อากิโอะ โตโยดะ ปั้นมิติใหม่ 60 ปี “โตโยต้า ไทยแลนด์”

คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ “อากิโอะ โตโยดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด วางโปรแกรมเพื่อเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระที่โตโยต้า ประเทศไทย ครบรอบการดำเนินธุรกิจ 60 ปี ซึ่ง “โตโยดะ” ใช้คำว่า Thailand my “home away from home” หรือ ประเทศไทย คือ บ้านอีกหลังหนึ่งนอกจากบ้านเกิดที่ญี่ปุ่นของเขา

ตามความเชื่อทางวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น การก้าวเข้าสู่ช่วงอายุครบ 60 ปี หรือที่เรียกว่า “คันเรกิ” หรือแปลว่า “การเกิดใหม่” นั้นถือเป็นโอกาสที่พิเศษมาก ๆ และแน่นอนว่า บนเวที “อากิโอะ โตโยดะ” ย่อมไม่ธรรมดา หลายสายตาจับจ้องเพื่อรอฟังถึงทิศทางที่ โตโยต้า มอเตอร์ จะขับเคลื่อนไปในทิศทางใดของโลกยานยนต์

เขาเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน โตโยต้าเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย ด้วยพนักงานเพียงไม่กี่คน จากการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากญี่ปุ่นมาประกอบในประเทศไทยและจัดจำหน่าย ด้วยความทุ่มเท และพยายาม เพื่อสร้างรถยนต์สำหรับคนไทย และยังได้ฝ่าฟันกับวิกฤตอุปสรรคหลายอย่าง เพื่อสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งและมั่นคงในประเทศไทย

จนกระทั่ง โตโยต้า สามารถพัฒนารถยนต์คันแรกที่ออกแบบและพัฒนาสร้างรถยนต์ในประเทศไทยได้ทั้งคัน และเป็นรถยนต์สำหรับตลาดประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งรถคันนี้มีชื่อว่า “โซลูน่า” ที่ตอนนั้นเป็นที่นิยมมากเกือบเท่ากับ “วงแบล็กพิงก์” เลยก็ว่าได้ (เสียงเฮดังลั่นห้อง)

แต่หลังจากนั้น ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงไป ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบครั้งใหญ่วิกฤตค่าเงิน แต่ด้วยนโยบายที่เรายึดถือมาตลอด คือเราจะไม่เลิกจ้างพนักงานแม้แต่คนเดียว เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชประสงค์สั่งซื้อรถยนต์โซลูน่า เราจึงได้นำเงินจำนวนนี้ เพื่อสนองพระราชดำริของพระองค์ด้วยการก่อตั้ง บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด เพื่อช่วยเหลือเพื่อนชาวนาที่ยากลำบาก

และนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราได้รับความกรุณาจากพระบรมวงศานุวงศ์

ย้อนกลับไปเมื่อครั้ง โตโยต้าเผชิญประเด็นปัญหาเรื่องการเรียกคืนรถในปี พ.ศ. 2553 ผมจำเป็นต้องให้การต่อสภาคองเกรส ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนั้น “โตโยดะ” บอกว่า ถือเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และมีหลายคนที่กังขาในความซื่อตรงในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า แต่ระหว่างการพิจารณาคดี มีผู้นำระดับโลกเพียงท่านเดียว ที่แสดงความเชื่อมั่นในโตโยต้า และตั้งคำถามต่อข้อเท็จจริงในเรื่องที่ได้รับการรายงานมา นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ผมบรรยายได้ไม่ถูกเลยว่า I cannot tell you how deeply I appreciated this ผมปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นเพียงใด โตโยต้าจะยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ตลอดไป รวมถึงความกรุณาที่เราได้รับจากประชาชนชาวไทยเช่นกัน “โตโยดะ” และ “โตโยต้า” ขอขอบคุณทุกท่านอย่างลึกซึ้งจากใจจริง

ความสำเร็จของโตโยต้าในประเทศไทยนั้น “โตโยดะ” ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องของจำนวนยอดขายรถที่เราทำได้ที่นี่ หรือการมียอดขายเป็นอันดับหนึ่ง แต่ความหวังสูงสุด คือแค่อยากให้เราเป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้าในประเทศไทยแห่งนี้

สิ่งที่โตโยต้าต้องการมอบให้กับประเทศแห่งนี้ มีมากกว่าแค่รถยนต์ แต่ยังต้องการช่วยสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจด้วย นี่คือเป้าหมายที่โตโยต้าตั้งใจในตอนที่เลือกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต รถรุ่นใหม่ระดับโลกภายใต้โครงการไอเอ็มวี ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งโตโยต้าได้นำเสนอรถยนต์รุ่นแรกในโครงการไอเอ็มวี ต้องเป็นรถกระบะที่ราคาจับต้องได้ มีคุณภาพเป็นที่ไว้วางใจ มีกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจนในประเทศไทย

ไฮลักซ์ วีโก้ ความทรงจำไม่รู้ลืม

ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น “โตโยดะ” เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารที่ดูแลรับผิดชอบภูมิภาคอาเซียน เขาบอกว่า “โชคไม่ดีที่เมื่อผมได้มารับงานนี้ การออกรถกระบะรุ่นใหม่ที่ว่านั้นกลับเจอปัญหาใหญ่และล่าช้าเกินกำหนดไปมาก และเนื่องจากผมยังอายุน้อยสำหรับตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายในตอนนั้น และบังเอิญว่าผมมีนามสกุลโตโยดะ ทุกท่านคงพอจะนึกภาพออกว่าหลายต่อหลายคนในญี่ปุ่น ต่างพนันกันว่าโครงการนี้จะล่มหรือไม่” แต่ “โตโยดะ” ก็มุ่งมั่นที่จะแสดงให้เห็นว่า พวกเขาคิดผิด

ผมวางเดิมพันครั้งนี้ไว้กับพนักงานของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ไม่ว่าเราจะต้องทุ่มเทอะไรก็ตาม เราจะต้องทำการเปิดตัวรถกระบะรุ่นนั้นตามกำหนดให้จงได้ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงออกเดินทางมายังประเทศไทย

เพื่อพบกับวิศวกรของเรา และทำงานร่วมกันเป็นทีม หาทางแก้ไขปัญหา และตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่า ด้วยความพยายามของเพื่อนพนักงานชาวไทยทุกคน ทำให้เราสามารถเปิดตัวรถรุ่นนั้นได้ตามกำหนด รถรุ่นนั้นมีชื่อว่า ไฮลักซ์ วีโก้ และเป็นรถรุ่นที่ประสบความสำเร็จมาก จนกระทั่งกลายเป็นที่รู้จักในนามรถแห่งชาติของประเทศไทย

“กระบะไฮลักซ์ วีโก้  ยังคงเป็นความทรงจำที่ผมประทับใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงานของผม และช่วยหล่อหลอมให้ผมพัฒนาภาวะผู้นำได้มากกว่าสิ่งอื่นใด ผมรู้สึกขอบคุณประเทศไทยเสมอสำหรับบทเรียนที่ได้รับจากประสบการณ์ในครั้งนั้น”

ความท้าทายบทใหม่ปิกอัพอีวี

บนเวที “โตโยดะ” ยังได้ประกาศและมอบความท้าทายบทใหม่ ให้กับทีมงาน ให้ทีมวิศวกรรมและทีมออกแบบ ด้วยการสร้างรถไอเอ็มวีแบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นรถกระบะสำหรับประเทศไทย ด้วยราคาที่จับต้องได้จริง และเป็นนวัตกรรมใหม่จริง ๆ ซึ่งเราเรียกชื่อรถรุ่นนี้กันเป็นการภายในว่า “รถต้นแบบ IMV 0” (ไอเอ็มวี ซีโร่)

โดยมีกำหนดจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีกกว่าหนึ่งปีข้างหน้า รวมทั้งรถต้นแบบไฮลักซ์ รีโว่ ที่มาในระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้แสดงถึงแง่มุมที่แตกต่างในเชิงยนตรกรรม ซึ่งตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันและเหมาะกับลูกค้าคนละกลุ่ม รุ่นหนึ่งถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน ส่วนอีกรุ่นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นเพื่อทุกคน และแน่นอนว่า โตโยต้าจะมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อพัฒนารถทั้ง 2 รุ่นนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถในโครงการ IMV 0 จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของหลายต่อหลายคน พร้อมมอบโอกาสใหม่ ๆ ในเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะที่โตโยต้าให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก เราเชื่อในการสร้างรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าของเรา

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ทีมงานพัฒนารถยนต์ในโครงการ IMV 0 ทุ่มเททำงานภาคสนามนานหลายเดือน เพื่อสังเกตวิถีชีวิตและความต้องการของผู้ที่น่าจะเป็นเจ้าของรถคันนี้ในอนาคต และยังเป็นเหตุผลที่โตโยต้าตัดสินใจไม่ใช้แนวทางแบบเดียวเพื่อครอบคลุมทุกความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือระบบส่งกำลังของโตโยต้า

อากิโอะ โตโยดะ

อีวียังไม่ใช่แค่ทางเลือกเดียว

“โตโยดะ” เชื่อว่าเราต้องมองตามความเป็นจริง ว่าเมื่อไรที่สังคมจะมีความพร้อมอย่างเต็มที่ ที่จะหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ และเมื่อไรที่โครงสร้างพื้นฐานของเราจะรองรับการใช้งานรถประเภทนี้ได้ในปริมาณมาก เพราะนี่ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับยานยนต์แบบไร้คนขับ ที่อันที่จริงพวกเราควรจะได้ใช้งานกันทั้งหมดแล้วในตอนนี้

ผมคิดว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการกลายเป็นรถในกระแสหลักเมื่อเทียบกับสิ่งที่สื่อต่าง ๆ บอกกับเรา ว่ากันตามตรงแล้วรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่แค่ทางเลือกเดียวที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในระดับโลกที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากจะนำเสนอทางเลือกให้ครบทุกทางไม่ใช่แค่เพียงทางใดทางหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น พลังงานที่ไม่สร้างมลพิษอย่างเชื้อเพลิงสังเคราะห์และไฮโดรเจน

ผมยังคงเชื่อว่าไฮโดรเจนเป็นเทคโนโลยีที่จะไปได้ดีในอนาคต พอ ๆ กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โตโยต้าเชื่อในการสร้างสรรค์รถยนต์ให้ครบทุกประเภทเพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยลดคาร์บอน สำหรับลูกค้าของเราตั้งแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริดอย่าง คัมรี ไปจนถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด อย่างพรีอุส ไพรม, รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่าง bZ4X ที่เพิ่งเปิดตัวไปล่าสุด

โตโยต้าก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ได้ทำการแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิงอย่าง “โตโยต้า มิไร” และมุ่งพัฒนาทางเลือกอื่น ๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอย่าง GR-Yaris และ Corolla Cross ซึ่งเป็นรถต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน ซึ่งขณะที่โตโยต้าพยายามเดินหน้าสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

“โตโยดะ” ยังเชื่อว่าเราจำเป็นต้องใช้แนวทางแบบองค์รวม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนนับตั้งแต่การเลือกแหล่งที่มาของชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ไปจนถึงกระบวนการผลิต และระบบส่งกำลังที่ใช้ขับเคลื่อนรถของเราเรื่อยไปจนถึงขั้นตอนการกำจัดเราต้องเข้าใจว่าคาร์บอนคือศัตรูตัวจริง ไม่ใช่ระบบส่งกำลังแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ที่สำคัญ เราไม่สามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องใช้ความพยายามร่วมกัน และทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

จับมือ ซี.พี. มุ่งสู่ Net Zero

ล่าสุด โตโยต้า ได้จับมือกับพันธมิตรใหม่ คือบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ ซี.พี. โดยจะร่วมมือกัน จะสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์โดยคิดทบทวนถึงวิธีการในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ อย่างรถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิง และด้วยการพัฒนาให้ระบบการขนส่งด้วยรถยนต์ประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของเรา จะยกระดับความพยายามของ ซี.พี.

ในปัจจุบันเพื่อการผลิตไฮโดรเจนสะอาดจากชีวมวล เช่น มูลไก่ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างระลึกถึงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ และเร่งด่วนในการช่วยประเทศอันสวยงามแห่งนี้ และโลกใบนี้ และเพื่อให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดี เราจึงตื่นเต้นที่จะใช้จุดแข็งที่เรามีอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น

พันธมิตรใหม่ในครั้งนี้ ประกอบด้วยไดฮัทสุ, ซูซุกิ, อีซูซุ และฮีโน่ ซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัท CJPT ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาอนาคตแห่งการขับเคลื่อน โดยความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมของเราเพื่อต่อยอดโอกาสครั้งใหม่ในการลดคาร์บอนไดออกไซด์

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ โตโยต้า พยายามรักษาสิ่งแวดล้อม และยังเดินหน้าช่วยเหลือผู้คนในประเทศไทย คงไม่มีเหตุการณ์ครั้งไหนที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อประชาชนชาวไทยได้มากเท่ากับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ความกล้าหาญและความมุ่งมั่นที่ทุกท่านแสดงให้เห็นในการเผชิญความท้าทายครั้งนั้น ยิ่งช่วยให้โตโยต้าเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นต่ออนาคต ด้วยเหตุนี้ โตโยต้าจึงตัดสินใจทุ่ม ดังนั้นจากจุดที่ผมมองอยู่นี้ อนาคตของโตโยต้าและประเทศไทยนั้นถือว่าสดใสมาก

สุดท้าย “อากิโอะ โตโยดะ” ได้ทิ้งท้ายอย่างสวยงามว่า “เราอาจจะไม่ได้อาศัยอยู่ในแดนดินที่รายล้อมไปด้วยแม่น้ำ หรือขุนเขาเดียวกัน แต่เราก็อยู่ใต้ท้องฟ้าและพระอาทิตย์ดวงเดียวกัน มีความหวังแบบเดียวกันในการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและมีความสุข

ผมเชื่อว่าไม่มีข้อจำกัดใดที่จะขวางกั้นความฝันของเรา ไม่มีข้อจำกัดใดที่จะขวางกั้นความสำเร็จของเรา และไม่มีข้อจำกัดใดที่จะขวางกั้นไม่ให้เราเดินหน้าพัฒนาต่อไป เพราะเมื่อเราร่วมมือกัน ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้เสมอ”