เช็กค่าส่งอาหาร 6 แอปดัง พาณิชย์เบรกขึ้นราคาดูแลรายจ่ายผู้ใช้บริการ

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Central Westgate

กระทรวงพาณิชย์เบรกแอป ดีลิเวอรี่ ขอความร่วมมืองดขึ้นค่าส่งอาหารช่วยประชาชน ก่อนเปิดข้อมูลค่าส่งอาหาร 6 แอปดัง

วันที่ 23 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีกระแสข่าว บรรดาแอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่ส่งอาหารหลายรายพิจารณาเตรียมขึ้นค่าส่ง เนื่องสถานการณ์ต้นทุน และภาวะเศรษฐกิจ

โดยล่าสุด เมื่อวานนี้ (21 มีนาคม 2565) มีรายงานว่า นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้จัดประชุมกับผู้ให้แพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์และแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ อาทิ Shopee, Lazada, Grab Food, Lineman, Foodpanda, Robinhood และ AirAsia Food

เบื้องต้น ผู้ประกอบการทุกรายไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าบริการขนส่งและไม่ได้มีแผนที่จะปรับขึ้นค่าบริการดังกล่าวด้วย และทางกรมเน้นย้ำไม่ให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มปรับขึ้นค่าบริการในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

เนื่องจากการให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือว่ามีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และได้กำชับให้มีการแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านระบบออนไลน์ ต้องแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการให้ปรากฏชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย

และกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าสินค้าหรือบริการ ต้องแสดงค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ การไม่แสดงราคาสินค้าและบริการ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากประชาชนพบการกระทำความผิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาและปริมาณสินค้า สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

กรมการค้าภายใน ร่วมหารือกับผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่ ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กรมการค้าภายใน

จากกระแสข่าวดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้สำรวจค่าขนส่งของแอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่ โดยยกมา 6 แห่ง เพื่อฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจน

1. Robinhood (โรบินฮู้ด) 

  • พัฒนาโดยบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในเครือ เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์
  • ค่าส่งปกติ เริ่มต้น 10 บาท ในรัศมี 10 กิโลเมตร มากกว่า 60,000 ร้านค้า
  • ช่องทางการชำระเงินผ่าน SCB Easy App, บัตรเครดิต, บัตรเดบิต, บัตรพรีเพด
  • ผู้ใช้งาน 2.3 ล้านราย (ที่มา: Nikei ธันวาคม 2564)
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Robinhood Delivery

2. LINEMAN (ไลน์แมน)

  • เจ้าของ บริษัท ไลน์แมนวงใน จำกัด (LINE MAN Wongnai)
  • ค่าส่งแบบพิเศษ เริ่มต้น 0 บาท ในระยะทาง 1 กม. สั่งขั้นต่ำ 50 บาท
  • ค่าส่งปกติ ตามรายละเอียดในแอปพลิเคชัjน
  • ช่องทางชำระเงิน 4 ช่องทาง ได้แก่ เงินสด, K-PLUS (แอปของธนาคารกสิกรไทย), Rabbit LINE Pay และบัตรเครดิต-เดบิต
  • ผู้ใช้งาน 5.9 ล้านคน (ที่มา: LINEMAN เดือนพฤศจิกายน 2564)
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก LINEMAN

3. GRAB (แกรHบ) 

  • เจ้าของ แกร็บ ประเทศไทย
  • ค่าส่งเริ่มต้น 15 บาท ในระยะ 5 กม. ทั้งนี้ ราคาอาหารหน้าแอปอาจมีแตกต่างจากราคาที่ร้านเรียกเก็บ และยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ช่องทางการชำระเงิน เงินสด, บัตรเครดิต-เดบิต, Grabpay Wallet และ Alipay
  • จำนวนผู้ใช้งาน ไม่ระบุ
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Grab

4. Foodpanda (ฟู้ดแพนด้า)

  • เจ้าของ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด
  • ค่าส่งเริ่มต้น 10 บาท จากนั้นเพิ่มขึ้นตามระยะทาง
  • ช่องทางชำระเงิน 4 ช่องทาง เงินสด, PayPal, True Money Wallet และบัตรเครดิต-เดบิต
  • จำนวนผู้ใช้งาน ไม่ระบุ
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Foodpanda

5. Shopee Food (ช้อปปี้ ฟู้ด อยู่ในแอป Shopee)

  • เจ้าของ บริษัท Sea Limited
  • ค่าส่งเริ่มต้น 0 บาท
  • ช่องทางชำระเงิน 5 ช่องทาง ได้แก่ ShopeePay (AirPay เดิม), เงินสด, บัตรเครดิต-เดบิต, iBanking และ Moblie Banking
  • จำนวนผู้ใช้งาน อิงจากฐานผู้ใช้งานแอป Shopee จำนวน 40 ล้านดาวน์โหลด (ที่มา:เส้นทางเศรษฐี)
ภาจาก Youtube Channel: ShopeeFood TH

และ 6.Air Asia Food (แอร์เอเชียฟู้ดภายใต้แอป Airasia Super App)

  • เจ้าของ กลุ่มแคปปิตอล เอ (Capital A)
  • ค่าส่ง ฟรี 6 กิโลเมตรแรก หลังจากนั้นคิดตามระยะทาง
  • ช่องทางชำระเงิน 3 ช่องทาง ได้แก่ บัตรเครดิต-เดบิต, True Money Wallet และ Union Pay
  • จำนวนผู้ใช้งาน ไม่ระบุ
ภาพจาก airasia.com/food

ตลาด 1.05 แสนล้าน แข่งดุ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564  ประเมินว่า ตลาด Food Delivery ของไทยในปี 2564 จะเติบโต 62% จากปี 2563 จนมีมูลค่าตลาด 1.05 แสนล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2563 ที่เติบโตก้าวกระโดดเกือบ 3 เท่าตัว

เป็นผลจากการใช้งานที่ยังเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดโปรโมชั่นส่วนลดของแพลตฟอร์มเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์และห้ามรับประทานอาหารภายในร้านในช่วงที่ผ่านมา ที่ช่วยเร่งให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนแนวโน้มของตลาด คาดว่าแนวโน้มจะรุนแรงต่อเนื่องทั้งในด้านการจัดโปรโมชั่นส่วนลดแก่ทั้งผู้ใช้บริการ และร้านอาหารจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่, การขยายพื้นที่การให้บริการ และการเพิ่มรูปแบบการให้บริการในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

อีกทั้งการขยายบริการไปด้านอื่น ๆ นอกเหนือจาก Food Delivery เช่น การซื้อสินค้า, การขนส่งสินค้า, การเงิน และการท่องเที่ยว จะทำให้การแข่งขันสู่การเป็น Super App จะเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นและทวีความรุนแรงกว่าเดิม ทั้งจากแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่ขยายบริการไปด้านอื่น ๆ และจากแพลตฟอร์มที่เน้นบริการด้านอื่นที่หันมาให้บริการ Food Delivery

นี่คือ ภาพรวมของธุรกิจ Food Delivery ที่กำลังแข่งเดือดกันอย่างรุนแรงในขณะนี้