คลังชงแพ็กเกจ EV รอบใหม่ รับผู้ผลิตค่ายรถ “ยุโรป-อเมริกา”

รถอีวี

บอร์ดอีวีเคาะส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม เปิดมาตรการใหม่ EV 3 พลัส รองรับผู้ประกอบการ “จีน-ยุโรป-อเมริกา” ตกขบวนไม่ทันข้อกำหนดเดิม เปิดช่องยืดเวลาผลิตชดเชยออกไปอีก “สุพัฒนพงษ์” เตรียมชงเข้า ครม.สัปดาห์หน้า บีโอไอ.จับเข่าคุยผู้ประกอบการ ชี้สิทธิประโยชน์ลดลง ค่ายรถเฮ แบรนด์ใหม่ดาหน้าเข้าร่วมโครงการ

มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ผู้เข้าร่วมโครงการ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งผู้ใช้-ผู้ผลิต-ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน แบ่งการสนับสนุนเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ EV1 แจกเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท (ซื้อรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) มอเตอร์ไซค์ 1.8 หมื่นบาท (ราคาไม่เกิน 1.5 แสนบาท)

มาตรการ EV2 ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีผู้ผลิตปิกอัพอีวีในประเทศ อัตราสรรพสามิต 0% (หมดเขตปี 2566) และหรือผลิตปี 2567-2568 ได้ส่วนลดชิ้นส่วนพร้อมอากรขาเข้า 0%

และมาตรการ EV3 สนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่วงเงินหลายหมื่นล้านบาท กำลังไปได้สวยประสบความสำเร็จ มีผลตอบรับเกินคาดจากยอดจดทะเบียนยานยนต์กลุ่ม EV ปี 2565 เกือบ 3 หมื่นคัน จนทำให้ทุกหน่วยงานรัฐ ทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพลังงาน เตรียมต่อยอดมาตรการสนับสนุนและผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง

เปิดเพิ่มมาตรการ EV 3 พลัส

แหล่งข่าวระดับสูงคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้ได้มีการจัดทำมาตรการส่งเสริม EV3 พลัส เพื่อเปิดรับผู้ประกอบการรถ EV ทั้งฝั่งยุโรป-จีน-อเมริกา ที่ตกขบวนเข้าร่วมโครงการไม่ทัน มีกำหนดใช้มาตรการในปี 2567 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon society) ภายใต้นโยบาย 30@30 ที่กำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV (EV Hub) มียานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) และพร้อมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเร็ว ๆ นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยถึงกระแสข่าวบอร์ดอีวีเตรียมที่จะนำผลการประชุมครั้งล่าสุดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบชุดมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือมาตรการ EV 3.5 ในวันที่ 14 มีนาคมนี้ ให้ทันก่อนยุบสภาว่า “ไม่รู้จะทันหรือเปล่า” ส่วนว่าติดประเด็นใดนั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ไม่ได้ติดประเด็นอะไรแล้ว พร้อมเข้า ครม.ได้ เพียงแต่มาตรการเก่ายังพอมีเวลาเหลือ เพราะยังไม่หมด จะไปสิ้นสุดปี 2566

“มาตรการ EV 3.5 เรามีขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่ทันเข้าร่วมมาตรการ EV3 เพราะในเงื่อนไขค่ายรถ EV ที่นำเข้ามาขายก่อนต้องเริ่มผลิตชดเชยตั้งแต่ปี 2568 แต่บางคนบอกว่าไม่ทันต้องปี 2569 เขากำลังเตรียมจะมายื่นร่วมโครงการปี 2567 เราก็บอกว่าเดี๋ยวเราเตรียมมาตรการ EV 3.5 ไว้ให้ รองรับผู้ที่จะเข้าโครงการในปีหน้า เพราะมีคนมาติดต่อและแสดงความจำนงเยอะ เขาอยากจะมา แต่ขอปีหน้า” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สิทธิประโยชน์น้อยลง

