
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
อีกไม่กี่วันก็จะถึงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2566 โดยประเพณีสงกรานต์ปีนี้จะแตกต่างไปจากปีก่อน ๆ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่สามารถจัดงานแบบ “เต็มรูปแบบ” หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลง จนอาจเรียกได้ว่า โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นสำหรับประเทศไทยไปแล้ว
ความแตกต่างอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลไทยค่อนข้างจะตั้งความหวังไว้มากก็คือ ความพยายามที่จะนำประเพณีสงกรานต์ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อ UNESCO ซึ่งเสนอไปตั้งแต่ปี 2563 หรือผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว จากที่เคยประมาณการไว้ว่า UNESCO น่าจะใช้เวลาในการพิจารณาอย่างน้อย 1 ปี
- เปิดรายชื่อ ส.ว. ประกาศจุดยืน พร้อมโหวตพิธา นั่งนายกฯคนที่ 30 ?
- นักธุรกิจใหญ่ส่งจม.ถึงพิธา ชงสูตรตั้งรัฐบาล 344 เสียง เบรกค่าแรง 450 บาท
- เปิดรายชื่อ 250 ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. โหวต/ไม่โหวต พิธา นายกฯคนที่ 30
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เสนอให้ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย หรือ Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากความสำคัญที่ว่า ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่งดงาม ทรงคุณค่า สะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนและยังมีความโดดเด่นสอดคล้องตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
อีกทั้งยังรู้จักกันไปทั่วว่า ประเพณีสงกรานต์เป็นการขึ้นปีใหม่ไทย ประกอบกับกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2554
โดยกระทรวงวัฒนธรรมเองก็แสดงความมั่นใจมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ประเพณีสงกรานต์ มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นความสอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ “นิยาม” ไว้ในมาตรา 2 อนุสัญญาฯ
เพราะการเล่นสงกรานต์เป็นการแสดงออกทาง “มุขปาฐะ” ในการปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี-เทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม กับการขึ้นบัญชีประเพณีสงกรานต์ ยังสอดคล้องกับเรื่องที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่ายินดี แม้เวลาในการพิจารณาการขึ้นทะเบียนนับจากวันยื่นเรื่องจะผ่านมาแล้วถึง 3 ปี โดยล่าสุด UNESCO ได้อนุมัติให้ประเพณีสงกรานต์ไทย เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น tentative list เพื่อพิจารณาในที่ประชุม ให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย
หลังจากก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาแล้ว3 หัวข้อ ได้แก่ โขน ขึ้นทะเบียนปี 2561, นวดไทยปี 2562 และรำโนราห์ภาคใต้ปี 2564
หรือการนำประเพณีสงกรานต์เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น tentative list ของ UNESCO นั้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 2566
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้พยายามผลักดันให้ ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของ UNESCO ด้วยการจัดงาน “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” เป็น ธีม สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้
โดยขอให้ภาครัฐ-เอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ที่มุ่งเน้นสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงาม ในส่วนของการจัดงานในภูมิภาคให้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงามและเหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน
อาทิ การทำความสะอาดบ้านเรือน วัด-ศาสนสถาน การทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป การรดน้ำผู้สูงอายุเพื่อขอพร การแต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นพึงดำเนินการ แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่ต้องควบคู่ไปกับการจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ อย่างน้อยเมื่อประชาชนคนไทยได้ผ่อนคลายกับความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทยปีนี้ จะมีส่วนร่วมอย่างสำคัญของคนไทยทั้งประเทศที่จะช่วยกันผลักดันประเพณีสงกรานต์ไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติให้สำเร็จอีกด้วย