ส.ภัตตาคารร้องรัฐเยียวยา ชี้มาตรการ ศบค.ทุบแรงงานกว่า 5 แสนคน

สมาคมภัตตาคารร้องรัฐเยียวยา

สมาคมภัตตาคารไทยวอนรัฐเร่งเยียวยา หลัง ศบค.ยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม ห้ามนั่งทานในร้าน แนะใช้ประกันสังคม ชดเชยผู้ประกอบการ-พนักงานร้านอาหาร 70% เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน หลังโควิดระลอก 3 กระทบแรงงาน-ร้านอาหารใน 6 จังหวัดมากกว่า 5 แสนราย

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ประกาศให้ 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ) เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) โดยกำหนดห้ามนั่งรับประทานภายในร้านอาหาร ให้สั่งซื้อกลับบ้าน (ไม่เกิน 21.00 น.) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่ของยอดขายที่คาดว่าจะลดลงมาก ซึ่งคาดว่าจะเหลือประมาณ 20% จากรายได้ทั้งหมด และเกรงว่าอีกไม่นานผู้ประกอบการอาจมีปัญหาเรื่องขาดสภาพคล่องทางการเงินตามมา โดยประเมินว่าจะมีผู้ประกอบการและลูกจ้างได้รับผลกระทบมากกว่า 5 แสนราย

สมาคมอยากเรียกร้องให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยในแง่ของการชดเชยรายได้และค่าใช้จ่ายบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจและเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคมที่ควรมีมาตรการชดเชยและเยียวยากลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างเพิ่มเป็น 70% ของเงินเดือน จากปีที่ผ่านมา (ช่วงล็อกดาวน์) ได้รับชดเชย 62% หากทางการช่วยลดภาระในส่วนนี้ได้บ้างก็จะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้าและไม่ต้องเลิกจ้างพนักงาน

“จริง ๆ แล้ว ร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ที่ถูกสั่งให้ปิด ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนส ร้านนวด เพียงแต่ร้านอาหารยังสามารถให้บริการสั่งซื้อกลับบ้านหรือบริการดีลิเวอรี่ได้ ซึ่งอาจจะไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณาชดเชยของประกันสังคม แต่รายได้ของร้านอาหารที่มีเข้ามาก็จะไม่คุ้มทุนอยู่ดี ซึ่งที่ผ่านมาทั้งพนักงาน ผู้ประกอบการ ก็ได้ส่งเงินประกันสังคมมาโดยตลอด ดังนั้น เวลาที่พนักงานและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ จึงอยากให้ประกันสังคมพิจารณาในส่วนนี้ด้วย”

นางฐนิวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้ สมาคมอยากเสนอให้ ศบค.ผ่อนปรน ด้วยการพิจารณาและอนุญาตให้ร้านอาหารที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานการประเมิน Thai Stop COVID จากกรมอนามัย หรือมาตรฐานการจัดระเบียบต่าง ๆ ให้ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานภายในร้านได้ และมีการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด เพื่อเป็นการประคับประคองทั้งด้านการสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

ก่อนหน้านี้ สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาออกมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร 4 ข้อหลัก ได้แก่ 1.เพิ่มแหล่งเงิน soft loan ที่เข้าถึงได้ง่าย 2.ผ่อนผันชำระต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ โดยอาจจะพักดอกเบี้ย 6 เดือน พักชำระเงินต้น 1 ปี 3.ช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งภาษี และค่าสาธารณูปโภค 4.ช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% หรือผ่อนผันค่าใช้จ่ายประกันสังคม 3 เดือน เบื้องต้นรับทราบว่ามาขอเรียกร้องทั้งหมดกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ จึงอยากร้องขอให้ภาครัฐเร่งทบทวนมาตรการนี้