แต่แน่นอนมาตรการ EV 3.5 เงื่อนไขการสนับสนุนก็จะน้อยลงไป จากแบตเตอรี่ความจุ 30 KWh ที่เคยได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท อาจจะลดลง หรือตัวแบตเตอรี่อาจจะต้องมากกว่า 50 KWh และเงินอุดหนุนอาจจะลดลงน้อยกว่า 150,000 บาท หมายความว่า ขึ้นกับจำนวนความจุแบตเตอรี่และลดเงินสนับสนุน เพื่อให้เขาเร่งเข้ามาร่วมมาตรการ EV 3 ให้เร็วเพราะยังมีเวลาเหลือพออยู่” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิทธิประโยชน์ที่น้อยลงจะทำให้มาตรการ EV 3.5 ไม่จูงใจหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์เห็นต่างว่า เป็นการจูงใจให้รีบเข้ามาตรการ EV 3 เร็วขึ้นไง ถ้าอยากทำก็อย่าช้า

“เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่ามาตรการ EV 3.5 จะจูงใจมากกว่า EV 3 เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยี ราคารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในกับรถ EV ต่างกันไม่เท่าไหร่ เราก็อยากจะช่วยให้สูสีกัน เมื่อไม่ต่างกันมากแล้วจะไปช่วยเท่าเดิมได้อย่างไร ก็ต้องช่วยน้อยลง” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

พร้อมเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวย้ำว่า ถ้าเข้า ครม.ไม่ทันวันที่ 14 มีนาคมนี้ก็ไม่เป็นไร บอร์ดอีวีสามารถมีมติค้างไว้ได้ เพราะยังมีมาตรการ EV 3 อยู่ ไม่ทันรัฐบาลนี้ก็ไม่เป็นไร รัฐบาลหน้าก็มาทำต่อได้

“ผมบอกแล้วไงว่าไม่ได้ส่งมอบความลำบากให้รัฐบาลหน้า ต้องส่งมอบความสบายซิ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ รัฐบาลหน้าก็อาศัยมติอันนี้ไปปรับปรุง หลังจากบีโอไอไปสำรวจตลาดแล้วค่อยเข้า ครม.ก็ได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการ EV 3.5 ถ้าเข้า ครม.ก็ต้องเข้าทั้งแพ็กเกจ เช่น มาตรการสนับสนุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่มีผลปี 2567 เพราะฉะนั้นยังมีเวลา

“ถ้ารัฐบาลรีบตั้งเร็ว ๆ สิงหาคมก็ได้รัฐบาลใหม่แล้ว หลังจากนั้นก็รีบเอาเรื่องนี้เข้า ครม.เลย ถ้ามีใครมาถามผมมีเรื่องทีเด็ดอะไรบ้าง ผมก็เอาเรื่องนี้เลย พรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ได้ผมแนะนำให้ ไม่ได้ปิดนะเรื่องที่เป็นประโยชน์ เราทำเรื่องพวกนี้เพื่อรองรับ ไม่ใช่ทิ้งทุกอย่างหมดแล้วไปเริ่มกันใหม่ ไม่ถูก เราเป็นคนเริ่ม ก็พยายามดูให้รอบคอบ มีมติระดับหนึ่งแล้วก็ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปดูให้ชัวร์ ว่ามาตรการนี้ยอมรับได้ เป็นประโยชน์กับประเทศ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว และว่า

“ถ้าไม่ทันรอบนี้รัฐบาลหน้าก็ทำต่อ ถ้าเกิดเขามาถามผม ผมก็บอกให้ทุกคนเขียนไว้เลยนะ ว่าเวลารัฐมนตรีใหม่เขามา คุณก็เขียนเลยสิ่งที่มีพร้อมแล้วจะทำมีอะไรบ้าง ให้เขามานั่งดู เขาจะได้เอาไปเป็นผลงานเขาได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

เอื้อขยายเวลาผลิตชดเชย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ดอีวีที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน มีนโยบายจะผลักดันมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ “EV 3.5” หรือ “EV 3 พลัส” ซึ่งจะเปิดให้ทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมปัจจุบัน หรือ “EV 3” สามารถเข้าร่วมได้ รวมถึงผู้ประกอบการรายเดิมก็สามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน แต่สิทธิประโยชน์จะลดลงต่ำกว่ามาตรการ “EV 3”

ทั้งนี้ เนื่องจากการจะขยายเวลาการผลิตชดเชย ในส่วนมาตรการปัจจุบัน หรือ “EV 3” ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเงื่อนไขที่มีการลงนามข้อตกลง (เอ็มโอยู) กันไว้แล้ว ว่าต้องมีการผลิตชดเชยภายในปี 2567 ในอัตราส่วน 1 : 1 คือนำเข้ามา 1 คัน ต้องผลิตในประเทศ 1 คัน และหากเริ่มผลิตชดเชยในปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 : 1.5 หรือนำเข้ามา 1 คัน ต้องผลิตในประเทศ 1.5 คัน

“การขยายเวลามาตรการชดเชยคงทำไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะทำก็ต้องเป็นมาตรการเสริม ก็เลยออกมาเป็นมาตรการ EV 3.5 เพราะมาตรการปัจจุบันที่ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาท คือมาตรการ EV 3 หลังจาก 2 มาตรการก่อนหน้านั้นที่บีโอไอทำ ยังไม่มีใครยอมลงทุน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี การทำมาตรการ “EV 3.5” หรือ EV 3 พลัสนั้นตอนนี้ยังไม่ได้จัดตั้งไว้สำหรับส่วนนี้ ซึ่งหากจะทำอาจจะต้องไปตั้งงบประมาณปี 2567 หรืองบประมาณปี 2568

เชื่อความต้องการรถ EV เพิ่ม

มีรายงานข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้ามาว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ BOI นั้น จะช่วยแก้ปัญหาให้กับค่ายรถยนต์ที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งค่ายเก่าที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้ว (มาตรการส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV 3) กับค่ายรถยนต์ที่ต้องการขอรับการส่งเสริมใหม่ ใน 2 เรื่องคือ

1) เฉพาะค่ายรถยนต์เก่าที่ขอรับการส่งเสริมไปแล้ว แต่ไม่สามารถผลิตรถ EV ภายในประเทศเท่ากับจำนวนรถ EV ที่นำเข้ามาได้ทันภายในปี 2568 โดยค่ายรถเหล่านี้มีความพยายามที่จะขอยืดระยะเวลาการผลิตรถ EV ออกไป จากปี 2568 กับ 2) ค่ายรถ EV ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ EV 3 หรือค่ายรถ EV ที่เข้าร่วมไปแล้วแต่ต้องการขอรับส่งเสริมต่อเนื่องในโครงการใหม่หรือ EV 3.5

อย่างไรก็ตามโครงการ EV 3.5 อาจจะมีการปรับลดสิทธิประโยชน์ลง อาทิ เงินอุดหนุนที่ให้จะน้อยกว่า 150,000 บาท เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องให้สิทธิประโยชน์กับผู้ขอรับส่งเสริมก่อน (EV 3) มากกว่าผู้ที่จะมายื่นขอรับส่งเสริมปัจจุบัน ประกอบกับดีมานด์รถ EV เริ่มเพิ่มมากขึ้นกว่าตอนที่เริ่มส่งเสริมใหม่ ๆ

“ตอนนี้ต้องดูว่า รถ EV ในโครงการ EV 3 ที่ผลิตไม่ทันในปี 2568 แล้วบริษัทมาขอรับส่งเสริมในโครงการใหม่คือ EV 3.5 ด้วย รถจำนวนนี้จะอยู่ในโครงการ 3 เดิมหรือโครงการ 3.5 แต่รถ EV ที่นำเข้ามาหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 จะต้องอยู่ในโครงการ EV 3.5 หรือได้รับเงินอุดหนุนน้อยลงนั่นเอง”

EV จีนกวาดแชร์ 85%

แหล่งข่าวผู้ผลิตรถยนต์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเป็นเรื่องดีรัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะมีแบรนด์รถ EV รายใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากขึ้น ที่เคยเป็นข่าวแล้ว เช่น เฌอรี่, ฉางอัน, จิลลี่ ฯลฯ ส่วนฝังอเมริกา รัฐบาลก็เคยไปชักชวนเทสลา เชื่อว่าสัดส่วนยอดขายรถ EV ของค่ายจีนในปี 2566 อาจเพิ่มขึ้นเป็น 85% จากปี 2565 ที่มีสัดส่วน 78% แต่ก็เชื่อว่ายังไม่มีค่ายไหนครองใจผู้ซื้อชัดเจน ดังนั้น ก็ถือเป็นโอกาสของทุกแบรนด์