล้ว ทำให้บางร้านตอนเย็นยังไม่ทันตั้งร้าน ฝนก็ตก 3 ชั่วโมงติดจนขายไม่ได้แล้ว”
ปัจจัยลบต่าง ๆ กระทบรายได้ของร้านอาหารเนื่องจากกำไรจากเมนูต่าง ๆ โดยเฉพาะเมนูเครื่องดื่มลดลงไปมาก ขณะที่ต้นทุนต่าง ๆ ทั้งค่าเช่า พลังงาน ค่าแรง วัตถุดิบทรงตัวหรือแพงขึ้น จนสัดส่วนกำไรอาจลดลงไปถึง 50%
หน้าใหม่-รายเล็กเจ็บหนัก
นางฐนิวรรณกล่าวว่า สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้เล่นหน้าใหม่ หรือรายย่อยที่มีกระแสเงินสดไม่มาก เริ่มใช้มาตรการรัดเข็มขัด เช่น ไม่จ้างคนทดแทนเมื่อพนักงานปัจจุบันลาออก คุมค่าวัตถุดิบ ระวังการลงทุน รวมไปถึงตัดสินใจปิดบางสาขาลง เพื่อพาธุรกิจผ่านช่วงโลว์ซีซั่น เพื่อรอจังหวะดีมานด์ฟื้นช่วงไฮซีชั่นปลายปี ส่วนรายใหญ่หรือที่อยู่ในวงการมานานที่สะสมกระแสเงินสดมาระยะหนึ่งแล้วก็อาจกระทบไม่มาก
ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ต่างกับช่วงโควิดที่มีการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นภาษีหรือค่าเช่าพื้นที่ ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ควรเป็นรูปแบบที่ผู้ประกอบการได้เงินจริงและได้เร็ว เพราะร้านอาหารมีทุนสำรองน้อยกว่าธุรกิจอื่นอย่างสายการบินหรือโรงแรม จึงไม่สามารถรออนุมัติเงินอุดหนุนนานหลาย ๆ เดือนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในไทยอยู่ที่ 572,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ร้านฟูลเซอร์วิส 213,000 ล้านบาท ร้านแบบบริการจำกัด 93,000 ล้านบาท และร้านสตรีตฟู้ด 266,000 ล้านบาท ส่วนร้านเครื่องดื่ม-เบเกอรี่อยู่ที่ 85,320 ล้านบาท
ต้องชิง Top of Mind
นางสาวอัจฉรา บุรารักษ์ แม่ทัพหญิงแห่ง iberry Group เจ้าของร้านอาหารแบรนด์ดัง อาทิ iberry, กับข้าวกับปลา, รส’นิยม, ทองสมิทธ์ และเจริญแกง ฯลฯ ยอมรับว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายในบางสาขา โดยเฉพาะสาขาที่พึ่งพานักท่องเที่ยวที่มีการปรับตัวลดลงประมาณ 10-20% แต่อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าธุรกิจร้านอาหารยังคงมีความจำเป็นต่อผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคยังคงต้องใช้จ่ายโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากแบรนด์สามารถเข้าไปเป็น Top of Mind ของผู้บริโภคได้ จะสามารถบริหารยอดขายให้อยู่ในระดับที่ตั้งเป้าไว้ได้ แม้ว่าจะไม่เติบโตหวือหวาเหมือนช่วงเศรษฐกิจดี หรือมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็ตาม

ต้องแก้วิกฤตนักท่องเที่ยว
นายธิติฏฐ์ ทัศนาขจร “เชฟต้น” เจ้าของร้าน Le Du (ฤดู) มิชลิน 1 ดาว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะการท่องเที่ยวที่ซบเซา ส่งผลกระทบถึงธุรกิจร้านอาหารอย่างคาดไม่ถึง โดยจากเหตุการณ์ที่ “ซิง ซิง” นักแสดงจีนถูกลักพาตัวไปยังเมืองสแกมเมอร์ เชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก และตัวเองก็ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไร
แต่หลังจากนั้นกลายเป็นกระแสทำให้คนจีน และคนที่ใช้ภาษาจีนอย่างไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ชะลอการมาเที่ยวเมืองไทย โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเหล่านี้มาไทยเยอะมาก เพราะปลอดภัย ค่าครองชีพถูก และน่าดึงดูดกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว นักท่องเที่ยวลดลงจำนวนมาก
มิหนำซ้ำยังเกิดผลกระทบอีกระลอกจากภัยแผ่นดินไหว ภาพตึก สตง.ถล่ม ทำให้เมืองไทยไม่ปลอดภัยในมุมมองต่างชาติ ซึ่งไม่รู้ว่าถล่มเพียงตึกเดียว แต่คิดว่ากรุงเทพฯ คือพื้นที่ภัยพิบัติร้ายแรง เรื่องนี้สะท้อนว่าภาพที่เห็นนั้นต่างกับที่คนไทยเป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง หลายชาติประกาศเตือนอย่างเป็นทางการว่า ไทยเสี่ยงต่อการเดินทางมา ซึ่งทางการไทยควรสื่อสารกับต่างชาติให้ชัดเจน
ร้านอาหารยอดตก 50%
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างมีนัยสำคัญ แม้บางคนแย้งว่าเป็นเพราะโลว์ซีซั่น แต่ยอดขายและลูกค้าลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถ้ารอไฮซีซั่นโดยไม่ทำอะไรเลย อาจเห็นช่วงไฮซีซั่นที่ลดลง 50% และไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหารเท่านั้น เพราะมีคนไทยจำนวนมากที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ตั้งแต่คนขับแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก โฮสเทล ร้านนวด ทัวร์ ไกด์ และอีกมากมาย
“ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ ธุรกิจร้านอาหารตนในจังหวัดต่าง ๆ และคนรอบตัวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน วิกฤตตอนนี้อาจเทียบเท่าช่วงโควิด-19 เลยก็ได้ ทั้งจำนวนคน ยอดขาย และบรรยากาศเหมือนกราฟที่ปักหัวลงตั้งแต่สงกรานต์ ถ้าไม่แก้ก็จะดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่าคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องพิจารณาเรื่องนี้สักหน่อย” นายธิติฏฐ์กล่าวและว่า
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร้านอาหารส่วนใหญ่และกลุ่มเชฟที่รู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านมิชลิน บุฟเฟต์ และร้านทั่วไปต่างได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่ร้านไฟน์ไดนิ่งอย่างเดียว โดยในส่วนของเชฟต้น ปัจจุบันมีอยู่ 15 แบรนด์ในเครือ อาทิ Le Du, Le Du Kaan (ฤดูกาล), Nusara (นุสรา), หลานยาย, BK SALON, LAWOl’ (ละโวยจ) และก๋วยเตี๋ยวแซ่บนิรันดร์ เป็นต้น ซึ่งประเภทอาหาร ราคา และกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ติ่มซำราคา 30 บาท ถึงไฟน์ไดนิ่ง 4-5 พันบาทต่อคน
“ตอนนี้ทุกแบรนด์ ทุกเซ็กเมนต์ ได้รับผลกระทบหมด ยอดขายตกลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน ยอดตกทั้งร้านที่อยู่ในศูนย์การค้าและสแตนด์อะโลน ไม่มีแบรนด์ไหนมีสัญญาณที่ดีเลย เชฟคนอื่น ๆ ก็เป็นเหมือนกัน เพราะดีมานด์ที่ลดลง บางร้านแต่ก่อนต้องจองเป็นเดือน ตอนนี้ไม่มีแบบนั้นแล้ว นักท่องเที่ยวไม่มา คนไทยก็ใช้จ่ายรัดกุมมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี ถ้าร้านไหนสายป่านยาวหน่อยก็อยู่ได้นาน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการรายย่อย และธุรกิจครอบครัว”
ปีนี้เผาจริง “ปิดตัว” พุ่ง
นายธิติฏฐ์-เชฟต้นกล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ในวงการอาหารกว่า 10 ปี เข้าใจว่าการเปิด-ปิดร้านอาหารเป็นวัฏจักรของการแข่งขันกันทางธุรกิจ แต่ปัจจุบันต้องบอกว่าไม่ปกติเพราะดีมานด์ลดลง ร้านที่ไม่รอดจึงมีเยอะขึ้น ในจำนวนนั้นเป็นร้านที่มีโอกาสเติบโตจำนวนมาก แต่จำต้องปิดตัว
หลังโควิดตอนที่เปิดประเทศ ท่องเที่ยวเป็นธุรกิจแรกที่ทำให้เมืองไทยกลับมามีชีวิตชีวามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้กลับหยุดชะงัก และกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะไม่ได้สานต่อความได้เปรียบตรงนั้น
เชฟต้นย้ำว่า ทุกคนพูดเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีสัญญาณต่าง ๆ และซบเซามาสักระยะ แต่ปีนี้คือ “เผาจริง” เพราะคนที่มาเที่ยวหายไปเยอะมาก สะท้อนให้เห็นผ่านบรรยากาศที่เงียบเหงา ไม่ใช่แค่ธุรกิจในมือ คนขับตุ๊กตุ๊ก หรือแท็กซี่หน้าร้านก็มีแต่คนบ่นเรื่องนักท่องเที่ยว คนที่ขายของอยู่หน้าร้านก็บ่นว่าขายไม่ค่อยได้ แสดงว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะกระทบตั้งแต่บนลงล่าง
