วิถีผู้นำ “คมเขี้ยว สตาร์ตอัพ”

คมสันต์ ลี
คมสันต์ ลี
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

“คมสันต์ ลี” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ แฟลชกรุ๊ป เพิ่งออกพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรกชื่อ “คมเขี้ยว Startup” บอกเล่าประสบการณ์ในการสร้างสตาร์ตอัพ ตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง บุกเบิก ไปจนถึงระดับ “ยูนิคอร์น”

เมื่อพลิกไปหน้าแรกจะพบข้อความสั้น ๆ ระบุว่า “จงเชื่อแล้วจะเห็น จงหาแล้วจะพบ” สะท้อนแนวคิด ตัวตน และความเป็น “ผู้นำ” สไตล์ “คมสันต์” ได้เป็นอย่างดี

เขาบอกว่า “คนส่วนใหญ่มักจะต้องเห็นก่อนแล้วจึงเชื่อ แต่สำหรับเขา “ผู้นำ ต้องมีความเชื่อก่อน แล้วจึงจะเห็น แน่นอนว่านอกจากความเชื่อแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การค้นหา หรือลงมือทำจึงจะเกิดผลดังที่เราเชื่อ หรือตั้งใจไว้”

และว่า หลายคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ

“จริง ๆ แล้วผู้นำอาจไม่ใช่คนที่มีอำนาจมากที่สุด อาจไม่ใช่คนที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุด แต่ผู้นำคือคนที่เสียสละมากที่สุด ผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะเสียสละ”

ถ้าผู้นำไม่เสียสละ จะไม่มีผู้ตามคนไหนเคารพ

ADVERTISMENT

คุณสมบัติของผู้นำที่ดี คือ “ใจกล้า ใจกว้าง ใจนิ่ง”

ต้องเป็นผู้ที่ “กล้า” แบกรับผลของการตัดสินใจ

ADVERTISMENT

“ผู้นำต้องเป็นผู้ที่ไม่หาประโยชน์จากทีมงาน แต่เป็นผู้ให้แก่ทีมงาน ตอนที่เรายังไม่ได้ประสบความสำเร็จ หรือยังไม่ได้เป็นผู้นำที่แท้จริง เวลาของเราคือการพัฒนาตนเอง แต่เมื่อเราเป็นผู้นำแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว เวลาทั้งหมดของเราคือการพัฒนาเพื่อนร่วมงานของเราให้เขาเติบโต”

เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ที่รู้จักกันจะรู้ว่า คมสันต์มักแนะนำตนเองกับใคร ๆ เสมอว่า ให้เรียกเขาว่า “ตี๋เล็ก”

“ผมเป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาจากดอยวาวี จบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เดินทางลงดอยมาตามหาฝัน และจะด้วยโชคหรือความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ทำให้ได้มาเจอคนที่มาเติมเต็มในส่วนที่ขาด และร่วมมือกันทำฝันของพวกเราให้เป็นจริง”

ปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา บนเวทีสัมมนาครั้งแรกของปี 2566 New Era Economy ของประชาชาติธุรกิจ “คมสันต์” เป็น 1 ใน 6 วิทยากรที่ขึ้นเวทีมาบอกเล่าประสบการณ์ในการก่อร่างสร้างอาณาจักร “แฟลชกรุ๊ป” ในหัวข้อ “Entrepreneur Spirit” บนเวที เขาบอกว่า ไม่ปลื้มกับคำว่า “ยูนิคอร์น” สักเท่าไร เพราะทำให้คนในองค์กร “ประมาท” และคิดว่า “สำเร็จแล้ว” ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่

“คนที่คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จแล้วจะทำเหมือนเป็นผู้ชนะ ไม่ระมัดระวัง ไม่ใส่ใจในรายละเอียด ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเราไม่ได้แตกต่างไปจากวันแรกที่ยังไม่ได้เป็นยูนิคอร์น เรายังเจอความท้าทาย ความเสี่ยง และอาจเจ๊งได้เหมือนเดิม”

ช่วงที่บุกเบิกธุรกิจ “คมสันต์” เรียกว่า “ช่วงอันธพาล” เพราะคิดอย่างเดียวว่า ทำยังไงองค์กรจะไม่เจ๊งมองเห็นแสงอาทิตย์ในวันรุ่งขึ้นได้ เป็นช่วงที่ทั้งสนุก และโหดร้าย แต่ก็ผ่านมาได้ เข้าสู่ช่วงที่สอง “ช่วงวางกฎระเบียบ กฎเกณฑ์” เพื่อเดินไปสู่ช่วงที่ 3 สร้าง “วัฒนธรรมองค์กร และความเป็นมืออาชีพ”

“ช่วงเริ่มต้นเป็นช่วงอันธพาล เพราะโอกาสไม่ได้มีเสมอ ถ้าโอกาสมา ต้องใช้ทุกวิถีทางให้โอกาสอยู่กับเรานานที่สุด ช่วงนั้นใช้เวลา 2 ปี ผมไม่ได้อยากให้ทุกคนคิดว่าการทำงานหนักคุ้มหรือไม่คุ้มค่า หรือเป็นประเด็น แต่แค่อยากให้คิดว่า ถ้าเป็นโอกาสที่เราอยากได้มันมาก ๆ คุณต้องใช้ทุกวิถีทางจริง ๆ”

โอกาสนี้อาจเกิดแค่ครั้งเดียว หรือสองครั้งในชีวิตที่เหลือถ้าไม่รักษาโอกาส และทำมันอย่างเต็มที่ อาจไม่มีอีก

“ช่วงนั้น ผมทำงานหนักมาก ๆ ถึงกับฉี่เป็นเลือด ผมว่ามันคุ้มค่ากับชีวิตผมสักครั้ง”

นี่คือแบบชีวิตที่เขาเลือก “ผมเชื่อว่า ผมจะเวิร์กไลฟ์บาลานซ์ได้ก็ต่อเมื่อ ผมเลือกได้ แต่วันนั้นผมเป็นแค่เด็กชาวเขาคนหนึ่งที่ลงมาจากบนดอย”

อยากเจาะลึกเคล็ดวิชา 101 ในการสร้างสตาร์ตอัพ และเส้นทางกว่าจะเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวแรกของไทย ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ลองไปหา “คมเขี้ยว Startup” มาอ่าน หรือจะค้นอากูเสิร์ชช่อง ยูทูบ “ประชาชาติธุรกิจ” ดูคลิปไปด้วยก็ได้ ที่ https://m.youtube.com/watch?v=tqS_TEA_l90