ค่ายรถขึ้นราคา EV ยกแผง ขยับ 10-15% เขย่าเวทีมอเตอร์โชว์

รถเบนซ์อีวี

รถยนต์ไฟฟ้าขยับราคายกแผงหลังบอร์ดอีวีไฟเขียว โอดเจรจามาหลายรอบไม่เป็นผล ชี้ต้นทุนขยับมาตั้งแต่กลางปีก่อน ทั้งวัตถุดิบประกอบ แบตเตอรี่ ค่าเงิน ค่าขนส่ง เงินเฟ้อ หลายแบรนด์ปรับแน่ 10-15% ด้านสรรพสามิตฟันธงได้ไม่เกิน 1 แสนบาทก่อนเริ่มงานมอเตอร์โชว์ พร้อมวางเงื่อนไขต้องเป็นรถที่จำหน่ายแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หวั่นประโยชน์สูงสุดไม่ถึงมือผู้บริโภค ด้านดีลเลอร์รถจีนห่วงราคาพุ่งยิ่งขายยาก

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าในงานมอเตอร์โชว์ 2023 ปลายเดือนมีนาคมนี้ จะได้เห็นราคารถอีวีขยับสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ประกอบรถ แบตเตอรี่ ค่าเงิน ค่าขนส่ง เงินเฟ้อ

ขยับราคายกแผง 10-15%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาค่ายรถอีวีจีนที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลให้เงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท สำหรับรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% เตรียมขยับราคาขายเพิ่มขึ้นจากเดิม 10-15% หลังจากพยายาเจรจากับหน่วยงานรัฐ บอกถึงปัญหาต้นทุนการผลิตที่พุ่งขึ้นจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ถูกปฏิเสธมาตลอด เที่ยวนี้ประสบความสำเร็จได้อนุมัติให้ปรับราคา

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ได้พยายามสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ MG EP ส่วน MG4 และ MG ZS EV เป็นรถที่ไม่ได้รับผลมากนัก เนื่องจากรถเพิ่งเปิดตัว และในมอเตอร์โชว์เตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า MG EP รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งคาดว่าราคาที่ทำออกมานั้นก็น่าจะเป็นราคาที่สะท้อนกับโครงสร้างต้นทุนในปัจจุบัน

“เราทำธุรกิจทุกคนก็หวังให้ได้กำไรที่เหมาะสม ที่ผ่านมาต้องประคับประคองมากเพื่อส่งมอบรถให้ลูกค้า แต่การปรับขึ้นราคาจะไม่กระทบลูกค้ากลุ่มเดิมที่จองไปก่อนหน้านี้ เฉพาะลูกค้ากลุ่มใหม่เท่านั้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขยับขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ทำให้โครงสร้างราคารถอีวีปรับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพียงแต่ผู้ประกอบการไม่อยากผลักภาระไปยังผู้บริโภค แต่หลังจากการเจรจาครั้งสุดเป็นผล ซึ่งคาดว่าราคาใหม่ก็น่าจะเริ่มได้ภายในงานมอเตอร์โชว์ และราคาที่ปรับก็พิจารณาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือราว ๆ 10-15%

สำหรับค่าย MG ขายรถอีวีอยู่ 3 โมเดล ได้แก่ MG ZS EV มี 2 รุ่นย่อย รุ่น D ราคา 949,000 บาท, รุ่น X ราคา 1,023,000 บาท ส่วน MG EP ราคา 761,000 บาท, MG EP PLUS ราคา 771,000 บาท ขณะที่ MG4 มี 2 รุ่นย่อย รุ่น D ราคา 869,000 บาท และรุ่น X ราคา 969,000 บาท

อีวีใหม่ลงตลาดเพียบ

ขณะที่ค่ายรถอีวีหรูทั้งเบนซ์-บีเอ็มดับเบิลยู-วอลโว่-ออดี้ ซึ่งไม่ติดเงื่อนไขการกำหนดราคากับกรมสรรพสามิต ส่วนใหญ่ปรับราคาให้สอดรับกับต้นทุนไปหมดแล้ว โดยในงานมอเตอร์โชว์นี้คาดว่าจะมีรถอีวีรุ่นใหม่เข้ามาเสริมตลาดอีกจำนวนหนึ่ง

นายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาวดี้ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับราคาขายไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยขยับขึ้นตามต้นทุนที่พุงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา ปัญหาตอนนี้คือไม่มีรถขาย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ และการซัพพลายชิ้นส่วนจากยูเครน

ขณะนี้ที่ค่ายดาวสามแฉก เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่วางตลาด EQS ยานยนต์ไฟฟ้า 100% คันแรกไปเมื่อปีที่ผ่านมา มีด้วยกัน 2 รุ่นคือ EQS 450+ AMG Premium ราคา 8,570,000 บาท และ EQS 450+ Edition 1 ราคา 8,870,000 บาท

เมื่อช่วงต้นปี 2566 ได้ขยับราคาขึ้นมาเล็กน้อย และในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้จะมีอีก 1 รุ่นเข้ามาเสริมตลาด เป็นเอสยูวีสุดหรู (อีวี) EQB ซึ่งพื้นฐานมาจาก Mercedes-Benz GLB โดยมีมอเตอร์และแบตเตอรี่ 66.5 kWh มาพร้อมระบบเคลื่อน 4 ล้อ มีให้เลือก 2 รุ่น ได้แก่ EQB 300 มีกำลัง 225 แรงม้า EQB 350 มีกำลัง 288 แรงม้า ทั้งสองสามารถวิ่งได้สูงสุด 413.7 กิโลเมตร

BMW ปรับทุกรุ่น 1.5%

นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บีเอ็มดับเบิลยูได้ขยับราคารถทุกรุ่นทุกประเภท ทั้งอีวี ปลั๊ก-อินไฮบริด และไฮบริด อีกราว ๆ 1.5% ซึ่งเป็นการปรับตามต้นทุนที่สูงขึ้น โดยปีที่ผ่านเซกเมนต์รถอีวีเติบโตสูงถึง 40% มียอดจดทะเบียน 535 คันเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจุบันมียนตรกรรมไฟฟ้าให้เลือกซื้อครบทั้ง 3 แบรนด์ อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู ตั้งแต่ iX3, iX, i7 มินิ คูเปอร์ SE และ บีเอ็มดับเบิลยู CE 04 สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ขณะที่สถานีชาร์จไฟฟ้ามีมากถึง 900 หัวจ่ายทั่วประเทศ ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านสำหรับลูกค้าบีเอ็มดับเบิลยูและมินิมากถึง 2,500 เครื่อง

BYD-ORA ยืนราคาเดิม

ด้านประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายและบริการรถยนต์บีวายดี (BYD) กล่าวว่า BYD ยังเปิดรับจอง ATTO3 รอบใหม่ในราคาเดิม ซึ่งตอนนี้มีโควตา 7 พันคัน หลังจากปีที่ผ่านมาขายไปครบ 1 หมื่นคันแล้ว ทั้งในงานมอเตอร์โชว์บริษัทยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายปรับขึ้นราคาขายแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับนายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวย้ำถึงความชัดเจนว่า เกรทวอลล์ ยังคงยึดการขายราคาเดิมของ ORA Good Cat ทั้ง 2 รุ่น คือรุ่น 400 PRO ราคา 828,500 บาท และรุ่น 500 ULTRA 959,000 บาท รวมถึง ORA Good Cat สีใหม่ pistachio green ก็ไม่ได้มีการปรับเพิ่มราคาแต่อย่างใด

การที่กรมสรรพสามิตเปิดไฟเขียวให้ค่ายรถสามารถปรับราคาขึ้นได้นั้น เพื่อเป็นการสะท้อนถึงต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาวะการขาดแคลนชิปและวัตถุดิบของแบตเตอรี่ รวมถึงภาวะสงครามที่เกิดขึ้น แต่การปรับราคาต้องขึ้นอยู่กับเหตุและผล รวมถึงต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดขึ้นของค่ายรถด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังไม่ได้มีการปรับราคาของ ORA Good Cat แต่ในอนาคตถ้ามีปัจจัยที่มาส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต อาจพิจารณาขอปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งท้ายสุดก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมสรรพสามิตเช่นเดียวกัน ส่วนในงานมอเตอร์โชว์ เกรทวอลล์จะมีแบรนด์ TANK 300 และ 500 เครื่องยนต์สันดาปเข้ามาเสริมตลาดอีก 2 รุ่น

ขณะที่ค่ายรถยนต์น้องใหม่ NETA นายอเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เคยกล่าวว่า ต้นทุนได้ขยับไปกว่า 5 หมื่นบาท หากภาครัฐไฟเขียวให้ขยับราคาก็น่าได้ NETA V จากเดิมที่ขายในราคา 5.49 แสนบาท ก็น่าจะขายราคา 5.99 แสนบาท

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยถึงแนวคิดการอนุมัติให้ค่ายรถยนต์สามารถปรับขึ้นราคารถอีวีในโครงการถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่า ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาต้นทุนต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เห็นได้จากที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์ได้เข้าไปหารือถึงประเด็นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ได้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง ส่วนแผนการผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่นโยบาย 30@30 นั้น ภายในปี 2525 หรืออีก 2 ปี สัดส่วนของรถอีวีจะต้องเป็น 250,000 คัน คงต้องรอดูว่าจะเป็นได้มากน้อยแค่ไหน และเชื่อว่ายังจำเป็นจะต้องมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องด้วย

บอร์ดอีวีไฟเขียว

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้เห็นชอบหลักการตามที่มีค่ายรถอีวีขอปรับขึ้นราคาขายรถ ที่อยู่ในมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยอ้างเรื่องต้นทุนที่แพงขึ้น ซึ่งทางกรมก็จะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี การปรับราคาต้องคำนึงถึงประชาชนผู้บริโภคเป็นสำคัญ

“ตอนนี้มีค่ายเดียวที่ขอปรับราคา ซึ่งเขาต้องเสนอโครงสร้างราคามา กรมก็จะพิจารณาให้ แต่คงไม่ให้ปรับถึง 1 แสนบาท เพราะเงินอุดหนุนแค่ 1.5 แสนบาท ถ้าปรับเป็นแสนจะกลายเป็นว่าผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้น ต้องดูว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ โดยรถรุ่นที่จะปรับนั้น บอร์ดอีวีมีเงื่อนไขว่า ต้องมีการนำเข้ามาจำหน่ายแล้วครบ 1 ปีขึ้นไป ไม่ใช่แค่ 2-3 เดือนแล้วมาขอปรับราคา” นายณัฐกรกล่าว

สำหรับรถอีวีที่เป็นไมเนอร์เชนจ์ หากจะเข้าร่วมมาตรการก็ต้องเสนอโครงสร้างราคามา หรือหากจะนำรถอีวีรุ่นใหม่ ๆ มาจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์เดือน มี.ค.นี้ กรมก็สามารถพิจารณาโครงสร้างราคาให้ได้ภายใน 5 วัน เพื่อให้ทันจำหน่ายในงานได้

หวั่นปรับราคาขายยาก

แหล่งข่าวจากดีลเลอร์รถจีนรายใหญ่กล่าวเสริมว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับราคาขาย เพราะราคาที่สูงขึ้นจนไปใกล้เคียงหรือทะลุหลักล้านบาท จะยิ่งทำให้การขายยากขึ้น ที่ผ่านมาจากการตั้งราคาของรถอีวีแบรนด์จีนและเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ 1.5 แสนบาท บวกกับแคมเปญที่ค่ายรถยนต์ทำ ทั้งฟรีค่าจดทะเบียน, ประกันภัยชั้น 1 นาน 1 ปี, อัตราดอกเบี้ยไม่ถึง 2% เงินดาวน์ 20-25% แถมสายชาร์จ และของแถมอื่น ๆ กำลังเป็นที่สนใจของลูกค้า ยิ่งนำไปเปรียบเทียบกับอีโคคาร์บางรุ่นที่ขายกัน 5-6 แสนบาท ยิ่งทำให้รถอีวีจีนดูน่าสนใจ ดังนั้น หากจะขาดทุนกำไรบ้าง แต่แลกกับยอดขายที่ได้เพิ่มขึ้นน่าจะคุ้มค่ามากกว่า