“ผมขอให้ปีนี้เผาจริงเหมือนที่คิด เพราะบางคนบอกว่าเผาจริงคือปีหน้า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงไม่เหลือใครให้เผาแล้ว”

ร้านอาหารดิ้นหนีตาย
นายสมศักดิ์ รารองคำ หรือเชฟสมศักดิ์ นายกสมาคมเชฟประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2568 สภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจร้านอาหารจึงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ค่าแก๊สหุงต้ม และต้นทุนอื่น ๆ ที่สูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะชะลอตัว และเติบโตลดลงราว 3-4% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะร้านอาหารราคาถูกที่อาจแบกต้นทุนต่อไปไม่ไหว
ปัจจุบันทั่วประเทศมีร้านอาหารมากกว่า 7 แสนแห่ง ที่น่ากังวลคือร้านอาหารที่ขายตามตลาดนัด จากที่เคยเป็นที่ปรึกษาของตลาดแห่งหนึ่ง พบปัญหาว่าแม้จะลดราคาค่าเช่า แต่ร้านก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีคนเดิน ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางและเสี่ยงอันตราย ร้านสตรีตฟู้ดต่าง ๆ เงียบเหงาลงมาก จะขายได้ก็เพียงร้านกาแฟเท่านั้น
เมื่อต้นทุนสวนกระแสกำลังซื้อ จะนำมาสู่การปรับราคาแข่งกัน ทำให้ธุรกิจอยู่ยากขึ้น ยังไม่นับแบรนด์จากต่างประเทศอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่เข้ามาตีตลาดซึ่งมีทุนหนา
ขณะที่ร้านบุฟเฟต์ก็มีต้นทุนราว 65% ของราคาต่อหัว เช่น วัตถุดิบแบบพรีเมี่ยม ราคา 1,200 บาท อาจต้องขายให้ได้วันละ 200 หัว ซึ่งเป็นเรื่องยาก ถ้าให้ลดต้นทุนโดยการลดวัตถุดิบ ลดคุณภาพ ก็ไม่สามารถทำได้ สำหรับร้านอาหารมิชลินหรือไฟน์ไดนิ่ง เป็นฟูลเซอร์วิสทั้งคาว หวาน เครื่องดื่ม ก็ยิ่งมีต้นทุนสูง
เยาวราชไม่เหมือนเดิม
ปัญหานักท่องเที่ยวไม่เข้าไทย กระทบธุรกิจร้านอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน ไทยจะพึ่งแต่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเขาสามารถไปที่ไหนก็ได้ และเศรษฐกิจจีนก็ไม่ดี รัฐบาลจีนจึงสนับสนุนให้คนเที่ยวในประเทศ ไทยอาจต้องมองนักท่องเที่ยวประเทศอื่นมากกว่านี้ หรือถ้าจะพึ่งตัวเอง คนในประเทศก็ไม่มีกำลังซื้ออีก
“ลูกค้าไฮเอนด์ของจีนไม่ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียว แต่เขาเลือกด้วย และชื่อเสียงของประเทศไทยมีส่วนในการตัดสินใจของเขา”
นายกสมาคมเชฟฯฉายภาพว่า ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าธุรกิจร้านอาหารซบเซาลงถึง 60% แบรนด์ร้านอาหารที่เป็นฟูลเซอร์วิสปิดตัวไปเยอะพอสมควร จริงอยู่ที่ช่วงนี้เป็นโลว์ซีซั่น แต่เมื่อมองไปที่ไฮซีซั่นแล้วก็ยังไม่เห็นอนาคต
“เดี๋ยวนี้ไปดูเยาวราช ไม่มีคนล้นมาข้างทางแล้ว ไม่มีคนจีนยืนรอกินกุ้งเผา กินปูผัดผงกะหรี่ 4 ทุ่มเงียบหมดแล้ว ไม่มีคนเดินถึงตี 2 เหมือนแต่ก่อนแล้ว”
รายย่อยเสี่ยงตายเรียบ
เชฟสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับตนก็มีธุรกิจครอบครัว ชื่อ “วังหน้า เบเกอรี่” จากแต่ก่อนที่ขายได้แสนบาทต่อวัน ตอนนี้เหลือวันละ 3 หมื่นบาท กับลูกจ้างอีก 20 คนที่ต้องดูแล จึงต้องนำดีลิเวอรี่และระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ต้องปรับตัวตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นก็รอดยาก
ที่สำคัญ พฤติกรรมของผู้บริโภคยังปรับเปลี่ยนตลอด ผู้ประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ผู้บริโภคต้องการราคาสมเหตุสมผล ต้องเป็นเทรนด์ที่เหมาะกับปัจจุบัน อาหารแบบโมเลกูลาร์ (Molecular) แม้จะมีการตกแต่งจานที่สวยงามน่าดึงดูด แต่อาจไม่ตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่าในปัจจุบัน
“วันนี้ธุรกิจร้านอาหารเหมือนคนตาบอด ร้านเล็ก ๆ ร้านรากหญ้า ไม่อยากใช้คำว่าตายเรียบ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐบาลต้องมีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน แม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น แจกเงินหมื่น แต่อยากให้ทำแบบตรงเป้า จากเสียงสะท้อนของเชฟและเจ้าของร้าน การจ่ายเงินหมื่นที่ผ่านมาไม่ค่อยกลับคืนสู่วงการธุรกิจร้านอาหารมากนัก”

โจทย์ร้านอาหารเกิดใหม่เยอะ
นายปริญญ์ ผลสุข หรือเชฟปริญญ์ ร้าน “สำรับสำหรับไทย” มิชลิน 1 ดาว กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปกระทบร้านอาหารพอสมควร ปัจจุบันลูกค้าที่ร้านคือนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ใช่แค่จีน แต่มีทั้งยุโรป รัสเซีย อเมริกา และเอเชียหลายชาติ ซึ่งจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับต้นปี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงโลว์ซีซั่น และเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ละคนตระหนักถึงการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ ถูกลง ตลอดจนคนจีนก็นิยมเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น
ก่อนโควิด-19 ร้านอยู่ได้ด้วยลูกค้าคนไทยที่มีกำลังจ่าย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป ลูกค้าต่างชาติมากถึง 80% หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวลดลงอย่างน่าใจหาย ยอดจองลดลงจากเดือนก่อน ๆ ราว 30-40% ต่างจากปีก่อน อาจเรียกว่าปีทองของร้านอาหารไทย ในแง่ที่ว่ามีร้านได้รางวัลระดับโลกจำนวนมาก ทั้งมิชลิน และ The World’s 50 Best Restaurants เป็นต้น บอกกล่าวว่า ประเทศไทยคือเดสติเนชั่นด้านอาหาร และการท่องเที่ยวทั้งระบบ
ตอนนี้จากการเปิดจอง 2 รอบ รองรับลูกค้าได้ 40 คนต่อวัน บางวันลูกค้าก็ไม่เต็ม ทางร้านก็ต้องปรับตัวอยู่เป็นระยะ โดยจะเปลี่ยนเมนูทุกสองเดือนเพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ หวังว่าช่วงไฮซีซั่นสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โลก ส่วนตัวเชื่อว่าเมืองไทยยังเป็นเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวอยู่
“สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารตอนนี้อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด แต่เพราะจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น จึงอยู่ที่วิธีนำเสนอของแต่ละร้าน ร้านใหม่ก็ต้องหาวิธีใหม่ ร้านเก่าก็ต้องปรับตัวอยู่เรื่อย ๆ” เชฟปริญญ์กล่าว
นักท่องเที่ยวจีนหาย 40%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไตรมาส 1/68 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 9.55 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้น 2% และตั้งแต่ 1 มกราคม-5 พฤษภาคม 2568 มีจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติรวม 12.518 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 1.71 ล้านคน รองลงมาคือ มาเลเซีย 1.59 ล้านคน รัสเซีย 8.97 แสนคน อินเดีย 7.86 แสนคน และเกาหลีใต้ 6.05 แสนคน
หากจำแนกเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนพบว่า เดือนมกราคมอยู่ที่ 6.6 แสนคน, กุมภาพันธ์ 3.7 แสนคน ติดลบถึง 44.9% และมีนาคมเหลือ 2.9 แสนคน รวมไตรมาสแรกนักท่องเที่่ยวจีนลดลงไปประมาณ 40%
แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวกล่าวว่า คาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวรวมจะลดลงเหลือราว 8 ล้านคน เนื่องจากการท่องเที่ยวโดยรวมอยู่ในภาวะชะลอตัวชัดเจนตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปอีกไม่ต่ำกว่า 4-5 เดือน หรือกระทั่งสิ้นสุดไตรมาส 3