สุดจะต้าน โควิดพิษร้าย ร้านอาหารร่วงยกแผง

คงไม่มีใครที่จะหลุดรอดหรือฝ่าด่านอันตรายของ “โควิด-19” ไปได้ และเป็นไปตามที่ใครหลาย ๆ คนคาดการณ์ เพียงแต่ว่าใครหรือธุรกิจไหนจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อยแตกต่างกันไป


สะท้อนจากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/2563 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลาย ๆ แห่งที่เริ่มทยอยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ต้องปิดการให้บริการนานเกือบ 2 เดือน ตามมาตรการล็อกดาวน์ของทางการ “ปิดห้าง-ปิดร้าน” เพื่อลดการแพร่ระบาด ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม-17 พฤษภาคม 2563

เริ่มจาก “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” เจ้าของร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ อาทิ เซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิ้ล, ตำมั่ว, ลาวญวน ฯลฯ ที่แจ้งผลการดำเนินงานว่า ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 338.6 ล้านบาท หรือลดลงถึง 55.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ขณะที่รายได้รวมในครึ่งปีแรก ปี 2563 ลดลงจาก 1,495.7 ล้านบาท เป็น 982.2 ล้านบาท หรือลดลง 513.5 ล้านบาท หรือ 34.3%

หากย้อนกลับไปจะพบว่า ตลอดเวลาที่ต้องปิดให้บริการไป 2 เดือน ร้านอาหารในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ได้หันไปให้ความสำคัญกับช่องทางในการซื้อกลับบ้าน หรือดีลิเวอรี่ เพื่อรองความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ การเจรจากับเจ้าของพื้นที่เพื่อขอลดค่าเช่าสำหรับสาขาที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ การใช้นโยบายการสมัครใจลางานโดยไม่รับค่าจ้างทั้งกรณีของผู้บริหารและพนักงาน เป็นการพยายามรักษาสภาพคล่องและคงเงินสดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินงานได้อย่างมั่นคงในระยะต่อไป

เซ็น คอร์ปอเรชั่นระบุว่า การพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะไม่สามารถชดเชยการสูญเสียรายได้ในไตรมาสที่ 2 ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยอดขายของร้านอาหารหลาย ๆ แบรนด์ในเครือได้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่ “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” เจ้าตลาดร้านสุกี้ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน โดยรายได้จากการขายและบริการในไตรมาส 2 ของบริษัท และบริษัทย่อย รวม 2,163 ล้านบาท ลดลง 2,308 ล้านบาท หรือลดลง 51.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้รายได้จากการขายและบริการสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2563 เท่ากับ 5,958 ล้านบาท ลดลง 32.5% จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

เนื่องจากสาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดต้องปิดให้บริการตามประกาศของทางการ และแม้ว่ายอดขายในส่วนของการซื้อกลับบ้านและจัดส่งถึงบ้านจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ของการรับประทานในร้านได้

แม้ว่าร้านอาหารจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างทางสังคม และต้องปิดให้บริการเร็วกว่าปกติ ก็ส่งผลให้ยอดขายค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่หลังจากมีการผ่อนปรนเพิ่มในเดือนมิถุนายน ยอดขายก็ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

เช่นเดียวกับค่ายร้านอาหารรายใหญ่ “ไมเนอร์ ฟู้ด” บริษัทในเครือไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีแบรนด์ดังอยู่ในพอร์ตโฟลิโอมากมาย อาทิ ซิซซ์เล่อร์, เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, เบอร์เกอร์ คิง, บอนชอน ฯลฯ และมีสาขาทั้งในและต่างประเทศ หลังจากที่ทางการได้ประกาศคลายล็อกให้ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร้านอาหารต่าง ๆ ในเครือไมเนอร์ ฟู้ด ในประเทศไทย ที่มีรวมกันประมาณ 1,490 สาขา ได้ทยอยเปิดให้บริการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เปิดได้ทั้งสิ้นราว ๆ 94% โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ยอดขายรวมทุกสาขาลดลง 21.8%

ไม่ต่างจาก “อาฟเตอร์ ยู” ร้านขนมหวานชื่อดัง ที่ยอดขายในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ลดลงเหลือเพียง 144 ล้านบาท หรือลดลงไปกว่า 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้งวด 6 เดือน มีรายได้จากการขาย 363 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ที่มียอด 599 ล้านบาท หรือลดลง 39%

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาและถดถอย จากนี้ไป อาฟเตอร์ ยู จึงมีแผนชะลอการเปิดสาขา และเน้นการออกบูทสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นหลัก จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อาฟเตอร์ ยู วางแผนที่จะขยาย 1 สาขาใหม่ โดยอยู่ระหว่างการต่อรองกับผู้ให้เช่าพื้นที่ จะเลื่อนการพิจารณาการเปิดร้านไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม

พร้อมกันนี้ ยังมีนโยบายออกผลิตภัณฑ์ to go ชนิดใหม่ เพื่อวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด จากที่ผ่านมามีการออกผลิตภัณฑ์แป้งแพนเค้กสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้า รวมทั้งการออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งเพิ่มช่องทางการกระจายผลิตภัณฑ์ในโมเดิร์นเทรดเพิ่ม จากปัจจุบันมีจำหน่ายเฉพาะในบางสาขาของวิลล่ามาร์เก็ต เดอะมอลล์ และท็อปส์ จากที่ผ่านมา อาฟเตอร์ ยู พยายามลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งขอเจรจาลดค่าเช่าจากทางศูนย์การค้า การลดค่าใช้จ่ายพนักงาน ด้วยการลดการจ้างพนักงานชั่วคราว หรือให้พนักงานลาหยุดแบบไม่รับค่าตอบแทน ลดจำนวนพนักงานประจำสาขา ด้วยการให้พนักงานสลับวันเข้าทำงาน เป็นต้น

ไม่เฉพาะร้านอาหารของค่ายต่าง ๆ เท่านั้น แต่พิษไวรัสร้าย “โควิด-19” ยังลามไปถึงค่ายเครื่องดื่มที่โดนหางเลขด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากผลการดำเนินงานของบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ “เสริมสุข” ที่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการขาย 2,441 ล้านบาท ลดลง 760 ล้านบาท หรือ 23.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากยอดขายในช่องทางร้านอาหาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้าลดลง จากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

เช่นเดียวกัน กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มของ “โออิชิ กรุ๊ป” ในช่วงไตรมาส 3 (เมษายน-มิถุนายน) มีรายได้ 1,542 ล้านบาท หรือลดลง 275 ล้านบาท หรือ 15.3% จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้ตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศหดตัวลง 18.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่ธุรกิจกลุ่มอาหาร โออิชิ กรุ๊ป มีรายได้เพียง 630 ล้านบาท หรือลดลงถึง 1,210 ล้านบาท หรือคิดเป็น 65.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะนี้แม้ว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะคลี่คลายขึ้น และเริ่มเห็นสัญญาณบวกของการฟื้นตัวของยอดขายที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้เต็ม 100% โดยเฉพาะตัวแปรในเรื่องของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ที่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ รวมถึงการกลับมาระบาดอีกรอบของ “โควิด-19” ที่ทุกฝ่ายเฝ้าระวังและกังวล ยังวางใจไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง