สหกรุ๊ปแฟร์ ย้อนตำนานเจ้าสัวสหพัฒน์ ประกาศเกษียณ ด้วยตัวเลข 8888  

เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา นำทีมผู้บริหารเครือสหพัฒน์จัดงานแสดงสินค้าในตำนานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือสหพัฒน์ได้จัดงานแถลงข่าวสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 ภายใต้คอนเซ็ปต์  “ปลดล็อก ช้อปสวนกระแส” ยกทัพสินค้าให้ช็อปทั้ง Onsite และ Online โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 2565-3 กรกฎาคม 2565 ที่ไบเทค บางนา โดยมีผู้บริหารในตระกูลโชควัฒนา และคู่ค้า ธุรกิจพันธมิตร เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

ถือเป็นงานแสดงสินค้าในตำนานที่นายบุณยสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความอัตชีวประวัติ เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Nikkei ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho ชื่อเรื่อง My Personal History ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 และนำเสนอเป็นภาษาไทยในคอลัมน์ “กว่าจะเป็นเจ้าสัวสหพัฒน์” ในเว็บไซต์ www.prachachat.net ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

สหกรุ๊ปแฟร์ รำลึกถึงนายห้างเทียม

นายบุณยสิทธ์กล่าวในบทสัมภาษณ์ กับ Nikkei ว่า งานแสดงสินค้าของเครือสหพัฒน์ ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และตั้งแต่ปี 2541 ได้ย้ายสถานที่จัดงานไปที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ และจัดต่อเนื่องเป็นประจำปีละครั้งภายใต้ชื่องาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นงานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออก ยังเป็นงานขายสินค้าสำหรับคู่ค้าและผู้บริโภคในประเทศด้วย

“งานสหกรุ๊ปแฟร์เป็นงานประจำปีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งพนักงาน ผู้บริหาร กิจการทั้งเครือสหพัฒน์เข้าร่วม และเป็นงานที่ลูกค้าเรารอคอย จะจัดขึ้นประมาณวันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของพ่อฉัน นายเทียม โชควัฒนา และเราได้จัดงานนี้ต่อเนื่องมาสม่ำเสมอ จนกลายเป็นประเพณีของเครือสหพัฒน์”

อนาคตของเครือสหพัฒน์

ทั้งนี้ ในงานเขียนชิ้นดังกล่าว นายบุณยสิทธิ์ยังได้ระบุถึงอนาคตของเครือสหพัฒน์ไว้ว่า “อยากให้เครือสหพัฒน์มีความมั่นคงมากกว่าความยิ่งใหญ่ ภายใต้การบริหารของลูกหลาน ‘โชควัฒนา’ รุ่น 2 และรุ่น 3 ด้วยหลักความซื่อสัตย์ สืบทอดต่อรุ่นถัดไป”

เจ้าสัวบุณยสิทธิ์เล่าว่า “ลูก ๆ ของฉันได้เข้ามารับผิดชอบกิจการในรุ่นต่อไป อาทิ ธรรมรัตน์ โชควัฒนา ลูกชายคนโตของฉัน เขาจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารจัดการแล้ว เขาเป็นคนพูดน้อย ถนัดการตั้งรับ เติบโตมากับธุรกิจสิ่งทอ เป็นกรรมการผู้อำนวยการของบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)”

ลูกสาวคนโต ธีรดา อำพันวงษ์ (โชควัฒนา) เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเครื่องสำอาง คือ บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) มีวิธีการบริหารที่รัดกุม

วิชัย กุลสมภพ สามีของลูกสาวคนรอง เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI คือ เขามีบุคลิกที่สดใสและประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทร่วมทุนจากญี่ปุ่น

ลูกชายคนที่ 2ของบุณย์เอก พี่ชายคนโตของฉันชื่อ เวทิต โชควัฒนา เรียนจบจากสหรัฐอเมริกาและสร้างผลงานในฐานะกรรมการผู้อำนวยการของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่เป็นกิจการรากเหง้าของเรา

พิภพ โชควัฒนา ซึ่งเป็นลูกชายคนที่ 2 ของพี่ชายคนที่ 2 บุญปกรณ์ โชควัฒนา เขาเป็นคนกว้างขวางในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ เป็นกรรมการบริษัท SPI คอยช่วยเหลือวิชัย กุลสมภพ ที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

เครือสหพัฒน์ในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งประธานเครือที่ฉันเป็นอยู่ก็ได้ ฉันยังไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อใคร ค่อย ๆ ฟังเสียงของพนักงานว่าผู้บริหารจากตระกูลโชควัฒนา รุ่นที่ 3 ใครทำได้ดีที่สุด แล้วหลังจากที่ฉันจากไปค่อยให้ทุกคนตัดสินใจก็ได้

