หมอเกรียงศักดิ์ จับโกหก องค์การเภสัช ปมจัดซื้อ ATK พันล้าน

หมอเกรียงศักดิ์ซัดองค์การเภสัชปม ATK

หมอเกรียงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์แฉปมจัดซื้อ ATK ซัด องค์การเภสัชกรรมโกหก มีลับลมคมใน ล็อบบี้ขอลดสเป็ค

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรงบประมาณ 1,014 ล้านบาท ให้องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) แทน จำนวน 8.5 ล้านชุด

ต่อมาวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา อภ.ได้คัดเลือกผู้เสนอราคา และได้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในราคาประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว อย่างไรก็ตาม มีบางหน่วยงานแสดงความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจดังกล่าว รวมทั้งมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า อภ.จึงขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง MCOT HD 30 ว่า สปสช. ไม่สามารถกำหนดสเปคโดยตรงได้ ต้องแจ้งผ่านโรงพยาบาลราชวิถี และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาอะไร

กรณีการจัดซื้อเอทีเค 8.5 ล้านชุด เป็นเรื่องเร่งด่วน สปสช.ทำหนังสือไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม แจ้งไปที่โรงพยาบาลราชวิถี ขอดำเนินการเร่งด่วนในการจัดซื้อจัดหา ตนเข้าใจว่าองค์การเภสัชกรรม บอกมาว่า คำว่าเร่งด่วนของราชการคือการกำหนดให้ซื้อเฉพาะเจาะจงได้ ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการซื้อเฉพาะเจาะจงคือ วิธีพิเศษ เลือกซื้อได้เลย ซึ่งจะโทษระเบียบของภาครัฐไม่ได้ เพราะมีการเปิดช่องเอาไว้ เรียกว่าล็อกสเป็คก็ได้ ใช้นิ้วชี้ได้เลย เพราะเป็นสถานการณ์เร่งด่วน ราชการสุดยอดมากเพราะทำระเบียบนี้รองรับเอาไว้แล้ว กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงสามารถทำได้

คณะกรรมการวินิจฉัยภาครัฐว่าด้วยการพัสดุของกรมบัญชีกลาง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมบัญชีกลางมีการออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ให้สามารถใช้วิธีการเจาะจง ยกเว้นวงเงิน ขบวนการขั้นตอนตรวจรับก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ซื้อของมาแจกจ่ายได้เลย แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้คงต้องถามองค์การเภสัชกรรม

เมื่อพิธีกรถามว่า นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ได้ถามกลับมาที่ สปสช.แล้ว ถ้าจะเอายี่ห้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง จะมีอยู่ 2 ยี่ห้อ แต่ที่มาขึ้นทะเบียนกับอย.ไทย จะเหลือยี่ห้อเดียว และบอกด้วยว่า สปสช. เกิดอาการลังเลอ้ำอึ้งไม่ตอบให้ชัดว่าจะเอาหรือไม่ ดังนั้น อภ.จึงกลับไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบปกติ

นพ.เกรียงศักดิ์ ตอบว่า “โกหกครับ สปสช. นี่ใจกล้าครับ เพราะมีผมเป็นประธานคณะทำงาน เพราะเรารู้ระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ว่ากรมบัญชีกลาง สตง.และกฤษฎีกา เห็นชอบและรับรู้ในระเบียบข้อนี้อยู่แล้วว่า 115 เค้ามีมติในที่ประชุม 21 ก.ค.แล้ว แล้วก็พูดเองว่าสามารถดำเนินการได้เลย เพราะออกโดยกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว”

“จริง ๆ เค้ามีลับลมคมใน เพราะในมติในวันที่ 15 กรกฎาคม ก็มีมติให้ประสานกับคณะกรรมการต่อรองราคา แต่ปรากฎว่าไม่ประสานอะไรเลย เค้าไปดำเนินการก่อนเลย เค้าจะแบ่งซื้อ 1 ล้านเทสต์ในช่วงแรก โดยจะซื้อกับอีกบริษัทในราคาที่แพงกว่าที่เราเสนอไป เพราะเราผ่านมติบอร์ดว่า 120 บาทต้องรวมค่าขนส่งถึงสถานที่และต้องไม่มีค่าแอดมินใด ๆ อีกแล้ว เพราะว่างบเงินกู้ที่ต้องซื้อเร่งด่วน ”

“ปรากฏว่าเค้าไปดำเนินการจัดซื้อจัดหาโดยท่านเลขาฯก็ได้ประสานกับผมว่า เอ๊ะ ผู้ประสานงานแจ้งมาว่าจะเริ่มมีการจัดซื้อแล้วนะ เพราะว่าเบื้องต้นเค้าจะซื้อแยกไปก่อน 1 ล้านเทสต์ โดยอ้างว่าต้องการเร่งด่วน และอีก 7.5 ล้านเทสต์จะใช้วิธีการประมูล ซึ่งเราก็บอกว่าไม่เห็นด้วยเพราะจะแบ่งซื้อแบ่งจ้างทำไม และสืบวงในมาได้ว่าจะจัดซื้อในราคา 200 บาทเป็นค่าเทสต์ 160 บวกค่าขนส่งอีก 40 บาท ทั้งที่เราต่อรองเบื้องต้นแล้วว่าจะต้องไม่เกิน 120 บาทรวมค่าขนส่ง ดังนั้นเราเลยไม่ยอม เลขาฯจึงสั่งกับผู้ประสานงานสปสช.ไปว่าไม่ให้ทำแบบนั้น

“ก็เลยจะเกิดการประมูล 8.5 ล้านเทสต์ วันที่ 27 กรกฎาคม ปรากฏว่าเค้าแจ้งมาให้ผมคนเดียวให้เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเราไม่ทราบกระบวนการใด ๆ ในการต่อรองราคา หรือเร่งด่วนและจะเจาะจงอย่างไร จะเห็นควรหรือไม่ เค้าส่งลิงค์มาให้ผมเวลา 23.56 น. ว่า วันถัดมา 09.00 น. จะมีการประมูล ผมก็เลยแจ้งให้คณะกรรมการต่อรองฯทั้งหมดเข้าไปร่วมรับรู้ด้วย เราก็เลยแย้งในที่ประชุมว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ปรากฏว่าในวันนั้นเค้าจะยื่นซองประมูล ปรากฏว่าบริษัทที่เราต่อรองมาคืบหน้า 2 เจ้านี้กลับไม่มีสิทธิที่จะยื่นทั้งคู่เลย เค้าอ้างว่าประสานงานไม่ได้ เราก็ยืนยันไปว่าทำแบบนั้นไม่ได้”

“เพราะในมติมีกำหนดไว้แล้วคณะกรรมการต่อรองราคาจะต้องเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้ด้วย ปรากฏว่าเค้ามอบให้เราเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ เลยแย้งไปว่าให้ไปคิดดูให้ดีเพราะจะเกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เค้าก็เลยต้องล้มการเปิดซองในวันนั้น และแจ้งกับเราว่าเค้ามีพรบ.ของเค้าอยู่ ไม่ใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีแต่วิธีคัดเลือก แต่ถ้าจะทำแบบเฉพาะเจาะจงก็ได้ ถ้าลูกค้าต้องการต้องทำหนังสือเป็นทางการมา”

“ผมก็เรียกประชุมมติคณะกรรมการต่อรองราคาฯในวัดถัดมา และยืนยันกลับไปว่าสามารถยื่นให้ทำเฉพาะเจาะจงได้ เราก็เลยขอตกลงเลยให้ยื่นเจาะจง เพราะเรามีรายงานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เราเรียก 2 บริษัทเข้ามา เราบอกว่าการต่อรองครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเอาถูกที่สุด แต่เราต้องการได้ของดีมี 3 มิติ 1 ต้องมีคุณภาพว่าผ่านอย.อย่างเดียวไม่พอ 2. ต้องมีการตีพิมพ์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และ 3 ต้องจัดซื้อของให้ทันเวลาในการนำมาใช้โดยเร็วที่สุดซึ่งคุยตั้งแต่ 9 กรกฎาคม แล้วคือ 1 เดือนคือวันที่ 10 สิงหาคม เราทำทีโออาร์ไปให้เลย กำหนดกรอบการส่งของ มีรายงานการประชุมแนบไป”

แม้ไม่ได้ระบุบริษัท แต่ในรายงานการประชุมระบุชัด  เราเช็คราคามาแล้วเพราะคุยตั้งแต่ 4 กรกฎาคม พอ 9 กรกฎาคม เราเลือกแล้วว่าจะเลือกเจ้าที่เป็นหลังอิงได้คือเจ้าที่มี WHO รับรองเลือกมา 2 บริษัท และไปสืบค้นราคาว่า 2 บริษัทนี้ขายให้ WHO ให้ประเทศทั่วโลกที่ยากจน Panbio ของบริษัท แอบบอต ราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ STANDARD Q โดยเอ็มพี กรุ๊ป ขายราคา 4.96 ดอลลาร์สหรัฐ คือตกประมาณ 160 บาท

ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการมายื่นเสนอคาคาที่ต่ำกว่าที่ WHO เสนออยู่ 1 ดอลลาร์สหรัฐกว่า ๆ ทำให้เราเสนอไปในรายงานการประชุม ด้วยเงื่อนไขราคานี้จึงนำไปสู่การเสนอขอบอร์ดสปสช.ตามลำดับว่าได้เป็นราคา 120 บาท รวมค่าขนส่งถึงหน่วยบริการ”

“แต่ปรากฏว่าองค์การเภสัชกรรม กลับไม่ทำอย่างนั้น แล้วก็มาบอกว่าถ้าจะให้ทำอย่างนั้นจะต้องให้เราทำหนังสือไป เราก็ทำหนังสือไปวันที่ 29 กรกฎาคม ให้โรงพยาบาลราชวิถี เพราะเราไม่มีหน้าที่โดยตรงแล้วก็ ซีซี ส่งไปที่เค้า แล้วเค้าก็มาล็อบบี้ขอกับเจ้าหน้าที่เราเป็นการภายในว่าเรื่องเร่งด่วน เค้าขอใช้วิธีจัดซื้อแบบของเค้าได้ไหม และขอให้เราตัดคำว่า WHO ออก ตัดคำว่าการตีพิมพ์ออกได้ไหม แล้วก็บอกว่าจะสามารถจัดซื้อได้ภายใน 7 วันส่งของ ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม เราก็เลยยอมตรงข้อนี้ไปให้ ไม่ใช่ว่าเราปรับเปลี่ยนไปปรับเปลี่ยนมา”

“วันสุดท้ายวันที่ 5 ที่ 6 ขอปรับสเปคเราอีก แต่เราไม่ยอม ผมไม่ยอมเพราะคุณจะต้องเอามาเป็นข้ออ้างแน่นอนว่าเราปรับเปลี่ยนสเปค ทั้งที่เรายืนยันตั้งแต่ 9 กรกฎาคมแล้วว่าให้เจาะจง เราไม่กลัว เพราะเรามีหลังอิงอยู่แล้ว มีหลักการและเหตุผลอยู่แล้ว สตง.เองก็บอกว่าไม่จำเป็น คณะกรรมการที่ประชุมด้านกฎหมายก็ยืนยันว่าจริง ๆ ไม่ต้องมีทีโออาร์ก็ได้ ส่งของก่อนก็ยังได้”

“่คณะกรรมการพร้อมที่จะออกมาปกป้องประชาชน เพราะของถูกก็โดนด่า ของแพงก็โดนด่า เราทำงานอย่างระเอียดรอบคอบ มีขั้นตอนตั้งแต่ 4 กรกฎาคม มีการตรวจสอบบริษัทต่าง ๆ วิธีการใช้ต่าง ๆ อย่างละเอียด”

“ในนั้นมีอยู่ 19 บริษัทที่เอฟดีเอเรียกคืน ที่ระบุเป็นคลาส 1 ถือว่าเป็นอันตรายสูงสุด เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ หมายถึงต้องบังคับใช้ข้อกฎหมาย สั่งการว่าดิสทริบิวเตอร์ต้องทำอย่างไร หน่วยงานสาธารณสุขต้องทำอย่างไร หากเทสต์ไปแล้วต้องเทสต์ใหม่”