ปตท. ชูธุรกิจพลังงานอนาคต-บียอนด์เอ็นเนอร์จี้ New Era ฝ่าความท้าทาย

ซีอีโอ ปตท.แนะแนวทางใหม่ฝ่าความท้าทายโลก ปรับวิสัยทัศน์ ชูธุรกิจพลังงานอนาคต “อีวี แบตเตอรี่-พลังงานทดแทน-ไฮโดรเจน” พร้อมกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่พลังงาน (Beyond) ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งให้ความสำคัญ “คน-ทุน-เทค” สร้างความสำเร็จองค์กรด้วย 2 คีย์เวิร์ด “Passion & Purpose”

วันที่ 23 มีนาคม 2566 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “New Era Economy อนาคตประเทศไทย” ซึ่งจัดในหัวข้อเรื่อง New Way New Industry ว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ 6 ด้าน คือ เรื่องปัญหาจีโอโพลิติก กับดักรายได้ปานกลาง การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก

ล่าสุดผลกระทบจากกรณีสถาบันการเงินในสหรัฐล้มละลาย เป็นผลต่อเนื่องจากหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายการเงิน (QE) มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จนถึงวิกฤตโควิดในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อสหรัฐลุกขึ้นมาดูดสภาพคล่องกลับด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในระยะสั้นเหมือนหยุดเลือดได้

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่ (Start Up) ที่เคยเป็นยุคทองมา 3-5 ปี ได้รับผลกระทบจากการที่สภาพคล่องในโลกหายไป เป็นความท้าทายสตาร์ตอัพ

สำหรับทิศทางประเทศไทยมุ่งสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ขณะที่ฐานอุตสาหกรรมเดิมของไทยต้องมีการยกระดับโลกจะมีแนวโน้มการใช้พลังงานมุ่งสู่พลังงานสะอาด โดยปัจจุบันเริ่มมีการออกกฎหมายการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลลดลงเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Transition Fuel) เต็มรูปแบบมากขึ้น ทั้งถ่านหินที่คาดว่าจะจะมีการใช้ในปริมาณสูงสุด (พีก) ในปี 2025 น้ำมันจะมีการการใช้ในปริมาณสูงสุด (พีก) ช่วงปี 2030-35 และก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าฟอสซิลอื่นจะทยอยลดลงตามมา

ทาง ปตท.จึงเดินหน้าลงทุนตามวิสัยทัศน์ใหม่ เพื่อขับเคลื่อน New Economy ของประเทศโดยได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์สู่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ซึ่ง ปตท. มองว่าธุรกิจที่มีความจำเป็นและมีโอกาสเติบโตได้ คือ

ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน/แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮโดรเจน

“วิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. มุ่งตอบโจทย์การเติบโตสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน อย่างการลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่เต็มตัว รุกอุปกรณ์การแพทย์ ผลิตยารักษามะเร็ง หุ่นยนต์ AI คลาวด์เซอร์วิส และโดรน ซึ่งด้าน Robotic และ AI ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท พีทีที เรส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการดิจิทัล หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและเชื่อมโยงสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน”

ดังนั้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวมุ่งสู่การใช้พลังงานที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในธุรกิจการค้าและการลงทุนของโลก จากปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 30,000-40,000 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นพลังงานทดแทนรวม 4,000 เมกะวัตต์ แต่ภายใต้การประกาศดำเนินนโยนบาย Net Zero ในปี 2065 กำหนดให้ไทยมีสัดส่วนพลังงานทดแทน 30% ภายในปี 2050 คิดเป็นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนต้องเพิ่มขึ้นถึงกว่า 20,000 เมกะวัตต์ ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย

ซึ่งประเทศไทยเป็นเมืองร้อน แต่มีข้อจำกัดเรื่องแสงแดด เพราะไทยมีเมฆเยอะ ทำให้ไม่คอยได้เปรียบด้านพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่น ดังนั้นจึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในทะเลที่มีพื้นที่มากกว่าน้ำจืด แต่มีจุดอ่อนเรื่องคลื่นลมแรงและการกัดกร่อน ปตท.จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปิโตรเคมีมาใช้เป็นวัสดุในการทำทุ่นลอยน้ำให้มีความยืดหยุ่นและทนทาน

“ปตท.ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 ทั้งจากการลงทุนในและต่างประเทศที่ต้องมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น”

ในส่วนของ EV Value Chain ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์ 43 ล้านคัน เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 30,000 กว่าคัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน เห็นได้จากปี 2021-2022 ตลาด EV โตเกือบ 200% โดยไทยยังมีศักยภาพในการเป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในติดอันดับ 9 ของโลก

“ส่วนตัวมองว่าประเทศไทยสามารถเป็นฐานการผลิตตลาดรถยนต์สันดาปภายในและฐานการผลิตรถ EV ได้พร้อมกัน ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกธุรกิจ ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเดิมด้วยแนวคิด Last man standing คือ ทำอย่างไรให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สุดท้ายของโลก คู่ขนานกับการส่งเสริมรถ EV ที่มี value chain สูงมาก ทั้งการผลิตแบตเตอรี่ การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถ EV โดย ปตท.ตั้งเป้าหมายสิ้นปีนี้จะให้มีรถ EV วิ่งได้ทั่วประเทศไทย”

ธุรกิจ Life Science ที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจยา (Pharmaceutical) ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical device) ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Nutrition) อีกทั้งยังมีธุรกิจอื่น ๆ ได้แก่ High Value Business ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี, Mobility & Lifestyle, Logistics & Infrastructure จะเป็นพื้นฐานให้กับประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปอีกขั้น และ AI, Robotics digitalization เป็นต้น

ส่วนธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่พลังงาน (Beyond) ได้แก่ ธุรกิจ life science ที่ประกอบด้วย ยา (Pharmaceutical) อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical device) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Nutrition) และอื่น ๆ ได้แก่ High Value Business ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจ mobility & lifestyle, ธุรกิจ Logistics & Infrastructure, ธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization

ล้วนเป็นพื้นฐานพัฒนาประเทศ ที่มีส่วนในการช่วยสร้างสรรค์และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม ทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์จากวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากระบบการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ

ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงานไปด้วยกัน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากอินโนบิก, น้ำเชื่อมหญ้าหวาน Natural Nxt, อาหารโปรตีนจากพืช NRPT, ไอศกรีมกะทิสดแท้ Kathisod Station และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจาก MORE

“การทำสิ่งที่ท้าทายที่ประเทศเราและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้น สิ่งสำคัญมีอยู่ 3 อย่าง คือ เทค ทุน และคน แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่กล่าวข้างต้นเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่มี Passion & Purpose คือ มี Passion ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง มี Purpose วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เราจึงจะขับเคลื่อนประเทศไทยและทุกชีวิตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”