ถ้าถามว่าคุณสมบัติที่จำเป็นในการเป็นผู้นำของเครือสหพัฒน์คืออะไร คำตอบของฉัน คือ “ความซื่อสัตย์” และที่พ่อสั่งสอนเสมอว่า ความจริงใจ” และ “ความเชื่อใจต้องมาก่อน” ฉันเองก็พยายามทำเช่นเดียวกัน

แม้การทำกำไรจะเป็นสิ่งสำคัญของบริษัท แต่ก็มีกำไรที่ดีและกำไรที่ไม่ดี เวลาที่ฉันนึกภาพเครือสหพัฒน์ในอีก 50 ปี หรือ 100 ปีข้างหน้า ฉันอยากให้เราเป็นบริษัทที่มั่นคง ยั่งยืน มากกว่าเป็นบริษัทใหญ่

เพื่อนำพาเครือสหพัฒน์ไปให้ถึงจุดหมายที่เราอยากจะเป็นบริษัทที่มั่นคง ฉันคิดว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแนวทางการทำงาน จากเดิมที่ผ่านมาการขยายธุรกิจจะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาทีละแห่งเพื่อรองรับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการมาร่วมลงทุน

การแยกบริษัทออกไปทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ต่อจากนี้ไปการรวมเข้าด้วยกันจะดีกว่า พูดให้เห็นภาพคือ จากปัจจุบันเครือสหพัฒน์มี 300 บริษัท จะไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 หรือ 1,000 บริษัท แต่จะถูกรวมเข้าด้วยกันเหลือ 200 หรือ 100 บริษัท

เครือสหพัฒน์นับแต่พ่อฉัน เทียม โชควัฒนา ก่อตั้งในปี 2485 จนถึงปัจจุบัน ลักษณะธุรกิจหลักของเรา คือ การนำร่องบริษัทจากญี่ปุ่นที่ขยายตัวสู่ประเทศไทย

ทุกวันนี้ตลาดในเมืองไทยกำลังค่อย ๆ อิ่มตัว จึงถึงเวลาที่ต้องออกไปสู่ตลาดประเทศอื่นด้วย ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าเราต้องไปคนเดียว แต่เราจะทำงานร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นหรือบริษัทไทยอื่น ๆ เพื่อบุกเข้าสู่ตลาดเอเชียและตะวันตก

8888-ขีดเส้นปฏิทินชีวิต “บุณยสิทธิ์”

เจ้าสัวสหพัฒน์เล่าไว้ในบันทึกดังกล่าวด้วยว่า “ฉันขีดเส้นในปฏิทินไว้ว่า วันที่อายุ 88 ปี วันที่ 8 เดือน 8 ฉันจะก้าวสู่การเกษียณจากการทำงานด้วยความภาคภูมิ”

ในปีนี้ 2565 ฉันอายุครบ 85 ปี ฉันพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การกิน หรือการแต่งตัว รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันไม่เปลี่ยนมานานหลายสิบปี

เริ่มจากตื่นนอนตอนตี 4 ดูข่าวจากทีวี ระยะหลังมานี้ฉันมักจะดูข่าวสารผ่านแอปพลิเคนชั่น LINE บนโทรศัพท์มือถือ เพื่อติดตามเหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นจะเดินเล่นรอบบ้านให้ได้ประมาณ 5,000 ก้าวต่อวัน

กินอาหารเพียงวันละมื้อเท่านั้น คือ อาหารมื้อเช้า ไม่ใช่เพราะหมอสั่ง แต่ฉันเริ่มทำเองเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เพราะความดันในเลือดสูงและมีอาการเบาหวาน ถ้าฉันกินอาหาร 3 มื้อต่อวันตัวเลขความดันและน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นมาก เมื่อลดมื้ออาหารปริมาณการใช้ยาก็ลดลง

ในช่วงแรกที่กินอาหารวันละมื้อ ฉันรู้สึกหิวจนทนไม่ได้ แต่ไม่นานก็ชินไปเอง ตอนนี้ฉันกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก และลดการกินยารักษาโรคต่าง ๆ ไปโดยปริยาย

กิจกรรมในวันหยุด ฉันจะเล่นกอล์ฟกับเพื่อน ๆ ที่สนิท เดินไปรอบ ๆ สนาม 9 หลุม ช่วงบ่ายทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว ฉันแต่งงานกับภรรยา คือ พัชรินทร์ เมื่อ 54 ปีก่อน ในวันที่ 11 เดือน 11 พ.ศ. 2511 มีลูกชาย 2 คน ลูกสาว 2 คน การได้เห็นการเติบโตของหลาน ๆ จำนวน 12 คน ครบ 1 โหล นั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ฉันมีความสุขมากกว่าสิ่งอื่น