โตโยต้า ชี้ตลาดรถยนต์กำลังฟื้นตัว ลุยสร้างอีโคซิสเต็มยานยนต์ไฟฟ้า

สัมภาษณ์พิเศษ

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกลับมาคึกคักและมีสีสันอีกครั้ง ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลาย การสนับสนุนของภาครัฐต่อรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (อีวี) สะท้อนให้เห็นจากยอดขายในงานมอเตอร์โชว์ล่าสุด ขณะที่ตัวเลขยอดขายโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสำคัญ

Q : สถานการณ์ตลาดยานยนต์ไทยเริ่มกลับมามีสีสันอีกครั้ง โตโยต้ามองปรากฏการณ์ขณะนี้อย่างไร

2 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กุมภาพันธ์) ตลาดโตกว่าปีที่ผ่านมา 13% คาดว่าตลาดรวมทั้งปีน่าจะประมาณแปดแสนปลาย ๆ (คัน) เราได้เห็นบางเซ็กเมนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ รถยนต์ปิกอัพ

อาจเป็นเพราะความจำเป็นเป็นรถที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้โตเร็วค่อนข้างมาก ส่วนรถเก๋งจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ผมเชื่อว่าโควิด-19 ยังมีผลอยู่บ้างที่จะทำให้ตลาดเติบโตอย่างช้า ๆ แต่โดยรวมเรามีความมั่นใจว่าปีนี้ตลาดเติบโตมากกว่าปีที่แล้ว

Q : มีแนวทางในการรักษาความเป็นผู้นำตลาดอย่างไร

โตโยต้าเราพยายามทำอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกคือเรื่องของโปรดักต์ คงทราบว่าเราอยู่มานาน ปีนี้ก็ 60 ปีแล้วในประเทศไทย โตโยต้าเราเป็นรถยนต์ที่ประกอบด้วยคุณภาพ

ตัวรถมีความทนทาน เชื่อมั่นเมื่อใช้งาน เราก็พยายามนำเสนอสินค้าที่เราเรียกว่า QDR คือ quality, durability และ reliability ความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า

ทางด้านบริการ เราก็พยายามเสนอบริการคุณภาพให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น “วอร์แรนตี” การใช้งาน

ในยุคต่อจากนี้ไปเราจะนำเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า telematics หรือ T-connect มาให้บริการหลาย ๆ อย่างเป็น value chain เพราะการซื้อรถสักคันจะมีความต้องการหลาย ๆ อย่างที่จะเกิดขึ้น

เช่น ระบบ connected auto room ช่วยให้ลูกค้าได้รับการอนุมัติจากไฟแนนซ์ง่ายขึ้น มีระบบ PHYD (pay how you drive) ตรวจสอบการขับขี่ของลูกค้า ด้วยระบบติดตามและการรายงาน จากสถิติพบว่าช่วยให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง ที่ตามมาคือราคาประกันภัยที่ถูกลง

ต่อไปในอนาคตอะไรที่เป็นไปไม่ได้ จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ อาทิ การนำเสนอสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือ “เฟซบุ๊ก” อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการเดินทางมาดูรถที่ศูนย์

Q : ตัว “คินโตะ” บริการแบบเช่าใช้ จะถูกต่อยอดออกไปด้วย

คินโตะไม่ใช่การเช่าซื้อ แต่เป็นการ “เช่าใช้” แบบครบวงจร โตโยต้าทำมาตั้งแต่ปี 2019 ตั้งใจให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ เมื่อก่อนเราซื้อรถต้องจ่ายเงินดาวน์ ไฟแนนซ์ ค่าประกัน ค่าซ่อม ค่าต่อทะเบียน

พอรถครบอายุต้องขายเป็นยูสคาร์ ภาระต่าง ๆ ความเสี่ยงหลาย ๆ อย่างจะหมดไปเมื่อใช้ “คินโตะ” เพราะครอบคลุมทุกอย่างหมด

ปัจจุบันเรานำเสนอบริการอีกรูปแบบหนึ่ง อาทิ “คินโตะ พลัส 3+2” คือ เช่า 3 ปี พอใช้แล้วชอบ สามารถใช้สิทธิในการผ่อน เพื่อเป็นเจ้าของรถต่ออีก 2 ปี พอครบ 5 ปี ก็เป็นเจ้าของรถคันนั้นได้

Q : ดูจากพฤติกรรมผู้ซื้อรถ ตัวนี้น่าจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

ใช่ครับ จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาจจะไม่โตอย่างรวดเร็ว แต่มีทิศทางที่ดี เพราะตอบโจทย์ทุกอย่าง ไม่ต้องมากังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกเลย

Q : มองภาพรวมการแข่งขันอย่างไร

ผมว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เชื่อว่าทุก ๆ บริษัทพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็น “ภาระ” ให้น้อยที่สุดกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นไฟแนนซ์เช่น ดาวน์น้อย ผ่อนได้นาน เรื่องรับประกันการใช้งาน เชื่อว่าทุกบริษัทจะใช้แนวทางคล้าย ๆ กันเพื่ออำนวยความสะดวก และความคุ้มค่าให้กับลูกค้า

Q : ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์เลกซัสไปได้ดีมาก จะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร

ปีที่แล้ว เลกซัสขายได้ 613 คัน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แบรนด์เลกซัสเป็นที่ยอมรับของลูกค้ามากขึ้น จากการสัมผัสกับลูกค้าทุกคนมีความภาคภูมิใจ มองว่ารถมีคุณภาพดี ดีไซน์สวย มีความลักเซอรี่

เลกซัสเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย 29 ปี ด้วยการนำเสนออีก “นิยามหนึ่ง” คือการนำเสนอ รถญี่ปุ่นที่มีความหรูหรา ด้วยประสบการณ์ และสัมผัสใหม่ ๆ เลกซัสพยายามจะนำเสนอความแตกต่าง เป็นรถหรูรุ่นแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีไฟฟ้าไฮบริดมาใช้ ในปี 2007 (รุ่น RX 400h) จนปัจจุบัน ทั้ง 9 รุ่นของเรามีทั้งผสมไฟฟ้า และไฟฟ้าล้วน

ความต้องการที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ การนำเสนอสินค้าใหม่ทุกครั้งประสบความสำเร็จอย่างสูง ยอดจองมีเข้ามาสูง ทำให้บางรุ่นต้องใช้เวลานานนิดหนึ่ง

Q : ตอนนี้คนสนใจรถกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าสูงมาก มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ถ้าพูดถึง XEV (รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าของโตโยต้าทุกกลุ่มจะถูกเรียกรวมกันว่า XEV) การขยายไปสู่ความหลากหลายของ XEV เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

โตโยต้า เป็นเจ้าแรกที่ทำระบบปลั๊ก-อินไฮบริด ใน “พริอุส” เมื่อปี 1997เมื่อการเดินไปสู่สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เป็น carbon neutral ลดการเกิดคาร์บอนจากการที่โตโยต้ามุ่งเน้น beyond zero เรามีรถยนต์ที่หลากหลาย ทั้งอีวี 100% หรือระบบไฮโดรเจน ที่มีการทำออกมาขาย

คิดว่าทิศทางและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลต่อ XEV พยายามนำเสนอการก้าวไปสู่การเป็นสังคมของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน ซึ่งถือว่ามาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้มีการนำเสนอ โครงการพิเศษสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ราคาจับต้องได้

Q : คนอยากรู้คือ โตโยต้า พร้อมมีสินค้านำเสนอเมื่อไหร่

อยากเรียนว่าปีนี้เรามีนโยบายจะ “นำเข้า” มาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สินค้าพร้อมนำเสนอ คือ โตโยต้า bz4x รถบี-เอสยูวี ที่นอกจากเป็นรถไฟฟ้าแล้ว ยังมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ขับเคลื่อนสนุกสนาน ตอบสนองลูกค้าในหลาย ๆ รูปแบบ

ส่วนในอนาคต โตโยต้ามีแผนเตรียม “การผลิต” เพื่อตอบสนองความต้องการในหลากหลายรุ่น ซึ่งเรามั่นใจว่าด้วยประสบการณ์การทำรถ XEV มาแต่ต้น เรามีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านโรงงานประกอบ หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า โตโยต้าเรามีโรงงานประกอบแบตเตอรี่ (ชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า) มาไม่น้อยกว่า 5 ปี เรามีโรงงานไซเคิลแบตเตอรี่ เพราะฉะนั้น เรามีความพร้อมไปสู่การนำเสนอ การขาย การใช้งาน ในอนาคต

(เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา โตโยต้า ญี่ปุ่น ตั้งเป้าปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 รุ่น และมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 ถึง 3.5 ล้านคัน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 ล้านคัน)

Q : ต้องเตรียมความพร้อมอื่น ๆ อาทิ ดีลเลอร์ รวมทั้งอีโคซิสเต็ม

สำหรับโตโยต้า ถ้าเรามีรถไฟฟ้า ที่บ้านจะต้องมีที่ชาร์จ เมื่อลูกค้าเดินทางไปต่างจังหวัด บริการเราต้องพร้อมรองรับอย่างเต็มที่ บริการรถลูกค้าได้ทุกคัน รวมถึงดูไปถึงบรรดาพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการชาร์จ หรือธุรกิจในการลากจูงรถยนต์ กรณีที่รถมีปัญหา ต้องให้ความรู้ และเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ทั้งอีโคซิสเต็ม

สิ่งที่ผมอยากจะเรียนอันหนึ่งก็คือ ตัวสิ่งแวดล้อม ecology ของรถยนต์ไฟฟ้า 100% จะทำให้พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า ธุรกิจรอบข้าง เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เช่น ต้องคิดก่อนขับ จะไปไหน กำหนดเส้นทางให้แน่นอน กี่กิโลเมตร มีที่ชาร์จตรงไหน บริษัทที่ทำไฟแนนซ์รถยนต์ต้องพิจารณา จะบริหารมูลค่าของแบตเตอรี่และความเสี่ยงของตัวรถยนต์

โดยเฉพาะมูลค่าของแบตเตอรี่ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าการทำไฟแนนซ์ต้องคิดเรื่องพวกนี้ด้วยมุมมองใหม่ รวมถึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตต้องพิจารณาไปถึงรูปแบบ “การเช่าใช้แบตเตอรี่” ก็เป็นไปได้

เท่าที่ทราบบางประเทศก็ใช้แนวทางแบบนี้ เพื่อลดภาระและลดปัญหาในการ replace ตัวแบตเตอรี่ หรือแม้แต่การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ กระบวนการรองรับทั้งหมดของระบบไฟฟ้าต้องมีการเตรียมที่จะเปลี่ยนไปพร้อมกัน

“ผมเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นพันธกิจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ของโตโยต้าเท่านั้น ทุก ๆ บริษัทถ้าร่วมมือกัน การเดิน เราจะเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง”

Q : โดยสรุปก็คือมั่นใจว่าในเรื่องของรถอีวี โตโยต้าไม่แพ้ใครแน่นอน

มั่นใจครับ

Q : ความตื่นตัวในงานมอเตอร์โชว์ล่าสุด เสมือนการบ่งบอกถึงทิศทางตลาดรถยนต์ไทยในปีนี้อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดี บอกว่าตลาดมีความต้องการใช้รถยนต์และพร้อมจะฟื้นตัว ซึ่งต้องช่วยกันเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป