แฟลชกรุ๊ป เตือนรับมือ “ดิสรัปต์ชั่น” ในธุรกิจจากทุกทิศทาง พร้อมถอดบทเรียนแฟลชกรุ๊ปหันกลับโฟกัสภายในองค์กร ผสานจิตวิญญาณผู้ประกอบการ-ความเป็นมืออาชีพ ด้วยการสร้างวัฒนธรรรมองค์กรร่วมกัน
วันที่ 23 มีนาคม 2566 นายคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช หนึ่งในวิทยากรในงานสัมมนา “New Era Economy” #อนาคตประเทศไทย จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ในหัวข้อเรื่อง “Entrepreneur Spirit” โดยพูดถึงทิศทางของธุรกิจปัจจุบันเผชิญการเปลี่ยนแปลงหรือดิสรัปต์ชั่นที่น่ากลัวกว่าที่ผ่านมา
- ชง “วาระด่วน” รัฐบาลใหม่ ทุนจีนผวารถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ
- หนี้ผิดนัด 6.6 แสนล้าน ธปท. สั่งแบงก์เกาะติด-เร่งแก้เชิงรุก
- ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท อะควา แบมบูโปรดักส์ จำกัด
เพราะไม่มีทางรู้ได้ว่าใครหรืออะไรคือสิ่งที่จะสร้างผลกระทบกับกิจการ และยังเตือนให้ไม่ประมาทพร้อมรับมืออยู่เสมอ แม้แต่แฟลชเองที่เป็นบริษัทขนส่งหรือเทคโนโลยีก็อาจจะเจอการดิสรัปต์ได้จากทุกทาง
โดย นายคมสันต์ยกตัวอย่างว่า หากมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่สมบูรณ์แบบ คนก็ไม่จำเป็นต้องซื้อของออนไลน์เพราะพิมพ์เองได้แล้ว คนจะยังต้องการบริษัทขนส่งอย่างแฟลชไปทำไม หรือการที่มีระบบโดรน รถยนต์ไร้คนขับ หรือระบบรางที่ดี คนก็ไม่จำเป็นต้องใช้บริการขนส่งพัสดุอย่างแฟลช
“การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจทุกวันนี้น่ากลัว จนถึงขั้นที่เราไม่รู้ว่าคนที่ ‘ดิสรัปต์’ เราจริง ๆ ไม่ใช่คนที่เรามองว่าเป็นคู่แข่งในวันนี้ด้วยซ้ำ คุณจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่ล้มคุณได้จริง ๆ แล้วคือใคร แล้วมาจากข้างไหนบ้าง”
“หลายคนได้เตือนถึงอนาคต หรือเล่านิทานของหมาป่ากำลังจะมา มากจนทำให้คนไม่เชื่ออีกต่อไป ผมขอพูดทุกให้ทุกท่านฟังอีกครั้งหนึ่งว่า ‘หมาป่ามาแน่ ๆ’ ถ้าวันที่หมาป่ามานี้ ผมว่าน้อยคนที่จะอยู่รอด”
“หมาป่า” ในมุมมองของของนายคมสันต์ มี 2 อย่างคือ 1) AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะทำให้หลายสิ่งที่เคยเรื่องทางกายภาพเปลี่ยนไป 2) เทคโนโลยีข้อมูลที่เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกและแก้ไขขั้นตอนบางอย่างได้ เช่น การใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อ ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับสิ่งเหล่านี้ให้พร้อม
นอกจากนี้ นายคมสันต์ยังได้อธิบายเรื่อง “Entrepreneur Spirit” ผ่านมุมมองการเติบโตของแฟลชกรุ๊ป เริ่มต้นจากวันที่แฟลชมีพนักงานหลักร้อยคนจนถึงยุคที่มีพนักงานกว่า 60,000 คน พร้อมขยายกิจการไปทั่วประเทศไทย และกระจายไปสู่ต่างประเทศ
จิตวิญญาณการเติบโตอย่าง “อันธพาล”
Entrepreneur Spirit หรือจิตวิญญาณเจ้าของกิจการในวันที่แฟลชมีพนักงานหลักร้อย มีความจำเป็นที่แฟลชต้อง “โตแบบอันธพาล” ที่จะไม่เลือกวิธีการเพื่อจะไม่พลาดโอกาสใหม่ ๆ และอีกอย่างคือการ “เชื่อใจ” ซึ่งทั้งการไม่เลือกวิธีการทำงานและการเชื่อใจพนักงานทั้งหมดเพื่อให้กิจการ “ไม่เจ๊ง”
“ความเชื่อใจถ้าเชื่อก็ต้องเชื่อเต็มร้อย ถ้าไม่เชื่อก็ต้องไม่เชื่อตั้งแต่วันแรก ถ้าร่วมงานไปแล้วไม่เชื่อใจแปลว่าคุณมีต้นทุนที่แพงมากกับการไม่เชื่อ ถ้าคุณเชื่อเพื่อนร่วมงานคุณว่าเขารับผิดชอบเรื่องนี้ ได้คุณต้องเชื่ออย่างหมดใจเลย ให้เขาไปทำสิ่งนั้นเพื่อเร่งให้กิจการเติบโต เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณสงสัยว่าเขาทำได้ดีหรือเปล่าแล้วคุณไม่เชื่อเขาต้นทุนจะโคตรแพง เพราะกิจการคุณเล็กนิดเดียว”
จิตวิญาณผู้ประกอบการผสานความเป็นมืออาชีพ ในวันที่ธุรกิจเติบโต
นายคมสันต์กล่าวว่า เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น โดยเฉพาะแฟลชที่เติบโตจากพนักงานไม่กี่ร้อย จนเป็น 60,000 คน และขยายธุรกิจไปทั่วประเทศ องค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนสู่ยุคใหม่ มุมมองของความเป็นผู้ประกอบการก็จะต้องเคลื่อนไปสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่การเป็นมืออาชีพก็ต้องมีวิธีคิดและวัฒนธรรมที่คิดถึงกิจการเสมือเป็นผู้ประกอบการด้วย
เมื่อบริษัทขยายตัวมากขึ้นจากไม่กี่ร้อยคนเป็น 5,000 คน ก็เจอปัญหาว่าหลายคนอาศัยความเชื่อใจเหล่านั้นหันมาทำร้ายองค์กรด้วยการคอร์รัปชั่น จากเดิมที่ได้พบปะพูดคุยหารือกับพนักงานอย่างทั่วถึงเดือนละครั้ง ตอนนี้แฟลชมีพนักงาน 60,000 คน และธุรกิจที่ขยายไปทั่วอาเซียน บางคนทำงานด้วยกันสามปีก็ยังไม่เคยเจอหน้ากัน ดังนั้นเจ้าของกิจการไม่สามารถคุมได้ด้วยผู้ประกอบการอีกแล้ว
ดังนั้นจึงเข้าสู่ยุคที่สองที่ต้องหันมาเริ่มวางกฎระเบียบและการตรวจสอบภายในมากยิ่งขึ้น ขณะที่ต้องพึ่งพานักบริหารมืออาชีพมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับภายในองค์กร กับ “Culture”
นายคมสันต์ยกตัวอย่างที่ แฟลชกรุ๊ป พบเจอเมื่อขยายกิจการไปยังประเทศฟิลิปปินส์ นักบริหารมืออาชีพตั้งงบลงทุนไว้ที่ 3 พันล้านบาท ในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อทำการลงทุนไปแล้วพบว่าควรใช้แค่ 2.5 พันล้านบาท
หากใช้ “จิตวิญญาณผู้ประกอบการ ตรงไหนลดได้ บาทหนึ่งเราก็อยากลดทันที หรือที่ไหนที่มันเปลี่ยนแปลงได้ หรือตัดทิ้งได้ก็ตัดทิ้งทันที”
“แต่ซีอีโอมืออาชีพก็จะต้องใช้ให้หมดทั้ง 3 พัน เพราะความเป็นมืออาชีพของเขาคือทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เราตกลงกันแล้ว โดยที่ระหว่างทางมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทำตามแผนเดิม ด้วยธุรกิจที่ขยายตัวขึ้นไปผมว่าจิตวิญญาณผู้ประกอบการ สักวันหนึ่งต้องทำเป็นมืออาชีพก่อน แต่ในความเป็นมืออาชีพนั้น ก็ต้องใส่จิตวิญญาณความเป็นเจ้าของด้วย”
ดังนั้นส่วนที่สำคัญในการประสาน “จิตวิญญาณผู้ประกอบการ” และ “ความเป็นนักบริหารมืออาชีพ” ต้องพึ่งพาการสร้าง “วัฒนธรรม” ภายในให้แข็งแกร่ง ทั้งการเพิ่มกฎกติกามากขึ้นในการตรวจสอบ และเป็นข้อตกลงร่วมกันของผู้คนในบริษัท
“คำว่าวัฒนธรรมองค์กรดูเหมือนล่องลอยมาก แต่มันออกมาเป็นการกระทำได้จริง วิธีการอยู่ร่วมกันของพวกเรา จากกฎกติกาที่เราร่วมกันสร้างขึ้น แล้วทำให้เรามีข้อกำหนดพื้นฐานหรือกฎหมายพื้นฐานของครอบครัวนี้ ว่าเราต้องการคนแบบไหนทำงานแบบไหน และได้ผลแบบไหน มาอยู่ด้วยกันวัฒนธรรมที่เราต้องการสร้างมัน แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเพิ่มความเป็นเจ้าของกิจการ (Entrepreneurship) เข้าไปในนั้นด้วย มันก็จะมีทั้งความเป็นมืออาชีพ และความเจ้าของ และวัฒนธรรมครบที่เดียว”
- กวีวุฒิ ส่อง 3 new era ตอบโจทย์ “ธุรกิจ-คน” รุ่นอนาคต
- ปตท. ชูธุรกิจพลังงานอนาคต-บียอนด์เอ็นเนอร์จี้ New Era ฝ่าความท้าทาย
- ท่องเที่ยวสุขภาพ ประตูบานใหม่เศรษฐกิจไทย
- บิ๊กศุภาลัยชี้อินฟราสตรักเจอร์-ต่างชาติ-ต่างจังหวัด ดันอสังหาฯปีนี้เติบโตได้ดี
- WHA ชี้ New Era ประเทศไทย ต้องมี 3 ส่วน เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม