ญี่ปุ่นเริ่มทดสอบรถไฟชินคันเซนไร้คนขับ หวังรับมือปัญหาแรงงาน

ภาพ : สนข.Kyodo

การทดสอบขั้นต้นด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะ 5 กิโลเมตร สามารถเข้าจอดคลาดเคลื่อนเพียง 8 เซนติเมตร

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัท JR East หนึ่งในผู้ให้บริการรถไฟรายใหญ่ของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบควบคุมอัตโนมัติในรถไฟชินคันเซนรุ่น E7 โดยในการทดสอบขั้นต้นด้วยความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทาง 5 กิโลเมตรจากสถานีนีกาตะไปยังโรงจอดจำนวน 3 ครั้งนั้น ระบบอัตโนมัติสามารถนำรถไฟเข้าจอดคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งที่กำหนดไม่ถึง 50 เซนติเมตร และมีสถิติดีที่สุดที่ 8 เซนติเมตร โดยเจ้าหน้าที่ที่นั่งสังเกตการณ์ไม่ต้องให้ความช่วยเหลือใด ๆ

การทดสอบนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นนำระบบควบคุมอัตโนมัติแบบ 100% มาใช้งานในรถไฟความเร็วสูงแบบชินคันเซน และหลังจากนี้จะขยายรูปแบบการทดสอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามโรดแมป “Move Up 2027” ของบริษัท JR East ที่พยายามรับมือความเสี่ยงด้านการขาดแคลนพนักงานควบคุมรถไฟในอนาคต เนื่องจากปัญหาประชากรลดลง

ทั้งนี้ นอกจากรถไฟชินคันเซนแล้ว บริษัท JR East ยังนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้กับรถไฟความเร็วปกติด้วย โดยช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเริ่มใช้ในรถไฟสายโจบัน (Joban) ที่ให้บริการบริเวณกรุงโตเกียวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เพิ่มจากเดิมที่มีใช้งานในสายยูริกาโมเมะ (Yurikamome) ที่เป็นรถไฟฟ้าล้อยางให้บริการย่านริมอ่าวของกรุงโตเกียวมาตั้งแต่ปี 1995

เช่นเดียวกับผู้ให้บริการเดินรถไฟรายอื่น ๆ ทั้งบริษัท JR West ที่ทดลองใช้งานในเมืองโอซากะเมื่อปีที่แล้ว ส่วนบริษัท Tobu Railway มีแผนทดลองในปีงบฯ 2023

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า หากการนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้แทนพนักงานขับรถไฟนี้ประสบความสำเร็จ อาจจะช่วยให้รถไฟเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในญี่ปุ่นได้มากเท่าในอดีต รวมถึงอาจให้บริการรถไฟความเร็วสูงได้ในหลายพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาต้นทุนด้านบุคลากรที่พุ่งสูงสวนทางกับจำนวนลูกค้า ทำให้หลายเส้นทางต้องยกเลิกการเดินรถไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจยังไม่ได้ใช้งานรถไฟความเร็วสูงไร้คนขับเร็ว ๆ นี้ โดยตัวแทนของบริษัท JR East ระบุว่า การนำระบบไร้คนขันมาใช้จริงยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน อาทิ การติดตั้งแนวกำแพง-ประตูกั้นชานชาลาในทุกสถานนี และการวางมาตรการรับมือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถไฟที่จะพาผู้โดยสารออกจากรถไปยังสถานที่ปลอดภัย เป็นต้น