เวียดนาม ปั้นฮับถ่ายภาพยนตร์ สะเทือน ไทย-ฟิลิปปินส์

ภาพยนตร์ กองถ่าย
คอลัมน์ Market Move

อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เวียดนามหมายตาให้เป็นตัวสร้างการเติบโต หลังเม็ดเงินจากภาพยนตร์ดังอย่าง “คอง มหาภัยเกาะกะโหลก” และ “Da 5 Bloods” ที่บางฉากถ่ายทำในเวียดนาม

โดยรัฐบาลถึงกับลงทุนปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองทศวรรษ เพื่อให้เป็นมิตรกับบรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์มากขึ้น

จากเดิมที่เวียดนามนั้นขึ้นชื่อว่ามีข้อห้ามยิบย่อยเกี่ยวกับการถ่ายทำมาก และเข้มงวดเสียจนภาพยนตร์หรือซีรีส์เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม อาทิ “แรมโบ้” “กองทัพอำมหิต” และ “พลาทูน” ยังยอมลงทุนยกกองไปถ่ายทำในประเทศอื่นอย่างไทย และฟิลิปปินส์ แล้วปรับสถานที่ให้เหมือนเวียดนามแทน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของเวียดนามที่จะก้าวขึ้นเป็นฮับของการถ่ายทำภาพยนตร์เทียบชั้นกับไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนนั้น อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์หลายรายยังคงกังขาถึงความเปิดกว้างของเวียดนาม หลังการปรับแก้กฎหมายใหม่ เนื่องจากแม้จะมีการนำกฎข้อบังคับต่าง ๆ ที่เคยกระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับมารวมกันไว้ในที่เดียว เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี และการตีความ-บังคับใช้ มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งประเทศอื่น ๆ แล้วยังนับว่าเข้มงวดกว่ามาก

“ชาร์ลี เหงียน” นักเขียนบท ผู้กำกับภาพยนตร์และโปรดิวเซอร์ที่มีผลงาน อาทิ พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก ภาค 2 กล่าวว่า การควบคุมของภาครัฐมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น เช่น ฉากความรุนแรงที่เมื่อ 10 ปีก่อนต้องตัดทิ้งก็สามารถใส่ไว้ได้แล้ว สอดคล้องกับความเห็นของ “เลออน กวาง หลี่” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเวียดนามอีกรายที่ระบุว่า แม้แต่ฉากเปลือยในภาพยนตร์ฉายโรงก็เริ่มผ่านการเซ็นเซอร์แล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ ฝ่ายผู้ร่างกฎหมายยังมีท่าทีเข้าใจการทำงานบันเทิงมากขึ้นบางรายถึงกับแสดงความเห็นว่า ภาพยนตร์เวียดนามควรถูกพิจารณาเซ็นเซอร์หลังสร้างเสร็จแล้วเท่านั้น เพื่อให้สามารถนำเวอร์ชั่นสมบูรณ์ไปแข่งขันกับต่างชาติได้ หรือควรเปิดกว้างให้ร่วมงานกับทีมงานต่างชาติได้มากขึ้น เป็นต้น

แต่ “ชาร์ลี เหงียน” ยังตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากนี้ยังต้องรอการออกกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ และการตีความกฎหมายในการพิจารณาอนุญาตจริง จึงจะรู้ชัดว่ารัฐบาลเวียดนามจริงจังกับการเปิดกว้างด้านการผลิตสื่อแค่ไหน

ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนการแก้กฎหมาย หน่วยงานกำกับดูแลของเวียดนามมักใช้ดุลพินิจที่ค่อนข้างกว้างในการตีความกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในกฎหมายภาพยนตร์ ทำให้ผลงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก รวมถึงถูกห้ามฉาย โดยที่ผู้สร้าง-ผู้กำกับไม่สามารถรู้ได้ว่าถูกเซ็นเซอร์เพราะอะไร

โดยสิ่งที่เข้าข่ายถูกเซ็นเซอร์นั้น มีตั้งแต่บุหรี่, ไสยศาสตร์, ความรุนแรง, ฉากโป๊เปลือย ไปจนถึงเรื่องเกี่ยวกับการเมือง อาทิ เรื่องราวเกี่ยวกับรัฐบาล, การทำงานของตำรวจ รวมถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง “Uncharted ผจญภัยล่าขุมทรัพย์สุดขอบโลก” และ “Abominable เอเวอเรสต์ มนุษย์หิมะเพื่อนรัก” ถูกเซ็นเซอร์

นอกจากนี้ แม้แต่การเข้ามาออกกองถ่ายทำภาพยนตร์ของทีมงานต่างชาติก็ต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน โดยทีมงานจะถูกผู้ดูแลที่รัฐแต่งตั้งตามประกบอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศ ก่อนปัจจุบันจะปรับลดลงเป็นเพียงแค่ให้ส่งสรุปบทภาพยนตร์ให้พิจารณาก่อนเท่านั้น

ในขณะที่นักวิเคราะห์การลงทุนมองว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเวียดนามมีศักยภาพสูง ทั้งจากการมีผู้กำกับเชื้อสายเวียดนามจำนวนมากที่ผ่านงานในฮอลลีวูดมาก่อน สะท้อนจากภาพยนตร์อย่าง Rom ที่เขียนบทและกำกับโดย จั่น ถั่นฮวย ซึ่งได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน แต่กลับต้องเผชิญการเซ็นเซอร์เมื่อฉายในบ้านเกิด

ไปในทิศทางเดียวกลุ่มทุนต่างชาติอย่าง “ซีเจ กรุ๊ป” ของเกาหลีใต้ ที่เข้ามาเปิดธุรกิจเชนโรงภาพยนตร์ในชื่อซีจีวี ตั้งแต่ปี 2554 หวังสร้างเม็ดเงินจากฐานผู้ชมกว่า 90 ล้านคน ซึ่งมีการแข่งขันน้อยกว่าไทย หรืออินโดนีเซีย โดยช่วงปี 2559-2562 รายได้เติบโตไปถึง 66% แซงหน้ากิจการในเกาหลีใต้

ทั้งนี้ต้องรอดูว่า ความพยายามผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเวียดนามจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถขึ้นมากระทบไหล่ไทยและประเทศอื่น ๆ ที่เป็นโลเกชั่นยอดฮิตของฮอลลีวูดอยู่ในตอนนี้ได้หรือไม่