อินฟอร์มา จัดดิจิทัลอีเวนต์ยา-เวชภัณฑ์ หนุนอุตสาหกรรมยาไทยสู่เวทีโลก

ภาพ : pixabay

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน จัดดิจิทัลอีเวนต์ยา-เวชภัณฑ์ ครบวงจร หวังดึงนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่ายและเจรจาธุรกิจ เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยาไทยกว่า 1.9 แสนล้านบาท พร้อมดันไทยเป็นตลาดเวชภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและพัฒนาองค์กรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อสุขภาวะของประชาชนในประเทศ และตลาดยายังมีความน่าสนใจในฐานะอุตสาหกรรมที่จะสร้างรายได้และโอกาสให้กับประเทศไทยอีกด้วย

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์
รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์

โดยปัจจุบันมูลค่าของอุตสาหกรรมยาในไทยในประเทศนั้นมีมูลค่าประมาณ 1.9 แสนล้านบาท และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยงานซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2021 หรืองานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาและสารสกัดจากธรรมชาติครบวงจรในเอเชียจะจัดขึ้นในรูปแบบดิจิทัลอีเวนต์ขึ้นถึงวันที่ 10 ธันวาคม

ด้านเภสัชกรหญิง ลลนา เสตสุบรรณ นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เปิดเผยว่า มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศปี 2564 ยังคงเติบโต แม้จะชะลอลงเล็กน้อย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คาดว่าจำนวนผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลสำหรับโรคไม่รุนแรงจะปรับลดลง และการซื้อยาผ่านร้านขายยาเองก็ชะลอลงตามกำลังซื้อที่ซบเซา แต่ตลาดยายังมีปัจจัยบวกจากความต้องการใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19

อาทิ ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ยาแก้ไอและยาลดไข้ สำหรับปี 2565-2566 คาดว่ามูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตเฉลี่ย 3.5% ตามการฟื้นตัวของตลาด และการให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนเพื่อป้องการการติดเชื้อ

ภาพ : pixabay

อย่างไรก็ตามความท้าทายของอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยคือ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการนำเข้ายาราคาถูกจากอินเดียและจีน การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะท่าทีของการที่จะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) อาจส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญที่มีสิทธิบัตรได้ช้าลง จึงส่งผลต่อราคาของยาบางประเภทที่มีสิทธิบัตรจะมีราคาแพงได้นานต่อไป

เพราะรัฐจะขาดอำนาจในการต่อรองราคาเนื่องจากการถูกผูกขาดจากระบบสิทธิบัตร หากภาครัฐต้องการสร้างความมั่นคงด้านยา และลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศอย่างจริงจัง ภาครัฐควรต้องมีนโยบายสนับสนุนการผลิตยาและสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาที่ผลิตในประเทศผ่านกลไก MADE IN THAILAND อย่างเป็นรูปธรรม

อีกกลุ่มที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ กลุ่มเวชสำอาง สารสกัดจากพืช สมุนไพร และส่วนประกอบจากธรรมชาติซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ตลาดสมุนไพรจะมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่นิยมใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ และนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐที่ใช้สมุนไพรแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ความได้เปรียบด้านความหลากหลากของพืชสมุนไพรมาพัฒนาสร้างจุดแข็งในการส่งออกสมุนไพร

สำหรับ ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2021 (CPhI South East Asia 2021) หรืองานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาและสารสกัดจากธรรมชาติครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกจัดขึ้นในรูปแบบดิจิทัลอีเวนต์ โดยผู้เข้าชมงานสามารถค้นหาสินค้าและผู้ประกอบการที่สนใจได้อย่างง่ายได้จากการใช้เทคโนโลยี AI ในการแนะนำสินค้าหรือผู้จัดแสดงสินค้าที่คาดว่าตรงกับความต้องการ